หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีทั่วโลก จากนั้นไม่นาน Anthony Albanese ก็ประกาศกร้าวว่าการกระทำแบบนี้ไม่ใช่ประเทศมหามิตรเขาทำกัน แม้จะไม่พอใจ แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าจะใช้มาตรการใดมาโต้ตอบทรัมป์
ภาษีที่ออสเตรเลียถูกเรียกเก็บนั้น คืออัตรา 10% ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้า แม้ออสเตรเลียจะไม่ติดโผประเทศที่สหรัฐฯ เรียกภาษีโต้กลับ แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้ออสเตรเลียอยู่ดี
ทรัมป์อ้างถึงเหตุผลที่เขาต้องขึ้นภาษีโต้กลับ (ที่มากเกิน 10%) และภาษีนำเข้ารายประเทศ (ที่อัตรา 10%) ว่า เขาต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนสหรัฐฯ ต้องการดึงอำนาจในการผลิตสินค้าด้วยตัวเองกลับสู่อเมริกาเสียที
แม้ทรัมป์จะเรียกอัตราภาษีที่ต่ำขนาดนี้ แต่เขาก็พูดถึงออสเตรเลียด้วยว่า “ออสเตรเลียเป็นประเทศคนดี แต่ว่า พวกเขาแบนเนื้อวัวอเมริกันน่ะ ขณะเดียวกัน อเมริกาก็นำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลียในปีที่แล้วตั้ง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐแน่ะ” (ประมาณ 1 แสนล้านบาท)
“พวกออสเตรเลียอะนะ ไม่อยากได้เนื้อวัวจากพวกเราเพราะอะไร ก็เพราะเขาไม่อยากให้มันกระทบกับเกษตรกรของพวกเขาไง ผมก็ไม่ได้อยากตำหนิติเตียนอะไรประเทศนี้หรอก แต่ว่า .. เราก็ทำแบบเดียวกับที่เขาทำตอนนี้ไง เริ่มเลย นับตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้” (ทรัมป์ประกาศในวันเดียวกับที่บอกให้โลกรู้ว่าจะขึ้นภาษีทั้งโลกน่ะแหล่ะ)
ออสเตรเลียคือซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดที่จัดหาเนื้อวัวให้กับสหรัฐอเมริกา และจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวสดจากอเมริกามาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว โดยอ้างข้อกังวลเรื่องโรควัวบ้า (BSE) ปี 2018 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะเริ่มอนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อวัว ผ่านการอบด้วยความร้อนและเก็บไว้ได้นานได้ ไม่ใช่แค่เนื้อวัว แต่เนื้อหมูแช่เย็นหรือเนื้อหมูสดก็ถูกพ่วงด้วย เพราะออสเตรเลียกังวลเรื่องโรคที่มาจากสัตว์มาก
อย่างไรก็ดี นายกฯ ออสเตรเลียบอกว่ามีความตกลงทางการค้าเสรีกับสหรัฐฯ อยู่ (FTA) ซึ่งทำให้ไม่ได้เรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากสหรัฐอเมริกาเลย
Albanese บอก การเรียกเก็บภาษีที่ทรัมป์ทำอยู่เนี่ย ไม่ได้มีตรรกะเหตุผลอะไรรองรับเลย เขาแค่อยากจะต่อต้านความสัมพันธ์ที่เป็นหุ้นส่วนกันมาอย่างยาวนานของทั้งสองประเทศก็แค่นั้น นี่ไม่ใช่การกระทำที่เพื่อนเขาทำกัน ยิ่งสหรัฐฯ ทำแบบนี้ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน ที่สำคัญ มันทำให้ครัวเรือนอเมริกันนั่นแหละที่ต้องแบกรับต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้นด้วย
ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียส่งออกเนื้อวัวไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภัยแล้งก็ส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ของสหรัฐฯ เช่นกัน
อย่างไรก็ดี Albanese บอก ออสเตรเลียจะไม่ใช้มาตรการภาษีโต้กลับสหรัฐ แต่จะหาทางเจรจาเพื่อขอข้อยกเว้น แต่ออสเตรเลียจะไม่ยอมจำนนต่อเรื่องการปกป้องความปลอดภัยทางชีวภาพแน่นอน
ที่มา – Nikkei
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา