หลายคนอาจมองว่าการทำธุรกิจ Home Shopping มันง่าย เพราะแค่มีสินค้า, ไปซื้อเวลาฟรีทีวี และมีทีมรับโทรศัพท์-ส่งสินค้า ก็รันธุรกิจได้ แต่จริงๆ แล้วมันมีเรื่องที่ลึกซึ้งกว่านั้น และ O Shopping ก็คืออีกตัวอย่างที่ดี
5 ปีกับการเข้ามาทำตลาดในไทย
กลุ่ม CJ จากประเทศเกาหลี เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจมีเดียที่นั่น และเห็นโอกาสในอุตสาหกรรม Home Shopping ในไทย จึงตัดสินใจร่วมกับกลุ่ม GMM เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อเปิดช่องภายใต้ชื่อ O Shopping ขึ้นมา และกลายเป็นช่องที่เติบโตอย่างรวดเร็วในสายตาของคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วยการนำเสนอที่แตกต่าง
ซอง นักเจ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ช้อปปิ้ง จำกัด เจ้าของ O Shopping เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาด Home Shopping ในหลายทิศทาง ทั้งเรื่องรูปแบบนำเสนอที่เปลี่ยนไป และกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่แค่หน้าจอโทรทัศน์
“ปีที่แล้วถือเป็นปีที่แย่ที่สุดสำหรับเรา และวงการ Home Shopping เลย เพราะแทบไม่เติบโต แม้ช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อนยอดขายจะค่อนข้างดี และเป็นไปตามเป้า แต่พอเข้า 3 เดือนสุดท้ายที่เราออกอากาศไปไม่ได้ 1 เดือนเต็ม และ Mood ผู้บริโภค 2 เดือนสุดท้ายก็ยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้มันกลายเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด”
เข้าสู่ปีที่ 6 ด้วยสินค้าที่แตกต่าง
สำหรับปี 2559 ทาง O Shopping ตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 10% แต่สุดท้ายไม่เติบโต และปีนี้ก็เป็นอีกปีที่บริษัทพลาดเป้าจากการเติบโต 15% เป็นเหลือแค่ 10% คิดเป็นรายได้ราว 1,700 ล้านบาท เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย และรูปแบบการขาย รวมถึงสินค้าทำได้ไม่เต็มที่นัก
“คงไม่ใช่แค่เรา เพราะเพื่อนๆ ร่วมอุตสาหกรรมเต็มที่ก็คงเติบโตแค่ 10% เหมือนกัน เนื่องจากตัวสินค้าแฟชั่นเราก็ขายได้แต่โทนสีดำ และการนำเสนอขายสินค้าก็คงทำให้มันมีสีสันมากไม่ได้ ซึ่งตัวเราเองนั้นยอดขายสินค้ากลุ่ม Health&Sport ก็หัวตัว 30-50% เมื่อเทียบกับปีก่อนเลยทีเดียว”
ส่วนในปี 2561 หรือปีที่ 6 ในการทำธุรกิจของบริษัท คาดว่าทุกอย่างน่าจะกลับมาสู่สภาพปกติแล้ว โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภค แต่เรื่องเศรษฐกิจนั้นคงต้องลุ้นกันต่อไป ซึ่งบริษัทจะชูเรื่องความแตกต่าง เช่นการนำสินค้า SME ท้องถิ่นมาจำหน่ายมากขึ้น รวมถึงสินค้านำเข้าที่เป็นหัวใจบริษัทมากระตุ้นยอดเช่นเดิม
ปีหน้าแตะ 2,000 ล้านบาท แม้แข่งเดือด
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตในปี 2561 ไว้ที่ 10% เช่นเดิม โดยน่าจะปิดรายได้ที่ 2,000 ล้านบาทได้ และรักษาตำแหน่งหนึ่งในผู้นำในธุรกิจ Home Shopping ในประเทศไทยที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องราคา และการนำเสนอ รวมถึงจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาในตลาดอีกด้วย
“เท่าที่ทราบคือปีหน้าจะมีผู้เล่นเข้ามาอีกหนึ่งรายที่ทำช่อง Home Shopping 24 ชม. ดังนั้นการแข่งขันของตลาดนี้ที่มีมูลค่าราว 10,600 ล้านบาทน่าจะเดือด ยิ่งปีหน้ากระทะ Korea King จะกลับมาเต็มรูปแบบ ก็คงเห็นการแข่งขันในตลาดนี้ที่สนุดกว่าเดิม แน่ๆ”
ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาด Home Shopping ที่มีช่องฉายตลอด 24 ชม. มีทั้งหมด 7 รายคือ TV Direct, TVDmomo, O Shopping, True Shopping, Shop Channel, Tiger Shopping (ผู้จำหน่ายชุดกระชับสัดส่วน Onami), และ High Shopping (กลุ่มอินทัชร่วมทุนกับฮุนได)
สรุป
การแข่งขันของ Home Shopping นั้นยังดุเดือด และเติบโตอย่างเงียบๆ ในทุกปี ดังนั้นคงไม่แปลกที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำธุรกิจนี้ แต่เมื่อผู้เล่นทุกคนรู้แล้วว่า จะผูกกับช่องทีวีอย่างเดียวก็คงไม่ได้ จึงเห็นการขยายตัวไปที่ Ecommerce มากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคได้ด้วย
ภาพจาก // เว็บไซต์, YouTube และ Facebook ของ O Shopping
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา