ในบรรดา e-Marketplace ชื่อดังในแถบอาเซียนและในประเทศไทย หนึ่งในนั้นจะมีชื่อของ ZALORA เว็บขายสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีอยู่ด้วย ยอดจำหน่ายในระยะ 2-3 ปีมานี้ทำได้ดีจนกระทั่งเซ็นทรัลออนไลน์ ตัดสินใจซื้อ ZOLORA มาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีกของตัวเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นแผนในการขยายธุรกิจเข้าสู่โลก e-Commerce นั่นเอง
อาลี เอ. แฟนซี CEO ของ บริษัท ซาโลร่า (ไทยแลนด์) ได้ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจของตลาดสินค้าแฟชั่นในประเทศไทย และจุดแข็งของ ZALORA ในการสร้างความแตกต่างและทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับตลาดสินค้าแฟชั่นของไทย มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2% ของ GDP ถือเป็นตลาดที่มูลค่าสูง และออนไลน์มีโอกาสสูงมากในการทำตลาด เพราะสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย รองเท้า เป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง ตัดสินใจได้รวดเร็ว จัดส่งถึงมือผู้ซื้อได้ทันที และถ้ามีถูกใจก็มีโอกาสกลับมาซื้อซ้ำได้ไม่ยาก
หัวใจสำคัญคือ คว้าใจผู้ซื้อมาไว้ให้ได้ ดังนั้น ZALORA จึงพัฒนาบริการให้สามารถส่งสินค้าได้ภายใน Next Day หรือวันถัดไป และหากอยู่ใน กทม. อาจจะเป็น Same Day เลยก็ได้ ส่วนต่อมาคือ สามารถเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าได้ที่ เซเว่น อีเลฟเว่น เพราะสิ่งที่ผู้ซื้อกังวลคือ ได้ของไม่ตรงตามคำสั่งซื้อ หรือของมาผิดไซส์ ใส่ไม่ได้ ZALORA ยินดีมาเปลี่ยนให้โดยเร็ว และไม่คิดค่าบริการเพิ่ม และยินดีรับชำระเงินสดเมื่อส่งสินค้า Cash on Delivery หรือจะใช้บัตรเครดิตก็ได้ ส่วนนี้ทำให้ลูกค้าเชื่อใจ ประทับใจ และเลือกจะกลับมาใช้บริการอีก
ปัจจุบัน ZALORA มีลูกค้า 375,000 ราย/เดือน มียอดการสั่งซื้อสินค้า 930,000 รายการ/เดือน และมียอดผู้เข้าชมสินค้า ซึ่งเปรียบเสมือนคนเดินห้างฯ 2-3 ล้านราย/เดือน มีสินค้าให้เลือกดูได้กว่า 80,000 SKU นี่คือตัวเลขที่พิสูจน์ถึงความนิยมที่ ZALORA สร้างขึ้นมาในระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่าตัวสินค้ามีทั้งแบรนด์ใหญ่ระดับโลก แต่ก็มีแบรนด์ในท้องถิ่น หรือแบรนด์ไทยจำหน่าย รวมถึงแบรนด์ของ ZALORA เองด้วย โดยมีสัดส่วนแบรนด์ใหญ่ 46% แบรนด์ท้องถิ่น 33% และแบรนด์ ZALORA 21% โดยมีแผนที่จะขยายสัดส่วนแบรนด์ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือแบรนด์ท้องถิ่นในการกระจายสินค้า โดยทั้งหมดนี้เว็บ ZALORA ตั้งอยู่บนความน่าเชื่อถือ ใช้งานง่ายสะดวก และสร้างความน่าสนใจ โดยสินค้าใหม่ต้องมีเสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการทำการตลาด
และยังมี 5 ความร่วมมือระหว่าง ZALORA และเจ้าของแบรนด์ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
- การบริหารจัดการสต็อกสินค้าร่วมกัน โดยการอัพเดทข้อมูลของสินค้าร่วมกันอย่างใกล้ชิด ถ้ามีการสั่งสินค้าเกิดขึ้น แสดงว่าต้องมีสินค้าให้ลูกค้าอยู่จริง
- สินค้าไหนขายดี ต้องเตรียมสินค้าแบบนั้นให้เพียงพอกับความต้องการ
- สร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด เพื่อง่ายต่อการโปรโมท และดึงดูดความสนใจ
- สร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้าผ่านโซเชียล เพื่อนำไปสู่การขาย
- ราคาและโปรโมชั่นพิเศษ ต้องเหมือนกันทุกช่องทางการขาย
แม้ว่า ZALORA จะยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า หลังการซื้อกิจการของเซ็นทรัลออนไลน์แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเกิดขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะต้องมีไม้เด็ดจาก ZALORA ในฐานะผู้ให้บริการ e-Marketplace ที่เน้นการขายเฉพาะทางที่สินค้ากลุ่มแฟชั่น และเซ็นทรัล ผู้นำห้างสรรพสินค้าของประเทศไทย และน่าจะทำให้การแข่งขันสนุกขึ้น ซึ่งประโยชน์จะเกิดกับเจ้าของแบรนด์ และผู้บริโภคนั่นเอง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา