ก็ของกินมันแซ่บขนาดนี้ ใครจะไปอดใจไหว
‘The Lancet’ วารสารการแพทย์ได้ทำการวิจัยข้อมูลของผู้ใหญ่จาก 204 ประเทศทั่วโลก แล้วพบว่าภายในปี 2050 หรืออีก 25 ปีข้างหน้า 57% ของผู้ชาย และ 60% ของผู้หญิงทั่วโลกมีโอกาส ‘น้ำหนักเกิน’ (Overweight) หรือ ‘อ้วน’ (Obese)
จริงๆ แค่ในปี 2021 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน ราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกที่มีอายุเกิน 25 ปี จำนวนมากกว่าพันล้านคน ก็เข้าข่ายน้ำหนักเกินหรืออ้วนกันหมดแล้ว และถ้าเทรนด์นี้ยังดำเนินต่อไปอยู่ สัดส่วนคงเพิ่มขึ้นดั่งที่ The Lancet คาดการณ์
ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีแนวโน้มน้ำหนักเกิน แต่ The Lancet ยังเจออีกว่า ช่วงๆ 2050 นี้ 1 ใน 3 ของประชากรวัย 5-24 ปี ก็อาจได้รับผลกระทบด้วย
สำหรับผลเสีย The Lancet บอกว่า แนวโน้มน้ำหนักเกินที่ทยอยพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้อัตราการป่วยเป็น ‘โรคไม่ติดต่อ’ เช่น เบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด มากขึ้นตาม
ทำไมคนถึงอ้วนขึ้นเยอะขนาดนี้?
แม้เพลงใน TikTok จะบอกว่า “ที่ฉันอ้วน เพราะฉันหยุดกินไม่ได้” แต่จริงๆ แล้วต้นตอของวิกฤตนี้มันลึกกว่านั้น
The Lancet อธิบายว่า สาเหตุของภาวะน้ำหนักเกินทั่วโลกเกิดจากปัญหา ‘เศรษฐกิจ’ กับ ‘เทคโนโลยี’ ที่พอมาผสมรวมกัน ก็ทำให้ระบบอาหารและเทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไป
เมื่อช่วงหลาย 10 ปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด หลายๆ คนเคยมีรายได้กันมากกว่านี้ เลยมีกำลังซื้อเยอะ และสามารถเลือกทานเมนูโภชนาการสูง
แต่พอโควิดระบาด ประกอบกับสงครามในยูเครน The Lancet เผยว่า ปัญหาความยากจนและราคาอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของประชากรโลกเปลี่ยนไป
จากที่เคยซื้อวัตถุดิบออร์แกนิคตามฟาร์มในท้องที่ กลายเป็นซื้ออาหารจากบริษัทอาหารที่เน้นความสะดวกและราคาถูกแทน
ส่วนผู้มีรายได้น้อยไปจนถึงปานกลางก็เข้าถึงอาหารที่มีแคลอรีสูง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และน้ำตาลได้มากกว่าเดิม
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารแปรรูปก็โตต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า พวกเรากำลังบริโภค ‘อาหารแปรรูปสูง’ (Ultra-Processed Food) มากขึ้น
อาหารประเภทนี้ถูกปรุงมาด้วยเกลือ น้ำตาล สารเติมแต่ง และสารกันบูดมากกว่าอาหารปกติ เพื่อลดต้นทุน นำไปสู่แคลอรีและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอาหารไฟเบอร์สูงอย่าง ธัญพืชเต็มเมล็ด หรือ ผลไม้
The Lancet ยังบอกอีกว่า การใช้พลังงานในหมู่ผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนไป อาจเป็นเพราะรูปแบบการทำงานหรือการเดินทางไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอ้วนเยอะขึ้น
ยาลดน้ำหนักไม่ช่วยอะไร ไม่ใช่ทุกประเทศที่ใช้ยาได้

สาเหตุหลักๆ ที่ The Lancet ทำวิจัยนี้ขึ้นมา ก็เป็นเพราะยอดขาย ‘ฮอร์โมนควบคุมความหิว’ (GLP-1) หรือที่คนเรียกๆ กันว่า ‘ยาลดน้ำหนัก’ นั้นทะยานสูงขึ้นแบบไม่มีวันตก
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยไม่ได้เอา GLP-1 มาใส่เป็นปัจจัยที่อาจทำให้แนวโน้มน้ำหนักเกินของประชากรโลกเปลี่ยน เนื่องจากมองว่า มันเป็นตัวแปรที่ไม่แน่นอน จึงไม่น่าเชื่อถือพอให้คำนวณถึงผลกระทบต่อน้ำหนักในระยะยาว
แม้ทีมวิจัยทราบดีว่า ยาลดน้ำหนักอาจมีผลต่อตัวผู้บริโภคบ้างแหละ แต่พวกเขามองว่า แค่ทานยาอย่างเดียว คงไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น โดย The Lancet ให้เหตุผลมา 2 ข้อดังนี้
- GLP-1 ยังเข้าถึงยาก
แม้ยอดขายและความโด่งดังของยาลดน้ำหนักจะแมสขนาดไหน แต่ก็ยังมีขอบเขตบางอย่างที่ทำให้พวกมันไม่สามารถช่วยกู้โลกจากปัญหาประชากรน้ำหนักเกินได้
หลักๆ แล้ว ทางทีมวิจัยเล่าว่า ประสิทธิภาพยาขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และ GLP-1 ไม่ได้เข้าถึงง่ายขนาดนั้น โดยเฉพาะประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อยหรือปานกลาง
เอาจริงๆ เมื่อปี 2023 เคยมีการเสนอให้ ‘องค์การอนามัยโลก’ (WHO) เพิ่มยาลดน้ำหนักเข้าไปในลิสต์ยาจำเป็นแล้ว เพื่อที่คนจะได้เข้าถึงง่ายขึ้น แต่ทางหน่วยงานก็ปฏิเสธ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยในระยะยาว
- ประเทศที่ประชากรน้ำหนักเกินมากที่สุด กลับไม่ทานยาลดน้ำหนัก
The Lancet เผยว่า ภายในปี 2050 ประเทศที่จะมีจำนวนประชากรน้ำหนักเกินเยอะมากที่สุดคือ
- จีน 627 ล้านคน
- อินเดีย 450 ล้านคน
- สหรัฐอเมริกา 214 ล้านคน
แต่ถ้าดูแค่ในแง่ของอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรน้ำหนักเกิน ทางวิจัยก็บอกว่าแถบๆ ‘แอฟริกาใต้สะฮารา’ ตัวเลขจะพุ่งขึ้นไวแบบ 250% หรือตีเป็นประมาณ 522 ล้านคนเลย
อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อประเทศที่พูดมาทั้งหมดนี้ ดูเหมือนว่ามีแค่สหรัฐฯ ที่ทานยาลดน้ำหนักกันอย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ราวๆ 80% ของยอดขายยา ‘Wegovy’ ประจำปี 2024 ยังมาจากที่นี่ด้วย
จากที่อธิบายมาทั้งหมด The Lancet สรุปว่า ยาลดน้ำหนักเลยไม่ใช่ที่พึ่งในการลดจำนวนประชากรโลกที่น้ำหนักเกิน แต่การเข้ามาช่วยเหลือของสาธารณสุขต่างหากที่อาจพลิกวิกฤตให้ดีขึ้นได้
ที่มา: Quartz, World Economic Forum
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา