แม้เศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย แต่ TCP ผู้จำหน่าย กระทิงแดง มองว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง หรือเอนเนอร์จี้ดริงก์มูลค่า 22,000 ล้านบาท ในปี 2024 จะเติบโตเฉลี่ยราว 6% ในปี 2025 อย่างไรก็ตามตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์ที่มีสัดส่วนราว 2,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของตลาดนี้
เหตุผลที่ตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์เติบโตกว่ามาจากผู้บริโภครุ่นใหม่ยินดีจ่ายให้กับเครื่องดื่มให้พลังงาน เพราะมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์กับสุขภาพ และตอบโจทย์กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้หลากหลาย ทำให้ TCP ให้ความสำคัญกับเอนเนอร์จี้ดริงก์ และพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์พอ ๆ กัน
แล้วตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์ในปี 2025 จะแข่งขันกันแค่ไหน มีผู้เล่นกี่ราย รวมถึงฝั่ง TCP มีกลยุทธ์การตลาดใดบ้าง Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ วรวุฒิ พงศ์ชินภัค ประธานผู้บริหารสายงานขายและการตลาด ประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP ดังนี้
TCP กับตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์
วรวุฒิ พงศ์ชินภัค ประธานผู้บริหารสายงานขายและการตลาด ประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP เล่าให้ฟังว่า พรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์ต้องเน้นสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเพื่อเพิ่มความน่าสนใจของสินค้า จนปัจจุบัน TCP ขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาดเป็นอันดับ 1 ของตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์ด้วยส่วนแบ่ง 60% และในปี 2024 แต่ละกลุ่มสินค้ามีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เรดบูล เอ็กซ์ตร้า ยอดขายเติบโต 40%, เรดบูล โซดา ยอดขายเติบโต 40% และ เรดดี้ ยอดขายเติบโต 10%
หากเจาะไปที่ เรดบูล โซดา สินค้าดังกล่าวเปิดตัวมาเป็นเวลา 2 ปี ผ่านการนำรสชาติ และการผสมโซดาเพื่อเพิ่มความสดชื่อให้กับเอนเนอร์จี้ดริงก์ ที่สำคัญสินค้าดังกล่าวยังครองส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 1 ในตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดอยู่ราว 7-8 ราย (ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขส่วนแบ่งได้) โดยการทำตลาดจะเน้นสื่อสารเรื่องประโยชน์ของสินค้า รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มภาพจำของสินค้า และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลักที่มีอายุ 18-35 ปีได้
“หลังจากนี้เราจะเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายไปที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ มากกว่าแค่การซื้อสินค้า รวมถึงการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เรดบูล จะสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างชัดเจน, มีรสชาติที่หลากหลาย และมีบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ 100% ทั้งยังใส่ใจสุขภาพด้วยน้ำตาล 0% เช่นเดียวกัน” วรวุฒิ ย้ำ โดย เรดบูล ปัจจุบันจำหน่ายในราคา 20 บาท มีให้เลือก 4 รสชาติ และจำหน่ายในทุกช่องทางค้าปลีก
ใช้ แบมแบม เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
ขณะเดียวกันเพื่อให้ภาพลักษณ์ของเรดบูล โซดาเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น TCP จึงแต่งตั้ง แบมแบม-กันต์พิมุกต์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุดของแบรนด์ หลังจากก่อนหน้านี้ใช้นักกีฬาทีมอีสปอร์ต Bacon Time ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวบริษัทคาดหวังยอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยแคมเปญนี้จะจัดทำควบคู่กับการเปิดหน้าร้าน Pop-up Store เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มเรดบูล โซดา รวมถึงเมนูต่าง ๆ ที่พัฒนามาจากสินค้าเรดบูล โซดา ถือเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมมือกับแบรนด์ไอศกรีม และลูกอม เพื่อทำเมนูรสชาติเรดบูล
“การทำตลาดเอนเนอร์จี้ดริงก์ กับพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์นั้นค่อนข้างต่างกัน เพราะตลาดแมสจะเน้นเรื่องการสื่อสารวัตถุดิบ เช่น วิตามิน หรือทอรีน และเรื่องราคาที่ต้องคงไว้ ส่วนพรีเมียมเอนเนอร์จี้ดริงก์ต้องเน้นไปที่กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ภาพของแบรนด์มันชัดเจนขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ตลาดมันยังแข่งขันตลอดเวลา แต่ละแบรนด์มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่ง การที่เราลงทุนเรื่อง แบมแบม ก็พิสูจน์ได้ว่าเราให้ความสำคัญกับตลาดนี้ไม่แพ้เอนเนอร์จี้ดริงก์แบบแมส”
หากเจาะไปที่กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มพลังงานของกลุ่มธุรกิจ TCP จะแบ่งออกเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานแบบแมส (Mass Energy Drink) 75% ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานแบบพรีเมียม (Premium Energy Drink) 25% โดยแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักมีกระทิงแดงเป็นตัวนำ ส่วนพรีเมียมจะทำตลาดภายใต้แบรนด์ เรดบูล ที่ไม่ใช่ Red Bull กระป๋องน้ำเงินคาดเงิน เพราะถ้าเป็น Red Bull แบบดังกล่าวจะจำหน่ายในราคาค้าปลีกกว่า 60 บาท และไม่ได้ทำตลาดโดย TCP แต่เป็นจากฝั่ง Red Bull ของต่างประเทศ
ยิ่งร้อน ยอดขายยิ่งดี
วรวุฒิ เสริมว่า ช่วงนี้กำลังซื้อยังค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับหน้าร้อนยังไม่ร้อนเท่าที่ควร ทำให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะในช่วงหน้าร้อนปกติจะมีการซื้อขายเครื่องดื่มให้พลังงานเพิ่มขึ้น 10% และคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของยอดขายเครื่องดื่มให้พลังงาน ด้านเรื่องภาษีความหวาน ปัจจุบันบริษัทมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลลดลง หรือไม่มีน้ำตาล เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ซึ่งตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้นด้วย
Brand Inside มองว่า การเดินหน้าทำตลาดแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างเครื่องดื่มให้พลังงานแบบแมส กับเครื่องดื่มให้พลังงานแบบพรีเมียมของ TCP ช่วยขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น และทำให้ TCP มีพอร์ตที่หลากหลาย รองรับได้ในเวลาที่บางกลุ่มลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ หรือตลาดนั้นมีการแข่งขันเรื่องราคาที่สูง โดยเฉพาะเรื่องราคาที่เครื่องดื่มให้พลังงานแบบแมสจะต้องคงไว้ที่ 10 บาท หากเกินกว่านั้นผู้บริโภคก็จะไม่ซื้อ ซึ่งต่างกับเครื่องดื่มให้พลังงานแบบพรีเมียมที่ผู้ซื้อจะดูคุณสมบัติ และภาพจำของแบรนด์มากกว่า
และหากดูที่การทำตลาดแบ่งกันชัดเจน หรือ เรดบูล เอ็กซ์ตร้า ที่จับตลาดคนที่ชอบความเข้มข้นของกระทิงแดง แต่ต้องการขยับขึ้นมาให้มีความพรีเมียมขึ้น เรดบูล โซดา ที่จับตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยความซ่า และรสชาติที่หลากหลาย รวมถึง เรดดี้ ที่จับตลาดผู้หญิงที่ต้องการเครื่องดื่มให้พลังงาน ก็ทำให้ TCP มีสินค้าที่รองรับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม และมีภาพจำที่ค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับผู้เล่นต่าง ๆ ในตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานแบบพรีเมียม ที่ยังยึดติดเรื่องแบรนด์ดั้งเดิมของตัวเองเป็นหลัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา