“ไม่เคยทำมาก่อน จึงไม่มีข้อจำกัด” เจ้าของ ‘ลัคกี้สุกี้’ ทำธุรกิจยังไงให้ทะลุพันล้านได้ใน 3 ปี

ใช้เวลาแค่ 3 ปี สร้างธุรกิจพันล้าน ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เป็นความจริงสำหรับ 4 ผู้ก่อตั้ง ‘ลัคกี้สุกี้’ ที่วันนี้พาธุรกิจเติบโตพรวดพราดแบบเท่าตัว ส่งให้ในปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมความตั้งใจจะทะยานอีกเท่าตัวในปีนี้

Brand Inside มีโอกาสได้คุยกับ 2 จาก 4 ผู้ก่อตั้งของ ‘ลัคกี้สุกี้’ อย่าง ‘วิรัตน์ โรจยารุณ’ และ ‘รสรินทร์ ติยะวราพรรณ’ ถึงเรื่องราวของพวกเขาตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวิธีคิด ที่ทำให้ร้านสุกี้ที่มีความหมายว่า ‘โชคดี’ นี้เฮงสมชื่อ

4 คนที่ไม่มีใครเคยทำร้านอาหาร กับ 1 ร้านสุกี้

‘วิรัตน์’ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ ‘ลัคกี้สุกี้’ มาจากความตั้งใจของคน 4 คน ที่ประกอบไปด้วยตัวเขาเอง วิรัตน์ โรจยารุณ รุ่งทิวา วิพัฒนานันทกุล รสรินทร์ ติยะวราพรรณ และอิทธิพล ติยะวราพรรณ ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่มาจากคนละแวดวงธุรกิจการค้า แต่มารวมตัวกันได้เพราะชอบการกินเหมือนกัน

ปกติแล้วทั้ง 4 คนเป็นคนชอบการกิน แต่ไม่เคยมีใครถึงขั้นทำร้านอาหารมาก่อน กระทั่งตัว ‘แอน’ หรือ ‘รสรินทร์’ เองที่มีธุรกิจร้านกาแฟอยู่ 1 ร้าน ก็ยังไม่เคยทำลุยเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารเต็มตัวเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งวันหนึ่งหลังจากแอนสนใจศึกษาหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า ‘ตลาดสุกี้’ นั้นยังมีช่องว่างให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการร่วมลงทุนลงแรงกันสร้างร้านสุกี้ขึ้น

พอไม่รู้ก็ไม่มีกรอบ ไร้ขอบเขตมาบังคับ

“ตอนนั้นเราคุยกันว่า ถ้ามันไม่เวิร์ค เราก็แค่เลิก” ผู้บริหารลัคกี้สุกี้เล่า

ความน่าสนใจคือ แม้ผู้บริหาร 4 คนของ ‘ลัคกี้สุกี้’จะมีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครมาจากสายอาหาร ไม่เคยเปิดร้านอาหารมาก่อน ไม่ต้องพูดถึงร้านสุกี้แบบบุฟเฟ่ต์

‘วิรัตน์’ บอกว่า บนความไม่รู้อะไรเลยของ 4 หุ้นส่วน ทำให้ช่วงแรกต้องศึกษาใหม่ทุกอย่าง ทุกรายละเอียด แม้ไม่มีประสบการณ์ แต่ข้อดีของความไม่รู้อะไรก็ทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทำทุกสิ่งที่อยากทำ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการส่งมอบสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดให้ลูกค้า

โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้ลัคกี้สุกี้เดินทางมาถึงตรงนี้ได้เพราะ “เราแทงถูกมากกว่าแทงผิด เรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่องที่เราตัดสินใจถูก” และนับตั้งแต่เปิดสาขาแรกในเดือนมกราคม 2565 จนถึงสาขาสองในเดือนกันยายนปีเดียวกัน วิรัตน์เล่าว่า “เราอยู่กับมันทุกวัน เห็นทุกวัน แก้ปัญหาทุกวัน เมื่อมั่นใจว่าทำได้ถึงได้เลือกเปิดอีกสาขา”

แต่คำถามต่อมา คือ แล้วร้านสุกี้แบบไหนล่ะที่จะสามารถเติบโตได้ในทศวรรษนี้?

ลูกค้าต้องคุ้มค่าทุกบาท บริการให้เกินคาดหวังไปอีก

คำตอบที่เหล่าผู้บริหารของลัคกี้สุกี้ปักธงเลือก คือ ‘ความคุ้มค่า’ และเจ้าความคุ้มค่านี้แหละที่กลายเป็นฐานคิดหลักของลัคกี้สุกี้ตลอดมา

โดย ‘วิรัตน์’ บอกว่า ปณิธานการทำงานของลัคกี้สุกี้ คือ “ลูกค้าต้องคุ้มค่าเงิน” เพราะถ้าลูกค้าใช้บริการแล้วพึงพอใจ ลูกค้าก็จะกลับมาใช้บริการซ้ำ และธุรกิจก็จะเติบโตในภายภาคหน้าได้

ผู้บริหารของลัคกี้สุกี้ เชื่อว่า นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ลัคกี้สุกี้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมาและจะทำให้ลัคกี้สุกี้เติบโตต่อไปได้ในอนาคตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัวนัก ‘ธุรกิจบุฟเฟต์’ จึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ขอเพียงใส่ใจรายละเอียดดีพอ

อย่างตอนวางคอนเซปต์ของ ‘ลัคกี้บาร์บีคิว’ ก็คิดแบบเดียวกันกับตอนวางคอนเซปต์ของ ‘ลัคกี้สุกี้’ อยากให้ลูกค้าคุ้มค่าเงินมากที่สุดในประสบการณ์รับประทานอาหารที่ดีที่สุด จึงออกแบบมาเป็นบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างยากินิคุที่มีเมนูมากกว่า 100 เมนูในราคา 362 บาท

“ในแง่ผู้ประกอบการ หลายคนอาจจะมองผลประกอบการเป็นตัวตั้ง แต่เรามองการบริการและลูกค้าเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยมาบริหารต้นทุนให้เหมาะสม”

นอกจากนั้น ‘วิรัตน์’ ยังบอกว่า อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ บริการให้มากกว่าความคาดหวังที่ลูกค้าของเราต้องการ เมื่อลูกค้าจ่ายเงินลูกค้าก็มีความคาดหวัง จ่ายในราคาเท่าไรลูกค้าก็คาดหวังบริการและอาหารในระดับที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น แบรนด์จะต้องส่งมอบให้เกินความคาดหวังของลูกค้าให้ได้

เน้นเปิดในคอมมูนิตี้มอลล์ ให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้รู้จัก

ฝั่ง ‘แอน’ หรือ ‘อรพรรณ’ บอกว่า กลยุทธ์ในการเลือกโลเคชันก็สำคัญไม่แพ้กัน

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสาขาของลัคกี้สุกี้ส่วนใหญ่อยู่ใน ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ หรือ ‘ห้างสรรพสินค้า’ เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ต้องการให้ลูกค้ารู้จัก เมื่อลูกค้ามาจับจ่ายใช้สอยระหว่างวันก็จะได้เห็น ได้ทำความรู้จักกับลัคกี้สุกี้ไปด้วย

สำหรับปีนี้ลัคกี้สุกี้ก็จะลุยเปิดใน ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ และ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ต่อไป โดยไม่ยังไม่ขยับไปเปิดร้านแบบแสตนอโลน โดยจะเน้นขยายสาขาออกไปตามคำเรียกร้องของลูกค้า หลายๆ ครั้งลูกค้ารออยู่ก่อนแล้ว แบรนด์จึงเข้าไปเปิดสาขาตามหลัง

ปัจจุบัน ลัคกี้สุกี้ มีสมาชิกมากถึง 200,000 รายและเห็นจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าหลายคนใช้บริการบ่อย กลายเป็นลูกค้าประจำแล้ว

จะขยายสาขาอีกเท่าตัว ตั้งเป้ารายได้ดับเบิ้ล ทะลุ 2 พันล้าน

จากปีแรกที่ก่อตั้ง ‘ลัคกี้สุกี้’ มีสาขาทั้งหมด 2 สาขา ในปีถัดมาสุกี้ที่ร้านมีความหมายว่าโชคดีร้านนี้ สามารถขยายสาขาอย่างรวดเร็วเป็น 6 สาขาได้สำเร็จ ต่อจากนั้นอีกเพียงปีเดียว ในปีที่ 3 ของการก่อร่างสร้างธุรกิจ ลัคกี้สุกี้มีสาขามากถึง 20 สาขาแล้ว รวมถึงก่อตั้งแบรนด์ใหม่อย่าง ‘ลัคกี้บาร์บีคิว’ ขึ้นมาด้วย

การเติบโตของ ‘ลัคกี้สุกี้’ เป็นการเติบโตที่มากกว่า ‘เท่าตัว’ มาโดยตลอด

จึงไม่แปลกที่ปี 2568 นี้ ผู้บริหารจะวางเป้าหมายขยายอีก 20 สาขา หรือรวมเป็น 40 สาขาภายในสิ้นปี และจะเป็นปีสำคัญที่ลัคกี้สุกี้ขยายออกนอกกรุงเทพฯ มากขึ้นด้วย

ด้านรายได้เองก็ไม่ต่างกัน เรียกว่าเติบโตยิ่งกว่าจำนวนสาขาซะอีก

บริษัท มิราเคิล แพลนเนท จำกัด
ปี 2565 รายได้ 79 ล้านบาท กำไร 2.6 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 409 ล้านบาท กำไร 46 ล้านบาท

ส่วนปี 2567 นั้นผู้บริหารเผยว่ารายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เติบโตมากถึง 148% จากปีก่อน สำหรับปี 2568 นี้จึงตั้งเป้าว่าจะขยับรายได้ขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท

‘วิรัตน์’ ยอมรับว่า “เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง” ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในปีที่ผ่านมา และไม่น่าจะน้อยลงในปีนี้ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีมากนัก “แต่ลัคกี้สุกี้ก็จะพยายามตอบสนองเม็ดเงินทุกบาทของลูกค้าให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำอีก”

ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการรักษาฐานลูกค้าเก่าและขยายฐานลูกค้าใหม่

และแน่นอนว่าเป้าหมายใหญ่ของลัคกี้สุกี้ย่อมเป็นการไปทั่วประเทศ

ไม่แข่งกับใคร แข่งกับตัวเอง ลุยทั่วประเทศต่อ

ถ้าจะโตต่อก็ต้องเจอกับการแข่งขัน เมื่อถามถึงคู่แข่ง ‘วิรัตน์’ เผยว่า การแข่งตลาดในตลาดยังคงดุเดือด เพราะโอกาสทางธุรกิจทำให้มีเจ้าใหม่ๆ สนใจอยากจะเข้ามาในตลาดอยู่ตลอด ตอนนี้ผู้ประกอบการหลายรายในตลาดบุฟเฟต์ยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีหลายเจ้าพลาดหลั้งออกจากตลาดไป

มุมมองของเขามองว่า ผู้ประกอบการตลาดบุฟเฟต์ได้ส่วนแบ่งบางส่วนมาจากตลาดอะลาคาร์ทด้วย เพราะตอนนี้ผู้บริโภคมองเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก เมื่อรับประทานคล้ายๆ กันก็เกิดคำถามว่าทำไมจะต้องจ่ายเงินแพงกว่า และเชื่อว่าตลาดบุฟเฟต์ยังคงไม่อิ่มตัวและเติบโตอยู่

“เรารู้ว่าผู้เล่นในตลาดมีหลายราย แต่เราไม่แข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเอง จะทำอย่างไรให้บริการแล้วลูกค้าพอใจที่สุด เพราะลูกค้าพอใจแล้วก็จะกลับมาใช้บริการซ้ำ รวมถึงบอกต่อไปด้วย”

สุดท้ายผู้ก่อตั้งยังบอกว่าเคล็ดลับการเติบโตของลัคกี้สุกี้ อย่างแรกคือ ‘ความมุ่งมั่น’ ผู้บริหารทำงาน 7 วันกันทุกคนและตั้งใจจะตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ดีที่สุด และความมุ่งมั่นนั้นเองนำไปสู่การเก็บรายละเอียดอื่นๆ ทางธุรกิจตามมานั่นเอง

Brand Inside สรุปวิธีคิดและกลยุทธ์ธุรกิจของลัคกี้สุกี้ออกมาเป็น 4 ข้อ

1) เงินทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าต้อง ‘คุ้มค่า’ ที่สุด ทั้งรสชาติอาหาร การบริการ บรรยากาศ
2) บริการให้เหนือกว่า ‘ความคาดหวัง’ ของลูกค้า ให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ
3) เน้นเปิดใน ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ และ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้รู้จักกับแบรนด์
4) ผู้บริหารมาดูแลร้านเองทุกวัน รับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าและพนักงานหน้าร้านโดยตรง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา