อ่านแล้วก็อาจจะงงกันสักนิด ว่า “รถตักดิน” ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้ด้วยหรือ?
แต่บอกได้เลยว่ายอดขายเครื่องจักรอย่างรถบรรทุก รถตักดินหรือแม้แต่รถแบคโฮ ที่มีการใช้งานทั่วโลกที่ติดตั้ง GPS และเปิดระบบให้ใช้งานได้ตลอดเป็นจำนวน 470,000 คัน (และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ) ทำให้รู้ว่าตอนนี้มีการใช้งานอยู่หรือไม่ทั่วโลก
ยิ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลกอย่าง Komatsu เองเปิดเผยข้อมูลออกมา ยิ่งน่าสนใจ มีประโยชน์อย่างไร Brand Inside จะพาไปเจาะลึกกันครับ
Komatsu ได้ข้อมูลมาอย่างไร
หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่า Komatsu ได้ข้อมูลนี้อย่างไร โดยเมื่อปีที่แล้ว Komatsu ได้ทำสัญญาว่าจ้าง Iridium ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสาร และโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมชื่อดังของโลก ให้เชื่อมต่อเครื่องจักรอย่างเช่นรถบรรทุก รถตักดิน รถแบคโฮ ของ Komatsu ผ่านทางระบบ KOMTRAX เพื่อที่เอาไว้เช็คว่ารถทำงานที่ไหน (ส่วนหนึ่งเพื่อกันโดนขโมยรถหรือเอารถไปใช้) สภาพตัวรถเป็นอย่างไรบ้าง
เครื่องจักรที่ขายโดย Komatsu มากกว่า 470,000 คันทั่วโลก ได้ส่งข้อมูลแบบ Real time มาที่บริษัทแทบตลอดเวลา โดยข้อมูลดิบเหล่านี้จะลงในเว็บไซต์ทุกวันที่สิบของเดือน ทางหน้าเว็บไซต์ และรวมไปถึง Application บนไอโฟนอีกด้วยเพื่อรายงานข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย รวมไปถึงชั่วโมงการใช้งาน
ข้อมูลเก็บมาจากที่ไหนบ้าง
จำนวนเครื่องจักรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรถตักดิน รถบรรทุกดิน (คันใหญ่ระดับเหมืองแร่ใช้) รถแบคโฮ เป็นต้น กว่า 470,000 คัน เก็บข้อมูลมาจากประเทศญี่ปุ่น 140,000 คัน ประเทศจีน 110,000 คัน ทวีปยุโรป 50,000 คัน สหรัฐอเมริกา 70,000 คัน และที่เหลือทั่วโลกกว่า 100,000 คัน และจำนวนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่อันดับ 1 อย่าง Caterpillar ก็มีข้อมูลเหล่านี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เผยแพร่เหมือน Komatsu
แล้วข้อมูลพวกนี้เอามาทำอะไรได้บ้าง
เครื่องจักรเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ในงานหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหมืองแร่ ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยตรงจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลดิบเหล่านี้ที่ออกมาทุกเดือน ซึ่งไวกว่าตัวเลขของทางการที่ออกทุกๆ ไตรมาสนั้นทำให้เอกชนอย่างเช่น Mitsubishi Heavy Industry, Toyota หรือแม้แต่ตัวบริษัทอย่าง Komatsu เองมองเห็นอะไรได้ไวขึ้นกว่าที่จะมารอตัวเลขจากทางการซึ่งอาจช้าไป
ข้อมูลเหล่านี้สัมพันธ์กันจริงๆ หรือเปล่า
โดยข้อมูลการใช้งานเครื่องจักรที่ออกมาล่วงหน้าเหล่านี้มีค่าสหสัมพันธ์กับข้อมูลของ Japanese Industrial Production ถึง 0.76 และเป็นข้อมูลที่ออกมาก่อนด้วย โดย Yoshikazu Shimada นักวิเคราะห์ของ Tachibana Securities ได้กล่าวถึงว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ เพราะว่ามีข้อมูลของการทำงานเครื่องจักรในประเทศจีนรวมอยู่ด้วย ซึ่งประเทศจีนเป็นกลไกลหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีข้อมูลในส่วนนี้มากขึ้น
เคยมีการใช้ข้อมูลแบบนี้มาบ้างหรือเปล่า
ก่อนหน้านั้นเคยมีการใช้ข้อมูลอย่างการใช้ไฟฟ้า การเดินรถไฟขนส่ง การกู้ยืมเงินผ่านทางธนาคารในการมาหาค่าเฉลี่ยในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเอง โดยไว้ดูนอกจากตัวเลขของ GDP โดยผู้คิดค้นดัชนีตัวนี้คือนิตยสาร The Economist ในปี 2010 โดยให้เกียรติกับนายกรัฐมนตรีของจีน Li Keqiang ที่เคยกล่าวกับฑูตของสหรัฐ (ซึ่งเอกสารนี้เผยแพร่โดย Wikileaks) ว่าส่วนตัวไม่เชื่อตัวเลข GDP ของทางรัฐบาลจีนเท่าไหร่นัก หรือที่เรารู้จักกันว่า Li Keqiang Index
ข้อมูลจาก – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา