กรุงไทยการไฟฟ้า อัด 60 ล้านบาท รีแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กแบรนด์ ชาร์ป ปั้นรายได้ 16,000 ล้านบาท

กรุงไทยการไฟฟ้า ตัวแทนจำหน่าย และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กแบรนด์ ชาร์ป ลงทุนกว่า 60 ล้านบาท สื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ ถือเป็นการกลับมาทำตลาดครั้งสำคัญในรอบ 10 ปี สินค้าหลักยังเป็นหม้อหุงข้าว กินแชร์อันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 40% พัดลมที่เป็นเบอร์ 2 หวังปี 2025 รายได้เติบโต 5% ใกล้เคียง 16,000 ล้านบาท ในปี 2024

Sharp

ชาร์ป เร่งรีแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก

วิโรจน์ ทานัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในปี 2025 บริษัทเตรียมลงทุนกว่า 60 ล้านบาท เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ หรือรีแบรนด์ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กแบรนด์ ชาร์ป ควบคู่กับการปรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

การลงทุน 60 ล้านบาท ถือเป็นการกลับมาลงทุนทำตลาดครั้งสำคัญในรอบ 10 โดยส่วนใหญ่จะใช้ทำสื่อโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อยอดจากที่ทำในปี 2024 และค่อนข้างประสบความสำเร็จ เช่น สื่อโฆษณาเกี่ยวกับพัดลมที่เน้นเรื่องความทนทานจนเกิดไวรัลบนโลกออนไลน์ ส่งเสริมให้ยอดขายเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน

“ยอมรับว่าการตลาดเราห่างหายไปนาน แต่เรายังอยู่ในใจผู้บริโภค และครั้งนี้เรากลับมาเพื่อตอกย้ำการอยู่ในใจผู้บริโภค รวมถึงการเปลี่ยนดีไซน์ที่เปลี่ยนไปเยอะจากทรงดั้งเดิมทันสมัยมากขึ้น ซึ่งการปรับสินค้าก็ทำให้อายุของแบรนด์นั้นเด็กลงแล้วด้วยเหมือนกัน”

Sharp

พัดลม และหม้อหุงข้าว ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กแบรนด์ ชาร์ป ยังมีกลุ่มพัดลม และหม้อหุงข้าวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของธุรกิจ หากเจาะไปที่พัดลมจะพบว่า ในปี 2024 มีส่วนแบ่งตลาดที่ 21% จากมูลค่าทั้งหมด 7,000-8,000 ล้านบาท ถือเป็นอันดับที่ 2 ของตลาด และจากการทยอยปรับการออกแบบทำให้แชร์นั้นใกล้เคียงเบอร์ 1 และทิ้งห่างเบอร์ 3 มากขึ้น

ต่อด้วยกลุ่มหม้อหุงข้าว ที่สิ้นปี 2024 ชาร์ปมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ผ่านสัดส่วนเกิน 40% จากมูลค่าตลาดราว 4,000 ล้านบาท โดยเหตุผลที่รักษาตำแหน่งนี้ไว้ได้ เพราะการปรับการออกแบบให้ดูทันสมัยมากขึ้น และคงจุดเด่นเรื่องคุณภาพที่เป็นที่ไว้วางใจจากผู้บริโภคมานาน

“เราเป็นแบรนด์เก่าแก่ และผู้บริโภคค่อนข้างเชื่อมั่น ดังนั้นเราจะคงจุดนี้ไว้ แต่ต้องทำควบคู่กับการออกมาพูดคุยกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยเหมือนกัน ส่วนเรื่องสินค้าจากประเทศจีนราคาถูกที่เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น บริษัทมองว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และผู้บริโภคเห็นแล้วว่าคุณภาพเป็นอย่างไร”

เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กโตไม่เยอะ

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กในปี 2025 กรุงไทยการไฟฟ้า มองว่า อาจมีการเติบโตไม่เยอะ หรือเพียงตัวเลขหลักเดียว เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้การจับจ่ายของผู้บริโภคในเวลานี้ค่อนข้างตัดสินใจได้ลำบาก คล้ายกับกรณีของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ

สำหรับตัวบริษัท ในปี 2025 ตั้งเป้าเติบโตเหนือตลาด หรือ 5% ใกล้เคียงกับที่ทำได้ในปี 2024 ที่ทำรายได้ 16,000 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวมาจากทั้งการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงส่งออกไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากพัดลม และหม้อหุงข้าว ชาร์ป ยังทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอื่น ๆ เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน, เตารีดไอน้ำ และเครื่องทำน้ำอุ่น เพื่อตอบโจทย์ฐานลูกค้าที่ค่อนข้างกว้างของบริษัท หากเจาะไปที่ตลาดเตารีดจะพบว่า ตลาดนี้มีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท และชาร์ปแข็งแกร่งในกลุ่มเตารีดแห้งแล้ว จึงไปทำตลาดเตารีดไอน้ำเพิ่มเติม

ชาร์ป กับการทำตลาดสินค้าที่หลากหลายในไทย

Brand Inside พบว่า ชาร์ป เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี โดย กรุงไทยการไฟฟ้า เป็นหนึ่งในส่วนการทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กของชาร์ป ส่วนสินค้าอื่น ๆ เช่น โทรทัศน์, ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ จะดำเนินธุรกิจโดย บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด

โครงสร้างของการดำเนินธุรกิจแบรนด์ชาร์ปในประเทศไทยจะมี บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัทคือ ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น 50% กับ บริษัท ห้างเทพนคร พาณิชย์ จำกัด และ บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ถือหุ้นบริษัทละ 25% เป็นบริษัทหลัก กระจายการจำน่ายสินค้าไปยังบริษัททั้งสอง

ในระดับโลก ชาร์ป อาจพูดว่าเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นได้ไม่เต็มปาก เพราะปัจจุบันมี Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของโลกจากไต้หวันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังเข้ามาซื้อกิจการเมื่อปี 2016 ด้วยมูลค่ากว่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย วิโรจน์ ยืนยันว่า Foxconn ไม่ได้มีการเข้ามามีส่วนเกี่ยวกับบริหารใด ๆ ในประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา