เทศกาลกินเจกำลังใกล้เข้ามา เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 4,500 ล้านบาท ด้วยช่วงเวลาในการทำตลาดสั้นๆ จึงมีการพัฒนากลยุทธฺ์เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มฐานลูกค้า เพราะมีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่ก็กดดันผู้ประกอบการให้ต้องสร้างความแตกต่าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ช่วงเทศกาลกินเจ วันที่ 20-28 ตุลาคม 2560 คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจกินเจ โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลส/ งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นหลัก ในขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ ต้องการกินเจเพื่อสุขภาพอิงกระแสอาหารคลีนฟู๊ด/ออร์แกนิค และเพื่อทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
สำหรับช่องทางในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจ ส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทาน ตามด้วยซื้อจากร้านข้างทาง/แผงลอย/ตลาดสด สอดรับกับพฤติกรรมเร่งรีบ เน้นความสะดวก แต่ต้องอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่เหมาะสม
ออนไลน์ / เดลิเวรี่ โอกาสใหม่ของธุรกิจอาหารเจ
สำหรับภาพรวมเทศกาลกินเจในเขตกรุงเทพ คาดว่าเม็ดเงินสะพัดกว่า 4,500 ล้านบาท แม้จำนวนคนจะไม่เพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ตั้งใจกินเจทุกมื้อตลอด 9 วัน ต่างจากปีก่อนที่กินเป็นบางมื้อ และคาดว่าจะมีการใช้จ่ายประมาณ 300 บาท/คน/วัน และมองหาช่องทางเลือกใหม่ เช่น การสั่ง Food Online / Food Delivery ซึ่งคาดว่าช่องทางนี้จะมีผลต่อตลาดมากขึ้น
แม้เป้าหมายแรกคือ การซื้อจากร้านแต่มีคน 72% สนใจสั่งซื้ออาหารหากมีบริการออนไลน์และจัดส่งถึงที่ อำนวยความสะดวกให้คนที่ตั้งใจกินเจทุกมื้อ โดยสั่งได้จากทั้งเว็บไซต์ โซเชียลและแอพพลิเคชั่น โดยเมนูที่ผู้บริโภคสนใจจะสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ เมนูอาหารไทย (เจ) ตามมาด้วยอาหารเจประเภทเส้นและอาหารคลีน/ ออร์แกนิคเจ
อย่างไรก็ดี 28% ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่า ไม่สนใจที่จะสั่งซื้อผ่านช่องทางนี้ เพราะชอบที่จะเดินเลือกซื้อเองมากกว่า รวมถึงไม่มั่นใจคุณภาพ/รสชาติและมองว่าราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น ปัจจัยด้านคุณภาพ ราคาและความคุ้นเคยที่มีต่อช่องทางการซื้อเดิมๆ ยังส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคผ่านช่องทางนี้อยู่พอสมควร
เจออนไลน์ เน้นจับพนักงานออฟฟิศ ตอบโจทย์คนเร่งรีบ
สำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอาหารเจ แบบออนไลน์ ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เน้นที่พนักงานออฟฟิศ แพทย์/พยาบาล ธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย นักเรียน/นักศึกษา เน้นคนที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ มีข้อจำกัดด้านเวลา ยอมจ่ายเงินเพื่อความสะดวกสบายกว่า และที่สำคัญคือ มีการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นปกติ
โดยพบว่า 57% ของคนกรุงเทพที่กินเจ เคยใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ หรือ เดลิเวรี่มาแล้ว เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน และตั้งงบประมาณไว้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้นแม้ว่ากลุ่มธุรกิจเจออนไลน์ จะไม่ใช่ช่องทางหลัก แต่เป็นบริการเสริมที่น่าสนใจ และตอบความต้องการผู้บริโภคได้
อีกส่วนที่เงื่อนไขสำคัญของธุรกิจอาหาร ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย การจัดกลยุทธ์ด้านราคาที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคหันมาสนใจใช้บริการ เช่น โปรโมชั่นซื้อ 2 แถม 1 หรือสะสมแต้มแลกรับสิทธิประโยชน์หรือของแถม มีช่องทางชำระเงินที่สามารถมีให้เลือกได้หลากหลาย เช่น เงินสดแบบ Cash on Delivery, พร้อมเพย์, QR Code
สร้างความเชื่อมั่นด้วยวัตถุดิบที่ดี นำเสนอเมนูแปลกใหม่ที่หาไม่ได้ตามท้องตลาด นำเสนอความรู้เกี่ยวกับอาหารเจ เพื่อทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ต้องไม่ลืมว่า อาหารเจ เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพ ที่การบริโภคไม่ได้จำกัดในช่วงเทศกาลกินเจ แต่ขยายเวลาไปช่วงอื่นๆ สอดคล้องกับผลสำรวจว่า 90% เป็นกลุ่มคนที่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเลือกทานตามความสะดวกตลอดทั้งปี ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเน้นที่ความคุ้มค่า และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เช่น มีอาหารว่างเสริม พัฒนาสูตรอาหารเจใหม่ๆ และสามารถเลือกหรือเปลี่ยนวัตถุดิบได้ตามความชอบรายบุคคล และปรุงอาหารเจได้ตามหลักการอย่างถูกต้อง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา