จากที่เคยเป็นรองมานานทั้งในแง่ภาพลักษณ์ธุรกิจ และนวัตกรรม ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจจากประเทศจีนหลากหลายอุตสาหกรรมเริ่มแซงหน้ากลุ่มธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นไปเรื่อย ๆ ถึงขนาดเข้าควบรวมบางกิจการก็มีมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
ถ้าให้ไล่ก็คงไม่พ้นการที่ Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกที่ก่อตั้งในไต้หวันได้เข้าซื้อกิจการ Sharp แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี เช่นเดียวกับ Midea แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนที่เข้าซื้อกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Toshiba
และล่าสุดอาจจะเกิดขึ้นกับแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักของคนไทยอีกครั้งอย่าง Nissan เพราะ Foxconn ที่ซุ่มเจรจาก่อนดีลเจรจาควบรวมระหว่าง Nissan กับ Honda จะเกิดขึ้น ถูกพูดถึงอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้สูงที่แบรนด์ญี่ปุ่นที่คุ้นเคยจะถูกโอนย้ายไปเป็นสัญชาติจีน ผ่านกระแสข่าวที่ Nisaan ขอล้มโต๊ะเจรจากับ Honda
จากผู้ถูกมองว่าลอก สู่การซื้อกิจการผู้คิดค้น
ในอดีตแบรนด์จีนในอดีตมักถูกมองมุมสินค้าด้อยคุณภาพ ไร้นวัตกรรม และแข่งขันได้ด้วยราคา หรือบางครั้งก็อาจลอก หรือใช้คำวิชาการว่า Reverse Engineering เพื่อให้ได้นวัตกรรมแบบเดียวกันและจำหน่ายด้วยราคาที่จูงใจกว่า ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็ค่อย ๆ สร้างความสำเร็จให้กับหลากหลายแบรนด์จนเติบโตไปมีอิทธิพลในหลายอุตสาหกรรม
หากเจาะไปที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีหลายธุรกิจจีนที่เติบโตจากกลยุทธ์ดังกล่าวจนก้าวขึ้นมาซื้อกิจการแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นผู้คิดค้น และผู้มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมในเวลานั้น เช่น Foxconn ที่เข้าซื้อกิจการ Sharp เมื่อปี 2016 ด้วยมูลค่ากว่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะเวลานั้น Sharp เองประสบภาวะขาดทุน และธุรกิจแข่งขันได้ลำบาก
ยิ่ง Sharp เองเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหน้าจอที่สำคัญของโลก นอกเหนือจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ทำให้ Foxconn ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และซัพพลายเออร์สำคัญของหลายแบรนด์สมาร์ตโฟนของโลก ก็ช่วยต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
ส่วนในกรณีของ Toshiba ที่เป็นอดีตผู้พัฒนาแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำเช่นกัน แต่ด้วยทาง Toshiba มีหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจแบตเตอรี่ ทำให้การแยกธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดูเป็นฝั่งผู้บริโภคทั่วไปออกจากกลุ่มน่าจะเหมาะสมกว่า และน่าจะได้งบประมาณมาช่วยประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้
ผู้ที่มาซื้อกิจการต่อก็ไม่ใช่ใคร แต่คือแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจีน Midea Group ที่เข้ามาถือหุ้นกว่า 80% ในกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Toshiba ด้วยมูลค่ากว่า 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2016 เช่นกัน และไม่ได้ทิ้งแบรนด์ Toshiba แต่จะทำตลาดควบคู่กันไปในแต่ละตลาด ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่มีทั้งสองแบรนด์ทำตลาดคู่กัน
จีนเข้ามาเสียบระหว่างดีล Honda – Nissan
การเข้ามาควบรวมแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักในระดับโลกโดยแบรนด์จีนกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะด้วยเหตุการณ์ล่าสุดที่ดีลระหว่าง Honda กับ Nissan มีแนวโน้มว่าจะล้ม โดยหากอ้างอิงสำนักข่าวต่าง ๆ ที่รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวภายในว่า Nissan ไม่ยอมรับข้อตกลงที่ Honda เสนอมา
เพราะข้อเสนอนั้นจะทำให้ Nissan มีศักดิ์เป็นเพียงบริษัทลูกของ Honda อาจเรียกว่าถ้ามีศักดิ์ที่เท่ากัน ทาง Nissan ก็คงพอเจรจากันได้ แต่อันนี้ให้ไปอยู่ใต้ Honda ที่แม้ปัจจุบันจะทั้งขายรถยนต์ได้มากกว่า, มีรายได้มากกว่า และมีมูลค่ากิจการมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งช้ากว่าราว 10 ปี
เพราะ Nissan เคยยิ่งใหญ่มาก่อน Honda ผ่านการก่อตั้งที่นานกว่า และหากนับย้อนไปปี 2014 หรือ 10 ปีก่อน Nissan ขายรถยนต์ได้มากกว่า Honda เป็นล้านคัน และก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในตลาดรถยนต์โลกด้วยการเป็นกลุ่มพันธมิตร Renault-Nissan ดังนั้นเรื่องศักดิ์ศรีคงยอมกันไม่ได้
แต่ด้วยธุรกิจของ Nissan ในเวลานี้ค่อนข้างอาการหนัก เพราะในตลาดต่าง ๆ เริ่มมียอดขายลดลง โดยเฉพาะตลาดจีน ทำให้ Nissan ต้องหาวิธีในการประคองธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่งก่อนหน้าการมาถึงของ Honda มีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานตรงกันว่า Foxconn หนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้ซุ่มวางแผนควบรวมกิจการ Nissan
แถมการเจรจานั้นมีการเกิดขึ้นแล้วด้วย ผ่านการที่ปัจจุบัน Foxconn ที่อยู่ระหว่างวางแผนลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และจ้างบุคลากรระดับสูงของ Nissan ไปจำนวนหนึ่ง ได้ส่งเจ้าหน้าที่บินไปเจรจากับ Renault หนึ่งในผู้ถือหุ้นสำคัญของ Nissan เพื่อหวังได้แบรนด์รถยนต์เก่าแก่จากญี่ปุ่นรายนี้
จีนที่ยิ่งแกร่งกว่าญี่ปุ่นในเกือบทุกตลาด
หากเทียบประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแบรนด์สินค้าของจีนและญี่ปุ่นก็ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า ในอดีตจีนถูกญี่ปุ่นทิ้งห่างทั้งในแง่ภาพลักษณ์ และส่วนแบ่งตลาดอยู่มาก แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เช่น ตลาดโทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ในอดีตญี่ปุ่นมีบทบาทมาก แต่ปัจจุบันกำลังถูกแบรนด์จีนกินตลาดไปเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ปัจจุบัน BYD เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถมียอดขายติดอยู่ใน 10 อันดับแรก และยังมีแบรนด์จีนอื่น ๆ อีกที่ใช้กลยุทธ์เทคโนโลยี และราคาเข้าจูงใจลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์ในตลาดต่าง ๆ อีกเช่นเดียวกัน
ในฝั่งเทคโนโลยีเอง จีนมีการพัฒนา DeepSeek บริการ Generative AI ที่โด่งดังไปทั่วโลก และถูกมองว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสำคัญ ส่วนทางญี่ปุ่นเองยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้มากนัก เต็มที่อาจเป็นเพียงมุมการลงทุน เช่น SoftBank ประกาศลงทุนใน OpenAI
ยิ่งในประเทศไทยก็ยิ่งชัดเจน เพราะทั้งตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์ รวมถึงสินค้า และบริการอื่น ๆ ที่แต่เดิมเคยถูกญี่ปุ่นครอง ปัจจุบันก็ถูกจีนเข้ามาตีตลาดเกือบทั้งหมดแล้ว และเรียกว่าบริษัทญี่ปุ่นยุคนี้จะอาศัยแค่ความน่าเชื่อถือ หรือภาษีเรื่องความเป็นญี่ปุ่นเพื่อจูงใจลูกค้าได้ตลอดไป
แต่หากคิดดูดี ๆ ก็อาจมีสินค้าหนึ่งที่จีนยังไม่เข้ามาตีตลาดในไทยได้ นั่นคือ ผ้าอนามัย รวมถึง ผ้าอ้อมเด็ก และ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เพราะหากดูแบรนด์ในตลาดนี้ล้วนเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่นเกือบทั้งสิ้น และแทบไม่มีแบรนด์จีนเข้ามาบุกตลาดนี้เท่าไรนัก แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอนว่า จีน จะเข้ามาบุกตลาดนี้ในอนาคตหรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา