เลี้ยงเด็ก 1 คน ใช้จ่าย 3 ล้าน คนไทยหลายคนเลือก ‘ไม่มีลูก’ อีก 50 ปี ไทยจะเหลือประชากรแค่ 41 ล้านคน

เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึง ‘จำนวนประชากรไทย’ เราอาจจะเคยจดจำกันว่า คนไทยมี 70 ล้านคน แต่จริงๆ แล้ว ประเทศไทยไม่เคยมีประชากรถึง 70 ล้านมาก่อน เพราะจำนวนสูงสุดที่เราเคยมีคือ 66.5 ล้านคนต่างหาก

ที่สำคัญ คือ ตอนนี้ไทยผ่านจุดพีคในการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมาแล้ว และเรามีประชากรเหลืออยู่แค่ 65.9 ล้านคนเท่านั้น หรือถ้าเอาตัวเลขเป๊ะๆ จริงๆ คือปัจจุบันมีประชากรอยู่ทั้งหมด 65,951,210 คน

เขาว่ากันว่าอีกหน่อยเราจะมี ‘คนไทย’ เหลือแค่ 41 ล้านคน Brand Inside ชวนสำรวจแง่มุมต่างๆ ของสถานการณ์ประชากรไทยตอนนี้กันว่าเรากำลังเข้าสู่วิกฤตหรือเรากำลังมีโอกาสใหม่กันแน่

คนไทยเกิดน้อยกว่าตาย 4 ปีติดกันแล้ว

ข้อมูลจาก ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’ บอกว่า ในปี 2567 มีประชากรไทยเกิดใหม่แค่ 460,000 คน เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 75 ปี และแทบจะเรียกได้ว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับจากยุคเด็กเกิดล้านในอดีต

เมื่อการเกิดของประชากรลดลง คนไทยจึง ‘เกิด’ น้อยกว่า ‘ตาย’ ทำให้คนไทยหายไปปีละกว่าหมื่นคน จำนวนประชากรไทยจึงลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว

ไทย คือ ประเทศเดียวในภูมิภาคที่ประชากรกำลังลด

ขณะเดียวกัน หากย้อนมาดูสถานการณ์ประชากรของภูมิภาคเรา จะพบว่า ‘ไทย’ เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ประชากร “กำลังลดลง” แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่อยู่ในช่วงขาขึ้นของจำนวนประชากร

ส่วนใหญ่ประเทศที่ประชากรกำลังลดลงจะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ไทยจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรกำลังลดลง

อีก 50 ปี ประชากรไทยเหลือแค่ 41 ล้านคน

ที่สำคัญถ้าย้อนมาดู ‘อัตราการเจริญพันธุ์รวม’ ที่สะท้อนว่าสตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีลูกได้เท่าไรตลอดวัยเจริญพันธุ์ (ปกติจะต้องมีค่า 2.1 ขึ้น จึงจะถึงระดับ ‘ทดแทน’ หรืออัตราที่ทำให้ประเทศนั้นๆ มีประชากรเพิ่มขึ้นได้) พบว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.0 เท่านั้น หรือน้อยกว่าระดับทดแทนเกือบเท่าตัว

ตัวเลขนี้ต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา (1.6) สหราชอาณาจักร (1.6) เยอรมนี (1.4) สวีเดน (1.4) หรือแม้แต่ ‘ญี่ปุ่น’ (1.2) ก็ยังมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมสูงกว่าไทย มีเพียงสิงคโปร์ (0.9) และเกาหลีใต้ (0.7) เท่านั้นที่มีอัตราการเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าไทย

ดังนั้น ต่อจากนี้เฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรไทยจะลดลง 1 ล้านคน
และในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านเป็น 41 ล้านคน

ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้มีงานทำหายไป 15 ล้านคนด้วย

คนไทยมองเกิดน้อยเป็นวิกฤต แต่คนมีคู่แล้วแค่ 30% เท่านั้นที่จะมีลูก

คำถามคือ จริงๆ แล้วคนไทยอยากมีลูกไหม ‘ทัศนคติ’ ของคนไทยต่อการมีลูกเป็นยังไงบ้าง

ผลสำรวจของ ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’ ที่ได้สำรวจคนไทยกว่า 1,042 คน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ (71%) มองว่า สถานการณ์ประชากรเกิดน้อยเป็นวิกฤติ

แต่ขณะเดียวกัน คนไทยที่มีคู่แล้วเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่บอกว่า “จะมีลูกแน่นอน” ขณะที่ส่วนใหญ่ผสมกันระหว่างกลุ่มที่บอกว่า “อาจจะมีลูก” หรือ “ไม่มีลูก”

ที่สำคัญ คือ คน Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังและโอกาสที่จะมีลูกมากที่สุดในตอนนี้ กลับเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบายสนับสนุนให้มีลูกน้อยที่สุดในคนทุกช่วงวัย เพราะคน Gen Y ส่วนใหญ่กว่า 64% บอกว่า เฉยๆ หรือไม่เห็นด้วย

เลี้ยงเด็ก 1 คน ใช้เงิน 3 ล้าน

หนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไทยหลายๆ คนตัดสินใจมีลูกน้อยหรือไม่มีลูก คือ ภาระค่าใช้จ่าย ข้อมูลจากสภาพัฒน์บอกว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน ตั้งแต่อายุ 0-21 ปี คือ 3 ล้านบาท

บางครอบครัวใช้น้อยกว่านี้มาก บางครอบครัวใช้มากกว่านี้มาก โดย เด็กที่เกิดในครัวเรือนที่ฐานะดีที่สุด พ่อแม่จะใช้จ่ายกับเด็กมากกว่าเด็กที่เกิดในครัวเรือนฐานะด้อยสุดถึง 7 เท่า แต่หนักที่สุด คือ ‘ด้านการศึกษา’ ที่ค่าใช้จ่ายต่างกันมากถึง 35 เท่า ซึ่งส่งผลถึงโอกาสของเด็กไปด้วย

เพราะเด็กกลุ่ม 10% ที่ร่ำรวยที่สุดได้เข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลาย 83% และระดับปริญญาตรี 71%
แต่เด็กกลุ่ม 10% ที่ยากจนที่สุดได้เข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลาย 46% และระดับปริญญาตรี 6% เท่านั้น

บทความ ‘เด็กไทยในคำขวัญ จะไม่เป็นแค่ฝัน ต้องปรับระบบการศึกษา’ ของ TDRI ยังอ้างถึงผลสำรวจของ ‘คิด for คิดส์’ ที่บอกว่า เด็กไทยอายุ 15-25 ปีกว่า 40% ไม่เคยเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างพิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือห้องสมุดเลย

และแม้แต่ในหมู่เด็กที่เข้าถึงโอกาส เด็กไทยก็ยังขาด ‘ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง’ สะท้อนผ่านผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) 2022 ที่มีกว่า 81 ประเทศเข้าร่วม โดยผลพบว่า

เด็กไทย 45% ไม่มั่นใจในการวางแผนการบ้านด้วยตนเอง (อันดับ 5 จากท้าย)
เด็กไทย 50% ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอินเทอร์เน็ต (อันดับ 7 จากท้าย)
เด็กไทย 55% ไม่สามารถประเมินคุณภาพข้อมูลที่ค้นพบได้ (อันดับ 6 จากท้าย)

รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ในหมู่เด็กที่เกิดมายังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นจากกรณียากจน กรณีท้องไม่พร้อม หรือกรณีไม่ได้วางแผนการเลี้ยงดู ทำให้ถ้าเข้าไปสำรวจในโซเชียลมีเดียต่างๆ จะเห็นว่าสังคมเองก็ตั้งคำถามว่านอกจากจำนวนการเกิดแล้ว ‘คุณภาพการเกิด’ ก็มีความสำคัญหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดูแล

ปรับมุมมองต่อคำว่า ‘สูงวัย’ 60 ปีคือยังไม่แก่

อีกประเด็นที่ ‘รศ. ดร.เฉลิมพล’ เล่าคือ ‘ทฤษฎีการปันผลทางประชากร’ ที่หมายถึงว่า ต่อให้ไม่ต้องทำอะไรเลย ประเทศประเทศหนึ่งก็สามารถได้ประโยชน์จากการมีเด็กเกิดเยอะและเริ่มเข้าสู่วัยกำลังแรงงานได้ ดังนั้น เมื่อจำนวนประชากรเริ่มลดลง แต่ละประเทศก็จะเริ่มหาวิธีให้เกิดการปันผลทางประชากรในรอบที่สองและสามตามมา

หนึ่งในข้อเสนอของ ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’ คือ อยากให้หันมามองกลุ่มประชากรที่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ คือ ผู้สูงวัย และ ผู้หญิง

เนื่องจาก ผู้หญิง มีส่วนร่วมในกำลังแรงงานต่ำกว่าผู้ชายตลอดช่วงชีวิตราว 15-20% สาเหตุไม่ใช่เพราะผู้หญิงขี้เกียจ แต่เป็นเพราะปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างการดูแลบ้าน ดูแลบุตร และดูแลครอบครัว

อนาคตเมื่อมีเด็กเกิดน้อยลง เราจึงสามารถสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานมากขึ้นได้

อีกอย่าง เราต้องปรับนิยามของคำว่า ‘สูงวัย’ ให้ขยับขึ้นจากวัย 60 ปี เพราะเฉลี่ยแล้วคนไทยมีอายุยืนยาวกว่า 60 ปีมากๆ โดยหลัง 60 ปีไปแล้ว ผู้ชายไทยจะมีอายุอยู่อีกเฉลี่ย 17.5 ปีและผู้หญิงไทยจะมีอายุอยู่อีกเฉลี่ย 23.2 ปี

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก่อน คือ ปรับทัศนคติของสังคมที่มีต่อคำว่า ‘ผู้สูงวัย’ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมขององค์กรและนายจ้างในที่สุด

คนในอยากออก คนนอกไม่ให้เข้า

นอกจากนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าไทยอย่าง ‘สิงคโปร์’ ถึงสามารถมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นได้ (เติบโต 2% ในปี 2567) สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนพลเมือง ผู้ถิ่นพำนักถาวร และผู้ไม่ได้พำนักอาศัยในประเทศที่เพิ่มขึ้น

หรือว่าง่ายๆ คือ นโยบาย Replacement Migration การเปิดต้อนรับบุคลากรผู้มีความสามารถให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงาน เพื่อทดแทนจำนวนประชากรที่ลดลง ทำให้สิงคโปร์มีประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไทยก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

ผลสำรวจของ ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’ บอกว่า คนไทยเห็นด้วยกับการนำเข้าแรงงานข้ามชาติมากกว่าไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะในหมู่คน Gen Y และ Gen Z

แต่คนไทยในกลุ่ม Gen Z กว่า 3 ใน 4 ก็อยากไปทำงานต่างประเทศหรือย้ายประเทศเช่นกัน เรียกง่ายๆ ว่าตอนนี้เราไม่ได้มีนโยบายเปิดต้อนรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการมากนัก แต่พร้อมๆ กันนั้นคนรุ่นใหม่ของเราเองก็อยากออกจากประเทศไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผอ. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่นโยบายเพิ่มการเกิดยากที่จะสำเร็จ แต่อย่างไรก็ต้องเดินหน้านโยบายต่อ เพื่อให้คนที่อยากมีลูกอยู่แล้ว มีลูกได้ง่ายมากขึ้น และอธิบายว่า

“การลดลงของการเกิด การลดลงของประชากรเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ภายใต้ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางประชากร ขอเพียงประเทศตระหนักและวางแผน สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นการเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนแปลง มันจะเป็นวิกฤต เมื่อเราไม่ได้เตรียมพร้อมเท่านั้น ถ้าเตรียมพร้อมก็อาจจะมีโอกาสรออยู่”

แล้วคุณคิดว่าวันนี้ประเทศไทยเตรียมพร้อม พอจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสรึยัง?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา