จะบอกว่า Samart Innovation ของกลุ่มสามารถฯ เป็นโครงการแรกๆ ที่จัดเพื่อบ่มเพาะนวัตกรรม และการทำธุรกิจก็คงไม่ผิดนัก แต่เมื่อมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ การจะดึงดูดนักพัฒนาหน้าใหม่เข้ามาร่วมโครงการก็ไม่ง่าย
แม้ Back เป็นกลุ่มสามารถฯ แต่ใช่ว่าจะง่าย
กลุ่มสามารถฯ เป็นอีกองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศไทย ผ่านพนักงานกว่า 5,000 ชีวิต และมีรายได้ทั้งกลุ่มเกือบ 20,000 ล้านบาท รวมถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจอย่างโชกโชน แต่นั่นอาจไม่ใช่ข้อได้เปรียบในการจัดโครงการบ่มเพาะธุรกิจ หรือ Incubator ในตอนนี้ เพราะมีคู่แข่งที่เป็นบริษัทระดับแสนล้านมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Operator ที่พร้อมใจกันสนับสนุน Startup มากมาย และไหนจะกลุ่มธนาคารที่เข้ามาจัดโครงการบ่มเพาะเกี่ยวกับ Fintech อีก ทำให้นักพัฒนาธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่อยากบ่มเพาะตัวเอง เริ่มมีทางเลือกมากขึ้น และไม่แปลกที่พวกเขาจะเลือกที่ที่มีเงินสนับสนุนเยอะ, ให้ความรู้ในเรื่องธุรกิจเชิงลึก และสร้าง Connection ใหม่ๆ ได้
กนกวรรณ จันทร์สว่างภูวนะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เล่าให้ฟังว่า เมื่อโครงการบ่มเพาะเกิดมากขึ้น และแต่ละโครงการก็มีจุดเด่นของตัวเอง ดังนั้นการจัดในรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงก็คงไม่ดึงดูด และกลายเป็นเวทีประกวดนี้ไม่ได้ขลังเหมือนในอดีตที่ใครๆ ก็อยากส่งผลงานเข้ามา เพื่อชิงรางวัล และโอกาส
เน้นเรื่องประสบการณ์ พร้อมบ่มเพาะกันยาวๆ
“หลาย Incubator ในตอนนี้ต่างเน้นไปที่เรื่อง Pitching มากกว่า ซึ่งมันก็มีข้อดี เพราะช่วยให้อยู่ในหน้าสื่อ และธุรกิจก็จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่นั่นอาจไม่ยั่งยืนหรือเปล่า ทำให้กลุ่มสามารถฯ เลือกจูงใจนักพัฒนาใหม่ๆ ด้วยการบ่มเพาะที่ใช้เวลา 7-8 เดือน พร้อมกับมีพาร์ทเนอร์เป็นหน่วยงานรัฐอย่างสวทช. ในการสร้างโอกาสธุรกิจ”
สำหรับโครงการที่กลุ่มสามารถฯ จัดขึ้นในปีนี้ใช้ชื่อว่า Young Technopreneur โดยร่วมกับสวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นเดิม มีผู้ชนะคือทีม Pet Insure ที่ทำบริการประภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ ได้เงินรางวัลทั้งหมด 2 แสนบาท ส่วนรางวัลรองลงมาเป็นกลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรมเชิงอุปกรณ์ทั้งสิ้น
Startup สายประกวดต่างวนเวียนอยู่ทุกเวที
อย่างไรก็ตาม Pet Insure ไม่ได้เพิ่งเข้าโครงการ Incubator เพราะถ้าหลายคนตามข่าว Startup ก็คงคุ้นชื่อทีมนี้บ้าง และเวที Samart Innovation ก็มี Startup หน้าคุ้นเข้ามาประกวดด้วย เช่น Jub Jai (จับจ่าย) ที่เพิ่งได้รับรางวัลอันดับ 2 ของเวทีธนาคารออมสิน แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีแต่ Startup หน้าเดิมๆ ในการเข้าโครงการอยู่
สรุป
เวที Samart Innovation ถือเป็นเวทีที่เก่าแก่ แต่ความเก่าแก่นั้นคงไม่สามารถดึงดูด Startup หรือนักพัฒนาคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในโครงการนี้ได้ ประกอบกับรุ่นพี่ที่ผ่านโครงการที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ในตลาดก็ไม่ได้มาก มีเพียง lnwshop (เทพช็อป) ที่น่าจะเป็นผู้เข้าโครงการที่สำเร็จที่สุด หากไม่นับทีม Golfdigg ที่เข้าโครงการเช่นกัน แต่ตอนนั้นทำบริการเกี่ยวกับเกม ไม่ใช่บริการจองสนามกอล์ฟเหมือนตอนนี้
ดังนั้นถ้ากลุ่มสามารถฯ และสวทช. ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ การจะจูงใจให้นักพัฒนาหน้าใหม่เข้ามาร่วมโครงการมากขึ้นก็ยากกว่าเดิมแน่ๆ เพราะเมื่อไม่มีรุ่นพี่ตัวอย่างที่ต่อยอดธุรกิจหลังจากออกโครงการได้จริง มันก็แทบไม่มีแรงจูงใจในการเข้าร่วม นอกจากเงินรางวัล และในเวทีก็คงเหลือแต่ Startup สายประกวดเท่านั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา