หลังจากที่ Unilever ซื้อกิจการเครื่องสำอางรายใหญ่ในเกาหลีใต้เกือบ 9 หมื่นล้านบาท ล่าสุด ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ไปเจาะตลาดจีน เป็นเจลอาบน้ำชื่อ “KJU” แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า มันไปคล้องกับชื่อย่อของผู้นำเกาหลีเหนือ ลองไปศึกษากรณีนี้กันดู
Unilever ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ เจลอาบน้ำยี่ห้อ KJU เจาะตลาดจีน
Unilever เพิ่งซื้อกิจการเครื่องสำอางรายใหญ่จากเกาหลีใต้ Carver Korea ในมูลค่า 2,670 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 89,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา จุดประสงค์หลักก็คือต้องการลุยตลาดความสวยความงามในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียเหนืออย่างหนัก
ล่าสุด ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ไปในจีน เป็นเจลอาบน้ำชื่อ “KJU” โดยตั้งใจบุกตลาดจีน เป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ เพราะว่าเจลอาบน้ำรุ่นนี้มีน้ำหอมกลิ่น Romancy Rosy ผสมอยู่ด้วย
แต่สิ่งที่ตกเป็นประเด็นไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่คือชื่อผลิตภัณฑ์ KJU ที่สามารถโยงไปหาคำว่า คิม จอง อึน (Kim Jong Un) ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน
ทันทีที่ตกเป็นข่าวไม่นาน Alan Jope หัวหน้าผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ได้ชี้แจงกับผู้เข้าร่วมประชุมในการลงทุนว่า “หลังจากที่เราจดทะเบียนการค้าแล้ว เพิ่งมารู้ว่า [KJU] มันหมายถึงคิม จอง อึนด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร”
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่า ที่จริงแล้วชื่อ KJU ของ Unilever นี้หมายถึงอะไรกันแน่
กรณีศึกษาการตั้งชื่อแบรนด์ KJU ของ Unilever
ต้องบอกเลยว่า การโยงตัวย่อ KJU ไปเป็นคำว่า คิม จอง อึน (Kim Jong Un) เป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง รับรู้โดยทั่วกัน แต่ถ้าไม่เชื่อลองค้นหาคำว่า KJU ใน Google ดูก็ได้
ทั้งนี้ KJU ก็ยังเป็นชื่อย่อของหลายแบรนด์ด้วย ไม่ได้หมายความถึงแค่คิม จอง อึน เท่านั้น อย่างเช่นองค์กรให้ทุนการศึกษาของชาวมุสลิมในอินเดียก็มีตัวย่อว่า KJU ที่มาจากคำเต็มคือ Kerala Jamiyyathul Ulama หรือจะเป็นชื่อย่อของสนามบิน Kamiraba Airport ในปาปัวนิวกินีก็มีชื่อย่อว่า KJU แถมยังมีร้านอาหารในในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า Le KJU อีกด้วย
เอาเข้าจริง ไม่อยากจะเชื่อว่า Unilever จะพลาดกับการตั้งชื่อสินค้าได้อย่างน่าประหลาดใจถึงเพียงนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก คำแนะนำที่ง่ายที่สุดในการตั้งชื่อ คือคุณควรค้นหาคำนั้นใน Google ดูก่อน อย่างน้อยๆ ก็ตรวจสอบได้ประมาณหนึ่งว่ามีคนใช้ชื่อนั้นไปแล้วหรือยัง
แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะนับเป็นความผิดพลาดของ Unilever ในการตั้งชื่อสินค้าก็อาจจะเรียกได้ในกรณีนี้ แต่กลับกัน ถ้าการตั้งชื่อ KJU เป็นความจงใจของแบรนด์ (ซึ่ง Unilever ก็ให้สัมภาษณ์ไว้แล้วว่าไม่ได้ตั้งใจ) ความหมายของเรื่องนี้ก็จะเป็นอีกแบบ เพราะอย่าลืมว่า สายสัมพันธ์ของจีนกับเกาหลีเหนือยังอยู่ในระดับที่รับกันได้ โดยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของระบอบการเมืองที่ใกล้กันหรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่ยืนยันชัดก็คือจีนยังคงทำการค้าขายกับเกาหลีเหนืออยู่ ส่วนการนำเอาเจลอาบน้ำ KJU เข้าไปเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ในจีน จะขายดีขนาดไหน คงต้องติดตามดูกันต่อไป
อ้างอิง – Bloomberg, NYdailynews, Mashable
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา