หลายคนมองว่า Tattoo หรือการสักลายเป็นเรื่องศิลปะ แต่ที่ญี่ปุ่นเขาไม่มองกันแบบนี้ เพราะศาลแขวงโอซาก้าได้ตัดสินว่า ช่างสักนาม Taiki Masuda ได้กระทำผิดทางกฎหมาย เพราะสักโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
คำตัดสิน กับการทำลายวงการสักลายในญี่ปุ่น
การตัดสินครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยใช้ข้อบังคับทางกฎหมายที่กระทรวงสุขภาพ, แรงงาน และสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น ได้นิยามการสักว่าเป็นการกระทำทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2544 เพราะมีการแทงเข็มที่มีหมึกเข้าไปในผิวหนัง ทำให้การประกอบวิชาชีพนี้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ทางการแพทย์) ด้วย
แต่เมื่อหลายคนมองการสักเป็นเรื่องศิลปะ และช่างสักก็มองอย่างนี้เช่นกัน ทำให้ช่างสักเกือบทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว และลักลอบให้บริการแบบลับๆ หรือถ้าสักกันอย่างเปิดเผย ก็ต้องสอบให้ได้ใบอนุญาต หรือไม่ก็ยอมจ่ายค่าปรับที่ตำรวจจะเข้ามาจับกุมเมื่อไรก็ได้
ซึ่งกรณีของ Taiki Masuda นั้น เขาเลือกให้บริการสักอย่างเปิดเผย และไม่จ่ายค่าปรับด้วย เพราะเมื่อปี 2558 ตำรวจได้บุกเข้าไปยัง Studio ของเขา พร้อมเรียกค่าปรับในการกระทำผิด แต่ช่างคนนี้เลือกที่จะไปพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล พร้อมย้ำชัดว่า การสักเป็นศิลปะ และไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
“ผมไม่ยอมรับกับกฎเกณฑ์ข้อนี้ และยืนยันว่าผมทำงานศิลปะ ที่สำคัญการสักลายก็คือหนี่งในประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่น” Taiki Masuda กล่าว
อย่างไรก็ตามในการตัดสินครั้งนี้ ทางอัยการได้อ้างถึงเรื่องแบคทีเรีย และไวรัสจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง ทำให้เสี่ยงต่อความผิดปกติของผิวหนัง ทำให้การสักของมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ทางทนายของ Taiki ก็ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ เพื่อไปสู้กันในศาลที่สูงขึ้นเรียบร้อยแล้ว
ความเห็นส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้จะไปตัดสินว่าการสักลายคือการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ก็คงไม่ถูกทั้งหมด แต่ความอันตรายจากการสักลายก็มีอย่างที่ศาลแขวงโอซาก้าอ้างไว้ ดังนั้นการตั้งองค์กรกำกับกิจการสักลายขึ้นมา พร้อมออกกฎเกณฑ์เพื่อออกใบอนุญาตการสักลายน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องกว่า
และถ้ามองกลับมายังประเทศไทย ปัจจุบันการการสักลายก็ไม่มีกฎหมายใดๆ ควบคุม ทำให้การประกอบอาชีพนี้ก็สีเทาพอๆ กัน เพราะไม่ต้องเสียภาษี และไม่มีอะไรคุม ดังนั้นถ้าเกิดกฎหมายนี้บ้างในประเทศไทยก็คงกระทบกันเยอะ แต่สำหรับในญี่ปุ่นแล้ว การตัดสินครั้งนี้คงทำลายวงการสักลายในญี่ปุ่นไปไม่มากก็น้อย
อ้างอิง // Japan Times, Kotaku
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา