“มาร์คเป็นตัวของตัวเอง มาร์คผิดตรงไหน”
มาร์คในที่นี้คือ ‘Mark Zuckerberg’ เจ้าของ Meta และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง โดยล่าสุดเขาประกาศผ่อน ‘นโยบายดูแลคอนเทนต์และการตรวจสอบข้อเท็จจริง’ บน Facebook, Instagram และ Threads แล้ว
คำถามคือ ทำไปทำไม?
Zuckerberg ประกาศว่า ในอีกไม่กี่เดือนแพลตฟอร์มของ ‘Meta’ จะไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกต่อไป โดยบริษัทจะเอาระบบ ‘Community Notes’ มาใช้แทน
Community Notes คือข้อความที่ผู้ใช้งานสามารถนำมาใส่ได้ในโพสต์ที่ตนคิดว่าอาจทำให้เข้าใจผิด เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งานคนอื่นๆ
นอกจากนี้ Zuckerberg ต้องการให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยเรื่องการเมืองอย่างเสรี แถมยังลดข้อห้ามในการพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนต่างๆ เช่น ปัญหาผู้อพยพ หรือ ความหลากหลายทางเพศ ด้วย
ทั้งหมดนี้ Zuckerberg บอกว่าทำไปเพื่อ ‘เสรีภาพในการพูด’ หรือ ‘Free Speech’ แต่บางคนกลับไม่เชื่อว่าเขาทำไปเพราะแค่นั้น
แล้วสาเหตุที่คนอื่นคิดคืออะไร มาดูกัน
ทำไปเพราะเอาใจ Trump?
ชาวเน็ตบางส่วนมองว่า มูฟเมนต์นี้ของ Zuckerberg คือทำไปเพื่อเอาใจว่าที่ประธานาธิบดี ‘Donald Trump’ เพราะจริงๆ แล้วที่ผ่านมาซีอีโอ Meta ก็เหมือนจะแอบปลื้ม Trump ไม่น้อย เช่น
- จากเหตุการณ์ที่ Trump ถูกลอบยิง Zuckerberg ชื่นชมว่าเขา “โคตรเอาเรื่อง”
- เดือนสิงหาคม 2024 Zuckerberg ส่งจดหมายขอโทษให้สมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรค ‘Republican’ (พรรค Trump) เนื่องจากแพลตฟอร์มตรวจสอบคอนเทนต์พลาดไป
- ช่วง ‘Thanksgiving’ Zuckerberg ไปร่วมฉลองมื้อเย็นกับ Trump
- สิ้นปี 2024 Zuckerberg ประกาศเปลี่ยนหัวหน้าทีมนโยบายของ Meta จากอดีตนักการเมืองชาวอังกฤษ เป็นแฟนคลับผู้ภักดีต่อ Republican แทน
- ต้นปี 2025 Zuckerberg แต่งตั้งผู้สนับสนุน Trump รายใหญ่เป็นสมาชิกบอร์ดบริหาร
- Meta ย้ายทีมที่ดูแลคอนเทนต์และความปลอดภัยของแพลตฟอร์มไปยัง ‘Texas’ ซึ่งเป็นรัฐที่เต็มไปด้วยแฟนคลับของ Trump
นอกจากนั้น ในฐานะที่ Meta วางตัวว่าตนเองเป็นผู้เล่นหลักของตลาด ‘AI’ มันก็ไม่แปลกที่ Zuckerberg จะต้องการการซัพพอร์ตจากรัฐบาลมากขนาดนี้ และยิ่ง Trump เคยกล่าวหาว่า Facebook คือ “ศัตรูของประชาชน” อีก เขาเลยยิ่งต้องอยากเอาใจว่าที่ประธานาธิบดีหรือเปล่า?
CMO บอก ปกติก็เปลี่ยนนโยบายตามประธานาธิบดีอยู่แล้ว
จริงๆ แล้วทุกอย่างอาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญ จนกระทั่ง ‘Alex Schultz’ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Meta ออกมายืนยันว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้จริงๆ
Schultz กล่าวว่า ปกติบริษัทจะเปลี่ยนนโยบายไปตามวาระของประธานาธิบดีอยู่แล้ว เพราะทุกๆ ผลการเลือกตั้งย่อมมีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งตอนนี้ชาวอเมริกันก็มองเรื่องเสรีภาพทางคำพูดไม่เหมือนเดิมแล้ว
ส่วนเรื่องของการย้ายทีมไป Texas นั้น Zuckerberg เล่าเองว่า เดิมทีออฟฟิศของทีมนี้อยู่ใน ‘California’ ซึ่งเป็นรัฐที่เต็มไปด้วยฝ่ายเสรีนิยม จนทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสงสัยว่า ที่แพลตฟอร์มของ Meta ลำเอียง เพราะมีแต่คนหัวสมัยใหม่หรือเปล่า
ด้วยเหตุนี้ Zuckerberg เลยหวังว่า การย้ายทีมไป Texas จะทำให้ผู้ใช้งานฝ่ายอนุรักษ์นิยมเบาใจบ้างและรู้ว่า Meta ยินดีเปิดรับทุกความเห็นทางการเมือง
ได้ไอเดีย Community Notes มาจากเจ้าพ่อ Tesla
ถ้าพูดถึง Trump แล้ว เราจะพลาดแฟนคลับเบอร์ 1 อย่าง ‘Elon Musk’ ไปได้ยังไง เพราะจริงๆ แล้ว ระบบ Community Notes อันใหม่ของ Meta ก็ได้ไอเดียมาจากแพลตฟอร์ม ‘X’
แม้ Musk และ Zuckerberg จะไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่ แต่พอ Meta ประกาศใช้ระบบนี้ขึ้นมา เจ้าพ่อ Tesla ถึงกับต้องเข้าไปคอมเมนต์ในข่าวว่า “เท่จริงๆ”
แล้วระบบนี้มันดีจริงหรือเปล่า? ถ้าฟังจากปากของ ‘Keith Coleman’ รองประธาน X ผู้มีส่วนช่วยในการพัฒนา Community Notes คอนเซปต์การทำงานของมันคือ ถ้าโน้ตที่ผู้ใช้งานแปะมามีเหตุผลมากพอ คนที่ผ่านมาเห็นโพสต์นั้นๆ ก็สามารถอ่านโน้ตแล้วเข้าใจเนื้อหาได้เลย
ฟังดูเหมือนเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ และผู้ใช้งานยังได้มาช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้แพลตฟอร์มด้วย แต่ในขณะเดียวกัน Community Notes ก็มีข้อเสีย เช่น
- กว่าจะมีคนมาเติมโน้ตเพื่อแก้ไขการเข้าใจผิด ผู้ใช้งานหลักล้านคนก็อาจเห็นโพสต์นั้นไปแล้ว และแชร์ข้อมูลเพี้ยนๆ ต่อๆ กันไป
- จะมาแปะโน้ตได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานจากหลากหลายแบคกราวน์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่า โพสต์นี้อาจก่อความเข้าใจผิด
มันทำให้ ‘ชนกลุ่มน้อย’ อยู่ยากขึ้นบนโลกออนไลน์หรือเปล่า?
นอกจากข้อดีและข้อเสียของ Community Notes แล้ว อิสรภาพในการแสดงความเห็นที่มากขึ้นบนแพลตฟอร์ม ก็ทำให้อินฟลูเอนเซอร์หลายๆ คนกังวลว่า ชนกลุ่มน้อย อย่าง LGBTQ+ หรือผู้อพยพอาจไม่มีที่ยืนบนโซเชียลมีเดียอีกต่อไป
หากไปดูที่ Meta ประกาศเรื่องการปรับนโยบายอย่างละเอียด จะพบว่าบริษัทได้เขียนข้อความในทำนองนี้: “อิงจากมุมมองทางการเมืองและศาสนา แพลตฟอร์มอนุญาตให้ผู้ใช้งานพูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศว่ามีปัญหาทางจิตหรือผิดปกติได้ รวมถึงสามารถเรียกด้วยคำที่ไม่รุนแรงอย่างคำว่า “ประหลาด” ได้”
อินฟลูเอนเซอร์ผู้เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มหลากหลายทางเพศคนหนึ่งมองว่า นโยบายใหม่ของ Meta จะทำให้ LGBTQ+ โดนบูลลี่หนักกว่าเดิม และมันยังเป็นแถลงการณ์ที่เหยียดเพศมากที่สุดตั้งแต่เขาจำความได้
งานวิจัยของ Stanford University เผยว่า การถูกบูลลี่แบบนี้สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งทางกาย ใจ และการเงินในชีวิตจริงด้วย ซึ่งจากตัวเลขปี 2020 ของ Pew Research ราวๆ 70% ของชาวอเมริกันที่เป็น LGBTQ+ ก็เคยโดนคุกคามบนโลกออนไลน์อยู่แล้ว
จริงๆ ไม่ใช่แค่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์และคนทั่วไปหรอกที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะพนักงานของ Meta เองยังบอกว่า บริษัทกำลังละเลยหน้าที่ในการสร้างแพลตฟอร์มให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน
แต่ถามว่า Mark แคร์ไหม? ก็คงไม่ เนื่องจากเมื่อปี 2022 และ 2023 Meta เพิ่งไล่พนักงานออกไปเกือบๆ 25% แถมพนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลย์ออฟนั้น ยังมาจากทีมที่ดูแลความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มด้วย เรียกว่าทางสะดวกสุดๆ
Mark จะไม่เป็นสนามอารมณ์อีกต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามักเห็น Meta พยายามพัฒนานโยบายความปลอดภัยของแพลตฟอร์มอยู่เสมอๆ ถึงขั้นที่ Zuckerberg เคยออกมาเขียนบทความเรียกร้องให้มีการควบคุมคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ
แต่แล้วทำไมจู่ๆ Zuckerberg ถึงไม่ฟังชาวเน็ตอีกต่อไป?
ยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้ที่ Meta เองก็เสี่ยงเสียผู้ใช้งานไปด้วย เพราะแพลตฟอร์มอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนบางกลุ่มอีกต่อไป และ Community Notes ก็อาจไม่เป็นประโยชน์ขนาดนั้น
ที่สำคัญ ถ้า Zuckerberg จะตามรอย Elon จริงๆ มาดูก่อนไหมว่า ตั้งแต่เปลี่ยนผู้บริหาร Twitter (ปัจจุบัน X) ข้อมูลผิดๆ และ Hate Speech บนแพลตฟอร์มก็เยอะขึ้นมาก จนคนหนีไปแอปฯ ใกล้เคียงอย่าง Bluesky หรือ Mastodon แทน
ขนาดนี้แล้ว Zuckerberg ยังไม่กลัวอีกหรอ?
ความจริงคือ Zuckerberg เคยเปรยๆ ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2024 แล้วว่า “หนึ่งในสิ่งที่ผมมองย้อนกลับไปแล้วเสียดายคือ พวกเราฟังความคิดเห็นคนอื่นมากเกินไป จนเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่มันแย่ ทั้งที่จริงๆ เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”
ที่สำคัญ Zuckerberg เชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ Meta ดีขึ้นกว่าเดิม และคนที่เลิกใช้แพลตฟอร์มเพราะเรื่องการปรับนโยบาย ก็เป็นได้แค่ ‘พวกแสร้งทำตัวเป็นคนดี’ ในสายตา Mark
ง่ายๆ คือ Mark จะไม่ยอมเป็นสนามอารมณ์อีกต่อไป
ท้ายสุด คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การปรับระบบครั้งนี้จะทำให้ Meta ดีขึ้นจริงหรือเปล่า? ผู้ใช้งานจะแฮปปี้ไหม? หรือจริงๆ แล้ว ทุกอย่างก็ทำไปเพื่อเอาใจ Trump คนเดียว
ที่มา: Business Insider (1), (2), (3), (4), (5), (6), (7), TIME, CNBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา