ขายแค่ชาไทย แต่รายได้ 160 ล้าน! Karun ไปต่อ ลุยฮ่องกง-เปิดแบรนด์ใหม่ชานมพรีเมี่ยม

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ใครจะคิดว่า ‘ชาไทย’ หนึ่งแก้วจะสามารถขายในราคาแก้วละ 85 บาทขึ้นไปได้ เมื่อตลาดชาไทยส่วนใหญ่ล้วนมีราคาไม่เกินแก้วละ 50 บาท แต่ ‘รัส-ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ’ เจ้าของ Karun Thai Tea หรือ ‘ชาการัน’ เชื่อมั่นในมูลค่าของชาไทยและมั่นใจว่า ‘ชาไทย’ สามารถไประดับโลกได้ตั้งแต่วันแรก

ลูกสาวของคุณแม่ผู้หลงรักชาจากทั่วทุกมุมของประเทศไทย

Karun Thai Tea แบรนด์ชาไทยพรีเมียมภายใต้การบริหารงานของ บริษัท การัน เบฟเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ด้วยฝีมือของหญิงสาวอายุ 25 ปีที่มีคุณแม่รักการดื่มชาไทยเป็นชีวิตจิตใจ เธอจึงได้ทดลองชิมรสชาติของชาจากทั่วทุกภาคของประเทศ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการก่อร่างสร้างธุรกิจ ‘ชาไทย’ ที่ ณ เวลานั้นไม่มีใครขายชาไทยพรีเมียมแม้แต่เจ้าเดียว

‘รัส’ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ เล่าว่า Karun เป็นเจ้าแรกที่เปิดตลาด ‘ชาไทยพรีเมียม’ ในประเทศไทย โดยตั้งแต่วันแรก Karun เลือกเจาะกลุ่มลูกค้าที่ตรงกับคาแรคเตอร์ของแบรนด์ ซึ่งมีความเข้าใจและมีความพร้อมที่จะจ่ายให้กับชาไทยในราคาแก้วละ 100 บาท สาขาแรกของแบรนด์จึงเลือกตั้งในเอ็มควอเทียร์ ที่ในเวลานั้นก็มีชานมแก้วละ 100 บาทจำหน่ายอยู่แล้ว ขณะที่ตลาดชาไทยส่วนใหญ่จะขายในราคาแก้วละประมาณ 50 บาท

หลังเปิดตัว Karun ได้รับการตอบรับดีตั้งแต่สาขาแรกเรื่อยมา โดยครั้งแรกที่ ‘รัส’ ได้รับฟีดแบคกรณีลูกค้าบ่นเรื่องราคาสินค้าแพง การันก็มีสาขากว่า 8 สาขาแล้ว แต่ ‘รัส’ เชื่อว่า Karun สามารถมอบความแตกต่างในการดื่มชาไทยให้กับลูกค้าได้ เพราะความตั้งใจแรกของแบรนด์คืออยากให้ Karun ให้ภาพลักษณ์พิเศษในใจลูกค้า อาจจะไม่ต้องดื่มทุกวัน แต่ดื่มแล้วรู้สึกดี ภาพลักษณ์ดี จนตอนนี้การันเดินทางมาถึงสาขาที่ 15 แล้ว

ยอดขายทะลุ 160 ล้านบาท เติบโต 60% ในปีเดียว

ผู้บริหาร Karun ประเมินว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา Karun ทำรายได้ราว 160 ล้านบาท เติบโต 60% จากปีก่อน แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะขยายสาขาไปเพียง 4 สาขาเท่านั้น สะท้อนการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมและสาขาใหม่

ส่วนในปี 2568 นี้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี Karun จะขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา เน้นเจาะพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ​ และปริมณฑลเป็นหลัก โดนสาเหตุที่แบรนด์เน้นขยายสาขาในช่วงครึ่งปีแรกมากกว่าครึ่งปีหลังก็เพื่อให้สาขาสามารถตั้งหลัก สร้างรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

แม้ว่าจะในระยะหลังจากมี ‘แบรนด์ชาไทย’ ในระดับพรีเมียมที่เป็นเซกเมนต์เดียวกับการันเข้ามาในตลาดจำนวนหลายเจ้า แต่ ‘รัส’ ยังมั่นใจว่า คู่แข่งเข้ามาช่วยขยายตลาดชาไทยพรีเมียมมากกว่ามาแย่งส่วนแบ่งของ Karun

เตรียมลุยนอกไทย เปิดสาขาแรกในฮ่องกง

ปัจจุบันสาขาในเมืองของ Karun ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก หลายๆ สาขาลูกค้าแทบจะเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ‘รัส’ อธิบายว่า เกิดจากกระแสของชาไทยที่ได้รับความสนใจมากขึ้นทั่วโลก จากที่เดิมทีก็มีชื่อในหมู่ชาวต่างชาติอยู่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวหลายๆ คนมองหา ‘ชาไทย’ ทันทีที่มาถึงประเทศไทย และส่งอานิสงส์มาถึง Karun ด้วย

ในอีกไม่นานหลังจากนี้ จะมี Karun สาขาแรกในต่างประเทศแล้ว ด้วยความนิยมของชาไทยในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา มีพาร์ทเนอร์จากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรต ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และชาติอาเซียนติดต่อเข้ามาชวนการันเข้าไปเปิดร้านจำนวนมาก โดย ‘รัส’ มองว่า ความได้เปรียบของชาไทยมาจาก ‘Authentic’ ของชาไทยที่หาไม่ได้จากที่อื่นในโลก

ประเทศแรกที่ Karun เลือกจะไปเปิดคือ ‘ฮ่องกง’ เพราะมองว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนฮ่องกงใกล้เคียงกับคนไทย คือมี Food Culture ที่ให้ความสำคัญกับการกินเช่นเดียวกันกับคนไทย โดยครั้งนี้เป็นการเข้าไปเปิดตลาดเองของ Karun ไม่ได้ผ่านการร่วมทุนแต่อย่างใด

เดือนหน้าเจอแน่ แบรนด์ใหม่ ขายชานมพรีเมียม

นอกจาก Karun แล้วนั้น ปัจจุบันยังมีแบรนด์ในเครืออีกหนึ่งแบรนด์ภายใต้ชื่อ Jaren หรือ เจริญสังขยา ร้านขนมปังสังขยาที่ ‘รัส’ อยากนำเสนอให้คนทั่วไปรู้ว่าสังขยาไม่ได้มีแต่สังขยาใบเตยและชาไทยเท่านั้น แต่ยังมีสังขยาอร่อยๆ อีกหลายรสชาติให้เลือกชิม ปัจจุบันเจริญสังขยามี 2 สาขาแล้ว ได้แก่ เซ็นทรัลเวิล์ด และปาร์คสีลม

สำหรับปี 2568 นี้ ‘รัส’ บอกว่าจะขยายสาขาของเจริญสังขยาเพิ่มอีก รวมถึงยังเตรียมที่จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่อีก 1 แบรนด์เป็นแบรนด์ ‘ชานม’ ภายใต้ชื่อ Avery Wong (เอเวรี่ หว่อง) นำเสนอชานมที่ผสมผสานระหว่างชาตะวันตกและชาตะวันออก สร้างเป็นรสชาติใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากชานมในตลาด โดยจะเปิดสาขาแรกที่ ‘เกษร’ ในช่วงราคาเริ่มต้นราว 100 บาทต่อแก้ว

Avery Wong จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่มีอายุน้อยลงจากกลุ่มลูกค้าของ Karun ที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานเล็กน้อย โดยเน้นเจาะกลุ่มเฟิร์สจ๊อบเบอร์ที่นิยมดื่มชานมและคุ้นเคยกับชานมในช่วงราคานี้มากกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงมีความกล้าที่จะใช้จ่าย คาแรคเตอร์ของ Avery Wong จึงถูกออกแบบมาให้สนุกสนานมากขึ้น

เมื่อถามถึงการแข่งขันในตลาดชานมที่มีคู่แข่งมากและแข่งขันเดือด ‘รัส’ บอกว่า มั่นใจว่าในเซกเมนต์ของ Avery Wong ไม่ค่อยมีคู่แข่งมากนัก และมั่นใจในรสชาติที่แตกต่างจากตลาด เพราะเกิดจากการมิกซ์ชาขึ้นมาใหม่

Karun ไปต่อ ตั้งเป้ารายได้ 230 ล้าน

Brand Inside ชวนเปิดงบกำไรขาดทุนของ Karun ย้อนหลังว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบันรายได้เป็นอย่างไรบ้าง

  • ปี 2566 รายได้ 100 ล้านบาท กำไร 9.1 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 26 ล้านบาท ขาดทุน 9.2 แสนบาท
  • ปี 2564 รายได้ 9 ล้านบาท ขาดทุน 4.1 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 5 ล้านบาท ขาดทุน 7 แสนบาท
  • ปี 2562 รายได้ 2.6 แสนบาท ขาดทุน 1.2 แสนบาท

จะเห็นว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ Karun มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด เช่นเดียวกับในปี 2567 ที่ผ่านมาที่มีรายได้ 160 ล้านบาท และกำไรราว 16 ล้านบาท

ส่วนในปี 2568 Karun ตั้งเป้าจะทำรายได้ 230 ล้านบาท หรือสร้างการเติบโตของยอดขายราว 40% จากปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรราว 10% ของยอดขายเช่นเดียวกับปี 2567

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา