วิจัยเผย ‘คนไทยไม่ต้องรวยก็หรูได้’ เน้นหรูของกินของใช้ แทนของแบรนด์เนม

วิจัยเผย ‘คนไทยไม่ต้องรวยก็หรูได้’ รายได้ 2 หมื่นหรือ 2 แสนก็หลงใหล ‘วัตถุนิยม’ ไม่ต่างกัน คนรายได้น้อย-เงินออมไม่มากมักติดหรูกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม คนรายได้ปานกลางถึงสูงติดหรูเครื่องสำอาง-แฟชัน

ก่อนหน้านี้เราเคยได้อ่านไฮไลท์จากงานวิจัย ‘Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์’ ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ที่พูดถึงอินไซต์ของตลาดหรูในไทยกันมาแล้ว

ล่าสุด ‘ผศ.ดร. สุเทพ นิ่มสาย’ หัวหน้าสาขาการจัดการ และกลยุทธ์การตลาด จาก CMMU ออกมาเล่าเพิ่มถึงปรากฏการณ์สินค้าหรูในไทย หลักๆ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ ตอนนี้ ‘สินค้าหรู’ ไม่ใช่แค่ ‘แบรนด์เนม’ อีกต่อไปแล้ว

แต่ยังรวมถึงสินค้า-บริการอื่นๆ ที่พรีเมียมและราคาสูงกว่าสินค้ากลุ่มเดียวกันด้วย

TOP5 สินค้าหรูในใจคนชอบของหรูรุ่นใหม่ๆ ได้แก่

  • อาหารเครื่องดื่ม
  • บัตรคอนเสิร์ต-กีฬา
  • ท่องเที่ยวแบบกินหรูอยู่สบาย
  • บริการสุขภาพความงาม
  • สินค้าเฉพาะกลุ่มบางอย่าง อาทิ ของสะสม

CMMU บอกว่า หลายคนยอมจ่ายให้ของหรู เพราะไม่ได้มองว่าเป็นแค่สินค้าหรือบริการ แต่เป็นการลงทุนในประสบการณ์ที่หายากและมีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้การใช้จ่ายกลายเป็นการเติมเต็มความสุขทางใจและสร้างการยอมรับทางสังคม

ประเด็นสอง คือ ไม่ต้องรวยก็หรูได้

เพราะ ‘ตลาดของหรู’ ในประเทศไทยไม่ได้เกิดจากคนรวยเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่รายได้ไม่สูงมากที่อยากแสดงตัวตนทางสังคมด้วย

  • กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและเงินออมไม่มาก มักติดหรูสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม
  • กลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงสูง มักติดหรูสินค้าประเภทเครื่องสำอาง แฟชัน

นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังพบอีกว่า ระดับค่าความหลงใหลในวัตถุนิยม (Material Values Scale (MVS) ของผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ไปจนถึงผู้มีรายได้เกิน 200,000 บาท กลับไม่แตกต่าง จึงสรุปได้ว่า ‘รายได้’ ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ ถ้าพึงพอใจก็พร้อมจ่ายเพราะใจลักซ์

ประเด็นสาม คือ หลายคนเลือกลงทุนในความหรูหรา

เมื่อก่อนการซื้อสินค้าหรูมักถูกมองว่าเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบัน สินค้าหรูหลายประเภทกลายเป็นของหายากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู หรือของสะสมลิมิเต็ดเอดิชัน ทำให้หลายคนเห็นว่าเงินที่เสียไป แสนคุ้มค่า เพราะนอกจากจะสร้างความสุขในปัจจุบัน ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา