Nissan Motor, Honda Motor และ Mitsubishi Motors ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อพิจารณาความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมกัน โดยการร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มมูลค่าผ่านการผสานจุดแข็งของทั้งสามบริษัท
แนวทางใหม่ของ Nissan และ Honda
ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2024 Nissan และ Honda ได้ลงนามใน MOU ว่าด้วยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยในเดือนสิงหาคม ทั้งสองบริษัทได้ลงนามใน MOU เพิ่มเติมเพื่อขยายกรอบความร่วมมือเชิงลึกในด้านการวิจัย และพัฒนาพื้นฐานเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์ยุคใหม่
ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมธุรกิจและการเร่งตัวของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ Nissan และ Honda จึงตัดสินใจลงนามใน MOU ฉบับใหม่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2024 เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการผสานธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
ขณะเดียวกัน Mitsubishi Motors ในฐานะพันธมิตรของ Nissan ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการพิจารณาความร่วมมือดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายที่จะตัดสินใจในเดือน ม.ค. 2025 ว่าจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผสานธุรกิจระหว่าง Nissan และ Honda หรือไม่
Takao Kato ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Mitsubishi Motors กล่าวว่า ความร่วมมือที่กำลังพิจารณาระหว่าง Nissan และ Honda จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ และเชื่อว่าการใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทอย่างเต็มที่ผ่านการผสานทางธุรกิจครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว
ร่วมมือเพื่อมุ่งสู่ยอดขาย 30 ล้านล้านเยน
การผสานธุรกิจครั้งนี้คาดว่าจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากร รวมถึงการสร้างความได้เปรียบในขนาดธุรกิจ โดยทั้งสามบริษัทจะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดทั่วโลก
Makoto Uchida ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nissan ระบุว่า การผสานธุรกิจครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งสามบริษัท แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการนำเสนอมูลค่าใหม่แก่ลูกค้าทั่วโลก
ด้าน Toshihiro Mibe ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Honda เสริมว่า การรวมทรัพยากร และความเชี่ยวชาญที่มีจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม และสร้างมูลค่าใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ทั้งนี้การผสานธุรกิจคาดว่าจะนำไปสู่ยอดขายรวมกว่า 30 ล้านล้านเยน หรือราว 6.5 ล้านล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานกว่า 3 ล้านล้านเยน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างบริษัทที่มีความสามารถระดับโลกในด้านยานยนต์และเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การตัดสินใจสุดท้ายเกี่ยวกับการบูรณาการทางธุรกิจจะขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาร่วมกันในเดือน ม.ค. 2025 และความพร้อมในการดำเนินงานของทั้งสามบริษัท
กอส์น ชี้แผนควบรวม Nissan-Honda ไม่ยั่งยืน
ส่วน Carlos Ghosn อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nissan แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยเรียกการเคลื่อนไหวของการควบรวมระหว่าง Nissan กับ Honda ว่าเป็น “ความพยายามที่สิ้นหวัง” หรือ Desperate Move ทั้งสะท้อนถึง “สถานการณ์ตื่นตระหนก” หรือ Panic Mode ของ Nissan
“นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่มีเหตุผลทางธุรกิจ เพราะการผสานกำลังระหว่างทั้งสองบริษัทแทบจะไม่มีความสอดคล้องกันเลย” กอส์นกล่าว “ทั้งสองบริษัททำตลาดเดียวกัน ผลิตสินค้าที่คล้ายกัน และแบรนด์ก็ดูเหมือนจะมีตำแหน่งทางการตลาดที่คล้ายคลึงกัน”
การวิจารณ์ของกอส์นมีน้ำหนักในวงการยานยนต์ เนื่องจากเขาเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนโฉม Nissan ให้กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 แต่ภาพลักษณ์ของเขาเปลี่ยนไปเมื่อถูกจับกุมในญี่ปุ่นในปี 2018 ด้วยข้อหาการกระทำผิดทางการเงิน
“รัฐบาลญี่ปุ่น โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม อาจอยู่เบื้องหลังการผลักดันการควบรวมครั้งนี้” Carlos Ghosn กล่าว
จีนคือตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้
ความสำเร็จของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เช่น BYD กำลังกดดัน Nissan อย่างหนัก โดยข้อมูลจาก ABI Research ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย 70% และในบราซิล 88% ในไตรมาสแรกของปีนี้
แม้ Nissan เคยเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการเปิดตัว Leaf รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกสำหรับตลาดมวลชนในปี 2010 แต่ปัจจุบัน กลยุทธ์ด้าน EV ของบริษัทกลับล่าช้ากว่าคู่แข่งอย่างมาก Nissan เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ยังไม่มีรถยนต์ไฮบริด หรือ Plug-in Hybrid ในตลาดสหรัฐฯ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา