มินิ ประเทศไทย กับการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเอกลักษณ์ ไลฟ์สไตล์ และราคาที่เข้าถึงได้

มินิ ประเทศไทย หรือ MINI Thailand เป็นหนึ่งในรถยนต์ไม่กี่แบรนด์ในประเทศไทยที่มียอดขายเติบโตสวนทางภาพรวมตลาดรถยนต์นั่ง และรถยนต์หรูที่หดตัวอย่างหนักในปี 2024 ผ่านยอดจดทะเบียน 11 เดือนแรกของปี 2024 ที่เพิ่มขึ้น 10% หรือคิดเป็นราว 1,300 คัน

การเติบโตนี้มาจากทั้งปัจจัยเรื่อง เอกลักษณ์ และ ไลฟ์สไตล์ ที่ผู้ซื้อ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ครอบครอง มินิ มักจะรู้จักกันดีอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ยังมีปัจจัยเรื่องราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น โดยเฉพาะ MINI Cooper SE ที่ทำราคาได้เริ่มต้นที่ 1.69 ล้านบาท ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับ MINI รุ่นก่อน ๆ ที่ต้องมีหลักเกือบ 2 ล้านขึ้นไปถึงจะซื้อได้

จากความสำเร็จดังกล่าว Brand Inside มีโอกาสคุยกับ ประภัสรา อร่ามวงศ์สมุทร ผู้อำนวยการ มินิ ประเทศไทย เพื่อทราบถึงกลยุทธ์เบื้องหลัง รวมถึงแผนการสร้างการเติบโต และภาพรวมตลาดรถยนต์นั่ง และรถยนต์หรูในประเทศไทยในปี 2025 ดังนี้

มินิ ประเทศไทย
ประภัสรา อร่ามวงศ์สมุทร ผู้อำนวยการ มินิ ประเทศไทย

เศรษฐกิจ และตลาดรถยนต์ขาลง แต่ มินิ ยังโต

ประภัสรา อร่ามวงศ์สมุทร ผู้อำนวยการ มินิ ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า จากที่ตัวเองทำงานในกลุ่ม BMW Thailand มานานกว่า 13 ปี และเห็นการเคลื่อนไหวของตลาดรถยนต์มาโดยตลอด ในปี 2024 ถือเป็นปีที่ยากที่สุดปีหนึ่ง ผ่านการที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทย และโลกอยู่ในช่วงขาลง และกระทบกับการจับจ่ายรถยนต์อย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์ 11 เดือนแรกของปี 2024 มินิ ประเทศไทย มียอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 4% หรือประมาณ 1,300 คัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มินิสามารถรักษายอดขายได้แม้ในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และการเปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ ได้ช่วยเพิ่มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังได้เป็นอย่างดี

ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทย เพราะในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มรถยนต์นั่งนั้นมียอดจดทะเบียนลดลงถึง 22% ส่วนกลุ่มรถยนต์พรีเมียม (รถยนต์หรู) มียอดจดทะเบียนลดลงถึง 24% แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการทำตลาดของ มินิ ประเทศไทย ได้เช่นกัน

กลับมาผลิตที่ประเทศไทยอีกครั้ง

ขณะเดียวกันในปี 2024 มินิ ประเทศไทย ยังมีอีกหมุดหมายสำคัญคือ การนำ มินิ ให้กลับมาประกอบรถยนต์ในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากยุติการประกอบที่โรงงานระยองมานานถึง 7 ปี โดยการนำกลับมาผลิตนั้นจะเป็นรุ่น MINI Countryman ผ่านการย้ายกลับมาจากการผลิตที่ประเทศมาเลเซีย

“การกลับมาผลิตมินิในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะเราใช้เวลาในการเจรจา และเตรียมการถึง 4 ปี แต่ด้วยศักยภาพของมินิ ประเทศไทย และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรา และบริษัทแม่เลือกกลับมาผลิตที่นี่” ประภัสรา กล่าว ส่วนรุ่นอื่น ๆ ยังนำเข้าอยู่ เช่น จากจีน, เยอรมนี และอังกฤษ

ปัจจุบันโรงงาน BMW Thailand ที่จังหวัดระยองรองรับการผลิตสูงสุดถึง 30,000 คัน/ปี ผลิตทั้งรถยนต์แบรนด์ BMW, MINI และรถจักรยานยนต์ BMW Motorad และถือเป็นโรงงานสำคัญของ BMW Group ของภูมิภาคนี้ ผ่านการที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง ไม่ได้ร่วมมือ (Joint Venture) เหมือนกับโรงงานที่อื่นในภูมิภาคนี้

MINI Cooper SE

เจาะลึกเรื่องประสบการณ์ที่แตกต่าง

ในทางกลับกัน หากย้อนไปที่ความสำเร็จเรื่องการนำเสนอแบรนด์ มินิ ประเทศไทย ยังใช้จุดเด่นเรื่องเอกลักษณ์ และการส่งเสริมเรื่องไลฟ์สไตล์ให้กับผู้ขับ หรือเจ้าของรถยนต์มินิให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หรือไม่ใช่แค่เพียงขายรถยนต์ แต่ขายประสบการณ์ และไลฟ์สไตล์

“ลูกค้ามินิไม่ได้ซื้อแค่รถยนต์ แต่พวกเขาซื้อ ประสบการณ์ และไลฟ์สไตล์ รวมถึงการเข้าร่วมคอมมูนิตี้ที่มินิสร้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างความผูกพันกับแบรนด์” ประภัสรา เสริม โดยปัจจุบัน มินิ ประเทศไทย มีการสนับสนุนกลุ่มผู้ขับมินิ และมีการจัดกิจกรรม MINI United เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน มินิ ประเทศไทย ทำตลาดรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าล้วน มินิ คูเปอร์ เอสอี ได้อยู่ที่ประมาณ 1.69 ล้านบาท, มินิ เอซแมน อยู่ที่ 1.99 ล้านบาท, มินิ คันทรีแมน เอสอี ราคาอยู่ที่ 3.399 ล้านบาท รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ประกอบที่ประเทศเยอรมนี ราคาเลยถือว่าค่อนข้างจะสูงเนื่องจากมีการเสียภาษีนำเข้า

และยังมี มินิ คันทรีแมน เอส ALL4 ที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังเบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร เทคโนโลยี TwinPower Turbo ที่ตอนนี้มาประกอบในไทยทำให้สามารถทำราคาได้อย่างน่าสนใจด้วยรุ่นเริ่มต้น (Entry) ราคาจะอยู่ที่ 2.599 ล้านบาท และรุ่น Hightrim ราคาอยู่ที่ 2.799 ล้านบาท

รถครบ ลูกค้าเพิ่ม รุ่นลิมิเต็ดขายดี

จากรถยนต์ที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้แบรนด์ MINI ไม่ได้มีแต่รถยนต์ที่เน้นการขับขี่สนุก หรือให้ความรู้สึกแบบ Go Kart Feeling แต่ยังตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายรูปแบบตามขนาดที่ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น จึงเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้การทำตลาดรุ่นลิมิเต็ดต่าง ๆ ยังเป็นหัวใจของแบรนด์ เพราะรถยนต์กลุ่มนี้เป็นที่นิยมของนักสะสม และเมื่อมีการนำเข้ามามักจะหมดอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ เช่น MINI Clubman รุ่น Final Edition ที่จำหน่ายเพียง 50 คัน ก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว และกลยุทธ์นี้ยังเดินหน้าต่อในปี 2025

หากเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าจะพบว่า ลูกค้า MINI จะมีอายุราว 30-35 ปี และเริ่มซื้อเป็นรถยนต์คันที่ 1 มากขึ้น จากเดิมที่ MINI มักจะถูกซื้อเป็นคันที่ 2 หรือ 3 ของบ้าน และเฉลี่ยแล้วจะมีการซื้อใหม่ในช่วง 5-6 ปี แต่จำนวนนี้มักจะเป็นการซื้อเพิ่มมากกว่า

มินิ ประเทศไทย

ตั้งเป้าปี 2025 ขอเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่หวือหวา

ประภัสรา ย้ำว่า ในปี 2025 ขอเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้หวือหวา แม้ในปี 2024 จะทำได้ค่อนข้างดีกว่าตลาด รวมถึงภายในงาน Motor Expo ช่วงปลายปียังมียอดจองเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับครั้งก่อนหน้า เพราะในปี 2025 ยังมีความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมปัจจัยเรื่องความมั่นใจของผู้บริโภค และมาตรการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐเช่นกัน

“เราขอเติบโตตามความต้องการตลาด และจะขยายการรับรู้ของแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ในใจทุกคน ทั้งอยากให้มินิเป็นหนึ่งใน Dream Car และอยากให้ลูกค้าได้ลอง เทสต์รถ หลาย ๆ สไตล์มากขึ้นในปีหน้า เพราะว่าประสบการณ์การขับขี่ของมินิเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยตัวอักษร หรือคำพูดไม่ได้”

ทั้งนี้ มินิ ได้วางแผนเพิ่มช่องทางการขายใหม่ ๆ โดยคาดว่าจะเปิดสาขาใหม่อีก 2-3 แห่ง ในปี 2025 รวมถึงการขยายการให้บริการออนไลน์ และดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อรองรับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าในยุคใหม่ การขยายช่องทางเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างการเข้าถึงแบรนด์มินิให้มากขึ้น และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา