เศรษฐกิจท้าทาย กำลังซื้ออ่อนแอ กระทบคนทั่วไป บัตรเครดิต KTC ขยับเจาะกลุ่มรายได้สูงกว่า 50,000 บาท

เรียกว่างานหิน งานโหด สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็หืดขึ้นคอ ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยได้รับผลกระทบเกือบทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ ‘ธุรกิจสินเชื่อ’ ที่เชื่อมโยงกับการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน

Brand Inside คุยกับผู้บริหาร KTC ที่เชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะส่งสัญญาณบวกที่ดีต่อภาพรวมธุรกิจบริการสินเชื่อผู้บริโภค

‘พิทยา วรปัญญาสกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เศรษฐกิจท้าทาย กำลังซื้ออ่อนแอ กระทบธุรกิจสินเชื่อ

‘พิทยา วรปัญญาสกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่เศรษฐกิจมีความท้าทาย กำลังซื้ออ่อนแอ จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อในภาพรวม

แต่เชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยับตัวดีขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ในภาคประชาชน เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นสัญญาณบวกกับธุรกิจบริการสินเชื่อผู้บริโภค

สำหรับทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2568 KTC ตั้งเป้าสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมราว 4-5% และรักษาอัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ให้ไม่เกิน 2%  ผ่านกลยุทธ์หลัก 4 ด้าน 

  1. เข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ด้วยช่องทางดิจิทัล สมัครออนไลน์ 100%
  2. บริหารฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาบริการบนแอป KTC Mobile
  3. เพิ่มประสิทธิภาพช่องทางสื่อสารแอป KTC Moblie, Line Connect, Facebook และเว็บไซต์
  4. พัฒนาทักษะ ติดอาวุธด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากร

ส่วนแผนระยะยาวของ KTC คือ Digital Transformation เพราะ KTC ให้ความสำคัญกับโครงสร้างหลัก 3 อย่าง ได้แก่ คน กระบวนการ และเทคโนโลยี โดยเชื่อว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะทำให้ KTC สามารถเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น สื่อสารกับลูกค้าเก่าได้ดี และสามารถบริหารงานฐานลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ

กำลังซื้อกลุ่มแมสส่อกระทบ ขยับเจาะลูกค้ารายได้สูงกว่า 5 หมื่น

‘ประณยา  นิถานานนท์’ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต KTC อธิบายว่า ปัจจุบัน KTC เติบโตได้ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม จากจำนวนผู้ใช้งานในพอร์ตฟอลิโอมากกว่า 2.2 ล้านคน บัตรเครดิตมากกว่า 2.7 ล้านใบ โดยมีบัตรที่แอคทีฟ (active card) อยู่มากถึง 94% สูงสุดในอุตสาหกรรม

กว่า 60-70% ของลูกค้าบัตรเครดิต KTC เป็นลูกค้ากลุ่มแมสที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไปเป็นหลัก KTC จึงตั้งใจจะขยับไปเจาะลูกค้ากลุ่มบนมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มแมสได้รับผลกระทบ

กลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจจะเจาะ คือ กลุ่มรายได้มากกว่า 50,000 ขึ้นไป ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนราว 20% ของลูกค้าทั้งหมด เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีส่วนสำคัญทำให้ KTC สามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และลูกค้าอีกกลุ่มที่ KTC อยากจะรุกเข้าไปจับมากขึ้น คือ ‘กลุ่มนักศึกษาจบใหม่’ หรือ ‘เฟิร์สจ๊อบเบอร์’ ที่ยังไม่มีบัตรเครดิต

ตั้งเป้าหมายหาลูกค้าบัตรใหม่เพิ่มอีก 250,000 ใบ ด้วยจุดเด่น ‘กิน เที่ยว ช้อป’ โดยเฉพาะกลุ่มกินที่เชื่อมั่นว่า KTC ไม่แพ้ใคร สร้างยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ไม่ต่ำกว่า 320,000 ล้านบาท มุ่งสู่เป้าหมายเติบโต 10-12% ให้กับธุรกิจบัตรเครดิต KTC ปี 2568

โดยเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปและกลุ่มจบใหม่ได้มากขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาให้สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC แบบออนไลน์ 100% ได้ เพราะหลายครั้งลูกค้ากลุ่มรายได้สูงมักจะอยากเก็บรายได้ไว้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องการส่งเอกสารผ่านพนักงานเจ้าหน้าที่

อัตราหนี้เสียต่ำ ตั้งเป้ารักษาคุณภาพลูกหนี้

ในฝั่งของ ธุรกิจบัตรกดเงินสด KTC พราว ‘พิชามน จิตรเป็นธรรม’ ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคลของ KTC อธิบายว่า แม้จะเติบโตลดลง แต่สินเชื่อบัตรกดเงินสด KTC พราวก็ยังคงเติมโตได้ด้วยอัตราหนี้เสีย (NPL) ต่ำกว่าอุตสาหกรรมด้วยอัตรา NPL 2.8% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.3%

ในปี 2568 ตั้งเป้าจะเติบโต 3% หรือเติบโตมากขึ้นกว่าปี 2567 โดยเป็นการเติบโตพร้อมกับคุณภาพ เน้นขยายฐานสมาชิกใหม่ผ่านพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ผ่านการสมัครสินเชื่อออนไลน์ทาง E-Application ที่ลูกค้าสามารถสมัครเองและรู้ผลภายใน 30 นาที

ด้าน สินเชื่อจำนำทะเบียนอย่าง ‘KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงินผู้บริหารอย่างเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี’ ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ของ KTC อธิบายว่า ปัจจุบันขนาดของพอร์ตยังไม่ใหญ่มากนัก แต่มีอัตราหนี้เสียต่ำและคุณภาพหนี้สูง

สิ่งที่จะต่อยอดในปีหน้าจึงเป็นการรักษาคุณภาพลูกหนี้เอาไว้ พร้อมๆ กับขยายช่องทางการให้บริการผ่านสาขาของธนาคารกรุงไทยและพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและเจ้าของกิจการที่เป็นเจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เพื่อมุ่งสู่เป้าเติบโต 3,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา