ถอดรหัสฟาร์มโคนมยั่งยืน ผ่านแนวคิด “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” โดยเนสท์เล่ เพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค

เนสท์เล่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาแล้วกว่า 130 ปี ด้วยกลยุทธ์ 2 ด้าน คือการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค และเพื่อโลกของเราในทุกขั้นตอนการทำธุรกิจ ทั้งการผลิตจากต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยมุ่งเน้นการปกป้องและฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้แผนงานด้านความยั่งยืน Net Zero 2050

ล่าสุดได้เปิดโมเดลการทำฟาร์มโคนมที่เป็นต้นแบบความยั่งยืน ช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการลดคาร์บอนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์จากการได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีต้นทางจากการผลิตที่ยั่งยืน

โลกเดือดทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลง

ตลาดนมพร้อมดื่มโดยรวมในประเทศไทยเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 7% แต่พบว่าปัจจุบันประเทศไทยผลิตน้ำนมดิบได้ประมาณ 2,800-3,000 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาวะโลกเดือด และต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น จำนวนเกษตรกรโคนมลดลง อีกทั้งอุตสาหกรรมโคนมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนอีกด้วย 

ความท้าทายดังกล่าวทำให้เนสท์เล่เดินหน้าร่วมมือกับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการทำฟาร์มโคนมตามหลักการ  เกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) เพื่อบริหารฟาร์มโคนมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ และช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด  ระบุว่า “น้ำนมดิบถือเป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้แบรนด์ยอดนิยม ได้แก่ ไมโล ตราหมี และ เนสกาแฟ เราให้ความสำคัญกับน้ำนมโค และการจัดหาน้ำนมดิบจากฟาร์มโคนมที่ดำเนินงานด้วยความยั่งยืน ดีต่อผู้บริโภคและดีต่อสิ่งแวดล้อม” 

“การทำการเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) นอกจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรในระยะยาว เราให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

“น้ำนมดิบที่เนสท์เล่ใช้ ผ่านมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนครบ 100% แล้ว  และเรายังคงเดินหน้าส่งต่อผลิตภัณฑ์คุณภาพดีถึงมือผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์เนสท์เล่มีรสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร”

โมเดลฟาร์มโคนมต้นแบบด้วย “การเกษตรเชิงฟื้นฟู”

เนสท์เล่ทำงานร่วมกับเกษตรกรเลี้ยงโคนมไทยมานานกว่า 40 ปี และเป็นเจ้าแรกที่นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยมี 3 เรื่องหลักที่นำมาจัดการบริหารฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร คือ

  1. พัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะ จัดการอาหารของวัวให้มีสารอาหารหลากหลาย ด้วยการทำแปลงหญ้าพร้อมถั่วหลากชนิด เพื่อให้มีปริมาณน้ำนมดิบมากขึ้น น้ำนมดิบมีคุณภาพมากขึ้น
  2. จัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการมูลวัวอย่างถูกต้องด้วยการนำไปตากแห้งและทำบ่อไบโอแก๊ส ช่วยลดคาร์บอน และยังสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรจากการจำหน่ายมูลวัว
  3. สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในฟาร์ม ลดต้นทุนด้านพลังงาน

ศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ลงพื้นที่และทำงานใกล้ชิดร่วมกับเกษตรกรมาตลอด ระบุว่า 

“เราทำหน้าที่ดูแลวัตถุดิบเข้าโรงงาน โดยจะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำก็คือฟาร์ม เราเข้ามาดูแลเกษตรกรโคนมที่ส่งนมให้สหกรณ์ และปลายทางคือหน้าโรงงาน และเข้าสู่สายการผลิตของเรา” 

“ปัจจุบันการผลิตน้ำนมดิบมีแนวโน้มลดลงจากเดิม ความท้าทายมาจากข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ผลผลิตต่อตัวต่อวันไม่สูง และยังมีเรื่องของอาหารและการจัดการมูลวัวที่ยังไม่ค่อยดีนัก ตอนนี้อยู่ในสภาวะโลกเดือด ปศุสัตว์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน”

“เราได้แนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากชนิดเพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร เป็นการเพิ่มสารอาหารโปรตีนให้แม่โค ปัจจุบันเราได้ปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กก. ต่อตัวต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก. ต่อตัวต่อวัน”

“เมื่อวัดจากระดับโปรตีนในน้ำนมก็เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากเดิมอยู่ที่ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งการที่ระดับโปรตีนในน้ำนมมีสูงกว่า 3% สะท้อนให้เห็นถึงสุขภาพแม่โคที่สมบูรณ์ ส่งต่อเป็นน้ำนมดิบคุณภาพดีให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ การปลูกพืชหลายชนิดจะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยปกป้องและฟื้นฟูทรัพยาการดินและสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม”

วรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เล่าถึงที่มาในการทำงานร่วมกับเนสท์เล่ว่า “ผมเริ่มสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมพิมายในช่วงปี 2562 เจอปัญหาเยอะ ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนอาหารสูงขึ้น ต้นทุนพลังงานที่สูงเพราะใช้น้ำมันและเครื่องปั่นไฟ”

“ทางฟาร์มต้องลดการให้อาหารโคนมลง จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพนมและปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ลดลงไปด้วย เมื่อเจอปัญหาทางเนสท์เล่ก็ได้จัดทีมมาช่วยดูหน้างานและช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหา”

“ทางเนสท์เล่แนะนำให้ใช้หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาประยุกต์ โดยทำแปลงหญ้ารูซี่ หญ้าไนล์และปลูกพืชถั่วร่วมด้วย ทำบ่อไบโอแก๊สจากมูลวัว ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพราะไฟฟ้าเข้าไม่ถึง” 

“ปัจจุบันใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ 100% และสูบน้ำบาดาลมาใช้กับแปลงหญ้าได้ตลอดทั้งปี และยังนำมูลโคไปตากแห้งขายเพื่อเป็นรายได้เสริมด้วย”

การเกษตรเชิงฟื้นฟู ช่วยดูแลเรื่องอาหารแม่โค และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

อาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ ปกติแล้ววัวกินอาหาร 2 แบบ คืออาหารข้น หมายถึงอาหารโภชนาการสูง เช่น ธัญพืช อาหารเม็ด วัตถุดิบส่วนใหญ่ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งนั้น เช่น โปรตีนจากถั่วเหลือง 

ขณะที่อาหารหยาบคือฟาง แต่ฟางมีโภชนาการน้อยมาก จึงแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปทำแปลงหญ้า ให้มีหญ้าสดหลากหลายสายพันธุ์ มีข้าวโพดหมักให้วัวได้กิน ทำให้ได้น้ำนมคุณภาพดีขึ้นจากอาหารที่ดีขึ้น ได้ปริมาณน้ำนมดิบมากขึ้นด้วย 

เนสท์เล่ยังได้ฝึกอบรมเกษตรกรในเรื่องหลักการให้อาหารเบื้องต้น อาหารข้นต้องคำนวณว่ามีสารอาหารเท่าไร เช่น โปรตีนและพลังงานที่วัวต้องการเท่าไร วัตถุดิบใดเป็นโปรตีน หรือพลังงานไม่ควรให้เกินความต้องการเพราะจะกลายเป็นต้นทุนเพิ่ม และยังมีการเก็บดินไปวิเคราะห์ด้วยเพื่อดูอินทรีย์วัตถุในดิน ดูความหลากหลายทางชีวภาพของหญ้าด้วย

ตัวอย่างจากความหลากหลายทางชีวภาพจากฟาร์มของวรวัฒน์ มีทั้งหญ้ารูซี่ ถั่วฮามาต้า ถั่วดินผี ถั่วไมยรา ถั่วมูโรโต้ และถั่วท่าพระ เป็นต้น

การจัดการมูลวัว ของเสียที่มีประโยชน์ ทำให้ฟาร์มสะอาด เพิ่มประโยชน์แก่ดินและยังสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร

หลายคนมองว่ามูลโคเป็นของเสียในฟาร์ม สกปรก มีกลิ่นเหม็น แต่ถ้าจัดการดีจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญกับฟาร์ม และเป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ด้วย ก่อนหน้านี้เกษตรกรจะตากมูลวัวบนดิน ซึ่งใช้เวลานานเป็นเดือนกว่ามูลวัวจะแห้ง แต่ปัจจุบันทำลานปูนเพื่อตากมูลวัว ใช้เวลาแค่ 5 วันก็แห้งแล้ว ทำให้สามารถจัดการมูลได้รวดเร็ว ทำให้ฟาร์มสะอาด แล้วยังสามารถนำไปมูลวัวตากแห้งไปจำหน่าย มีรายได้เสริมปีละกว่า 40,000 บาท 

นอกจากนี้ ยังมีการทำบ่อสำหรับจัดเก็บขี้วัวเหลว มีน้ำจากบ่อทำให้มูลวัวกลายเป็นปุ๋ยน้ำ สามารถนำมาเป็นปุ๋ยสำหรับแปลงหญ้าอีกที ระยะถัดไปจะเอามูลวัวมาเลี้ยงไส้เดือน เพื่อให้ไส้เดือนกินเยื่อจากมูลของวัว และไส้เดือนจะถ่ายออกมาเป็นมูลไส้เดือน เอาไปจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้นห้าเท่า 

ด้านวรวัฒน์ เวียงแก้ว เสริมเรื่องไบโอแก๊สว่า “ใช้มูลวัวมาทำเชื้อเพลิงเป็นพลังงานได้ โดยมูลวัวในบ่อเมื่อเกิดก๊าซมีเทนแล้ว สามารถมาแปลงสภาพก๊าซมีเทนให้เป็นแก๊สหุงต้ม ส่วนโซลาเซลล์เรานำมาใช้งานตู้เย็น แอร์ ปั๊มน้ำ และเครื่องรีดนมทั้งหมดมาจากพลังงานแสงอาทิตย์”

สรุป

การนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Agriculture มาใช้ในฟาร์มโคนม เป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับการทำฟาร์มโคนม ถือเป็นการทำฟาร์มโคนมที่ช่วยผู้คนในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างหลากหลายรอบด้าน

  • เกษตรกร สามารถลดต้นทุนของการทำฟาร์ม ได้รับผลผลิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ สร้างรายได้มากขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ไปจนถึงการสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น
  • สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ ฟื้นฟูดินและความหลากหลายทางชีวภาพในฟาร์ม ดูแลน้ำ และลดการใช้ปุ๋ยเคมี
  • ผู้บริโภค ได้ผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณค่าโภชนาการที่ดี มีคุณภาพ มาจากการผลิตที่ยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมให้เนสท์เล่สามารถดำเนินงานตามเป้าหมายสู่ Net Zero ในปี 2050 เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำที่การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน นำมาสู่การผลิตอย่างพิถีพิถัน ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อผู้บริโภคไทยทุกคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา