ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอาการหนัก เหตุ Toyota และ Honda ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 มีกำไรจากการดำเนินงานลดลง 19% และ 15% ตามลำดับ ตามรอย Nissan ที่ประกาศปลดพนักงาน 9,000 คน ไปก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนสามารถสร้างผลกระทบกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างหนัก
ยอดขายลดลงในตลาดจีน และทั่วโลก
Business Insider รายงานว่า Toyota ผู้ผลิตรถยนต์เบอร์ 1 ของโลก แจ้งกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income) ในไตรมาสล่าสุด (ก.ค.-ก.ย. 2024) ที่ 1.15 ล้านล้านเยน หรือราว 2.59 แสนล้านบาท ลดลง 19.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 และมีกำไรสุทธิเพียง 5.73 แสนล้านเยน หรือราว 1.29 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน Honda ยังรายงานกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสล่าสุด (ก.ค.-ก.ย. 2024) ที่ 2.57 แสนล้านเยน หรือราว 57,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.6% แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการจำหน่ายรถยนต์ของค่ายรถยนต์ฝั่งญี่ปุ่น
การที่ Toyota และ Honda มียอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญมีเรื่องของประเทศจีนเป็นตัวแปรสำคัญ เช่น การแข่งขันอย่างรุนแรงในประเทศจีนผ่านราคา และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากคู่แข่ง จนยอดขายในจีนของ Toyota ลดลงกว่า 10% ส่วน Honda ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังนี้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคผ่านรถยนต์จากจีนออกมาทำตลาดแข่ง ส่วน Nissan มียอดขายในจีนลดลงราว 5% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
คู่แข่งจากจีนสร้างแรงกดดัน
ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังถูกบีบโดยคู่แข่งในจีนที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าในราคาที่แข่งขันได้ เช่น BYD, Zeekr และ Nio ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป เช่น Mercedes-Benz และ BMW เจอกับแรงกดดันดังกล่าวเช่นกัน
Felipe Munoz นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์จาก JATO Dynamics กล่าวว่า การแข่งขันที่แท้จริงกำลังเกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเผชิญความยากลำบาก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์จีนขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้
กลยุทธ์ไฮบริด: โอกาส หรือข้อจำกัด
กลยุทธ์การมุ่งเน้นไฮบริดของผู้ผลิตญี่ปุ่นเคยประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป แต่ในจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ BEV อย่างเต็มรูปแบบ กลยุทธ์นี้กลับเป็นข้อจำกัดของ Toyota, Honda และ Nissan ที่ไม่มี BEV ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดจีนที่รถยนต์ BEV ราคาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกำลังได้รับความนิยมสูง
Felipe Munoz ชี้ว่า กลยุทธ์ไฮบริดที่เคยได้ผลในตลาดตะวันตกกำลังสร้างความเสี่ยงให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นพึ่งพาตลาดเหล่านี้มากเกินไป ทั้งยังเสียโอกาสทางธุรกิจในตลาดจีน และตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกที่เริ่มให้แบรนด์ญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับ BEV มากขึ้น
เช่น Nissan วางแผนเร่งเปิดตัว BEV ในจีน และไฮบริดในสหรัฐฯ โดยโฆษกของ Nissan ระบุว่า บริษัทกำลังดำเนินมาตรการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และยังมองว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดสำคัญที่คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ ขณะที่ Toyota มีรายงานว่ากำลังขยายกำลังการผลิตในจีนเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตท้องถิ่น
นอกจากจีน ยังเผชิญปัญหาจากสหรัฐฯ
นอกจากนี้ความท้าทายจากการเมืองระหว่างประเทศยังส่งผลกระทบเช่นกัน โดย Honda เตือนว่า ภาษีนำเข้ารถยนต์จากเม็กซิโกที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่เสนออาจมีผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายรายที่มีโรงงานในเม็กซิโก ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ผู้ผลิตญี่ปุ่นต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้
Brand Inside มองว่า จากภาพรวมตลาดข้างต้น ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดโลก ทั้งจากแรงกดดันด้านการแข่งขันในจีน และการเปลี่ยนผ่านสู่ BEV ซึ่งต้องอาศัยการปรับตัว และนวัตกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา