ก่อตั้งมา 32 ปีแล้วกับ ‘ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว’ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ชายสี่ คอร์ปอเรชัน‘ และปรับโครงสร้าง เพื่อเตรียมจะ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้น แปลงสภาพสู่บริษัทมหาชนเต็มตัว
แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเจ้าของแฟรนไชส์ ‘บะหมี่รถเข็น’ ที่มีมากกว่า 4,500 สาขาในประเทศไทย ปัจจุบัน ได้ขยายธุรกิจแบ่งพอร์ตฟอลิโอออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง
ในส่วนของ ธุรกิจแฟรนไชส์ แน่นอนว่านำด้วย ‘ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว’ ที่สร้างรายได้กว่า 85% ให้กับกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่เราอาจไม่คุ้นเคย อาทิ ลูกชิ้นทอด OMG ชายใหญ่ข้าวมันไก่ พันปีหมี่เป็ดย่าง ไก่หมุนคุณพัน อาลีหมี่ฮาลาล
ผู้บริหารของ ชายสี่ฯ ประกาศว่าจะปรับปรุงคุณภาพให้กับแบรนด์ใต้กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ครั้งใหญ่ในปีหน้า เพื่อให้แบรนด์มีจุดต่างมากขึ้น มีจุดขายชัดเจน สดใหม่ และกลับมาดึงดูดใจผู้บริโภคได้อีกครั้ง
ขณะที่กลุ่ม ธุรกิจร้านอาหาร ประกอบไปด้วยร้านที่ก่อตั้งโดยชายสี่ฯ เองอย่าง ‘ชายสี่ พลัส’ บะหมี่ฮ่องกงที่พัฒนาต่อยอดจากชายสี่หมี่เกี๊ยวให้มีความหลากหลายของเมนูเพิ่มขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ห่างไกลจากชายสี่
นอกจากนั้น ยังมีร้านอาหารที่ชายสี่เข้าไปลงทุนเพื่อถือหุ้นใหญ่อย่างคาเฟ่ขนมหวาน Brix หรือแบรนด์หมูกระทะติดแอร์แบบบุฟเฟ่ต์เจ้าแรกของกรุงเทพมหานครอย่าง ‘หมูสองชั้นหมูกระทะ’ รวมถึงร้านก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยาอย่าง ‘เสือร้องไห้’
ผู้บริหารของชายสี่ คอร์ปอเรชัน ยืนยันว่า ปีหน้าจะได้เห็นการขยายสาขาของธุรกิจกลุ่มร้านอาหารเพิ่มอีก 15 สาขา รวมถึงจะเห็นการเข้าไปลงทุนในแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมแน่นอนในอนาคต
สุดท้ายชายสี่ฯ ยังมีธุรกิจ กลุ่มเทรดดิ้ง นำเสนออาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทาน ที่ตอนนี้ได้เข้าไปขายในโมเดิร์นเทรดมากขึ้นแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม ‘อนุชิต สรรพอาษา’ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยอมรับว่า ธุรกิจอาหารในปีนี้เหนื่อย ทำให้แม้กลุ่มจะมีรายได้ราว 1,200 ล้านบาท แต่อาจจะเติบโตไม่ถึง 10%
สาเหตุหลักๆ มาจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้ร้านอาหารจำนวนมากปิดตัวลงไป คนที่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ คือ คนที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี โดยเชื่อว่าปีหน้ากลุ่มแฟรนไชส์จะชะลอตัวลงบ้าง แต่กลุ่มร้านอาหารน่าจะยังมีกำลังซื้อและโตได้อยู่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา