ร้านราเมงในญี่ปุ่นเสี่ยงล้มละลายเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าพลังงานและวัตถุดิบ
ก่อนหน้านี้ ราเมงมักเป็นอาหารที่หาทานง่ายในญี่ปุ่น ใครๆ ก็ทานได้ เข้าถึงง่ายเพราะราคาไม่สูง แต่ล่าสุดเริ่มเข้าถึงยากแล้วเพราะต้นทุนของราเมงเริ่มสูงขึ้น
เจ้าของร้านราเมงในญี่ปุ่นอย่าง Taisei Hikage ก็เป็นผู้ประกอบการอีกหนึ่งรายที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านราเมงของเขาอยู่รอด Hikage เล่าว่า นับตั้งแต่เปิดร้านราเมงมาได้ปีครึ่ง เขาขึ้นราคาอาหารไปแล้วถึง 3 รอบ
เมนูที่ขายดีที่สุดคือราเมงพิเศษ ราคาเพิ่มขึ้นถึง 47% ราคา 1,250 เยน หรือประมาณเกือบ 300 บาท เขาบอกว่าราเมงแบบดั้งเดิมจะมีราคาถูกและอร่อย แต่ตอนนี้ไม่มีราเมงสำหรับมวลชนที่มีราคาแสนถูกอีกต่อไปแล้ว
ไม่ใช่แค่ราเมงจาก Higage ร้านเดียวที่กำลังประสบปัญหา ร้านราเมงในญี่ปุ่นอีกหลายแห่งก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจทำให้ล้มละลายได้
ชาวญี่ปุ่นฝากความหวังไว้ที่การเลือกตั้ง หวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
ประเด็นเรื่องค่าครองชีพสูงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในญี่ปุ่น สังคมกำลังตั้งความหวังกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ และหวังว่าผู้นำคนใหม่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
นายกรัฐมนตรี Shigeru Ishiba ก็เป็นแฟนคลับราเมงตัวยง รวมทั้งพรรคฝ่ายค้าน ก็เคยให้คำสัญญาไว้ตรงกันว่า พวกเขาจะหาทางใช้มาตรการต่างๆ เพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วย
ญี่ปุ่นตกมีภาวะเงินฝืดยาวนานหลายทศวรรษ แถมผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นว่าพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและปกครองญี่ปุ่นยาวนานเกือบตลอดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาจสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาด้วย
ตัวอย่างจากร้านราเมงของ Hikage คือส่วนหนึ่งของการสะท้อนภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ในญี่ปุ่น เขาบอกเลยว่าเขาน่าจะง่วนอยู่กับร้านอาหารจนไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ แต่ก็หวังว่าจะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย Hikage อาศัยวัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศ จึงไม่ลำบากเท่าร้านอื่นๆ อีกหลายแห่งที่อาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาทำราเมง เช่น นำเข้าแป้งมาทำเส้นบะหมี่
ร้านราเมงราว 49 แห่ง มีหนี้อย่างน้อย 10 ล้านเยน ถูกยื่นฟ้องล้มละลายในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้แล้ว ถ้าเทียบกับปี 2020 มีการล้มละลายไปแล้วประมาณ 54 แห่ง
การนำเข้าของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเยนอ่อนค่า เงินเยนแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 34 ปี ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นหลายด้าน ทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ไปจนถึงต้นทุนด้านแรงงาน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกิจการล้มละลายเพิ่มขึ้น 18.6% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมากถึง 4,990 คดี
ที่มา – Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา