9 เดือนแรก ‘ลงทุนไทย’ โตทะลุ 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี

ข้อมูลล่าสุดจาก BOI (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมากถึง 2,195 โครงการ เติบโต 46% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เติบโต 42% ถือเป็นยอดลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี

[ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ] ได้แก่

  1. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท
  2. ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท
  3. ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท
  4. เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท
  5. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท

ถ้าเจาะลงไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่ามีกลุ่มที่ลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

  • กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย
  • กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท
  • กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 61,302 ล้านบาท
  • กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,973 ล้านบาท
  • กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุนรวม 30,515 ล้านบาท
  • กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 351 โครงการ เงินลงทุนรวม 85,369 ล้านบาท

ต่างชาติลงทุนไทย 5.4 แสนล้าน ‘สิงคโปร์’ อันดับ 1

นอกจากนั้น BOI ยังเผยว่า การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เองก็ยังขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้น 66% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38%

[ 5 ประเทศที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ] ได้แก่

  1. สิงคโปร์ 180,838 ล้านบาท
  2. จีน 114,067 ล้านบาท
  3. ฮ่องกง 68,203 ล้านบาท
  4. ไต้หวัน 44,586 ล้านบาท
  5. ญี่ปุ่น 35,469 ล้านบาท

สาเหตุที่มูลค่าการลงทุนของ ‘สิงคโปร์’ สูงขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทแม่สัญชาติจีน-สหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ Data Center นำบริษัทลูกที่จดจัดตั้งในสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในไทย

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ ‘การออกบัตรส่งเสริม’ ที่เรียกว่าใกล้เคียงกับขั้นตอนการลงทุนจริงมากที่สุด โดยปกติบริษัทต่างๆ จะเริ่มทยอยลงทุนภายใน 1-3 ปี หลังจากออกบัตรส่งเสริม โดย 9 เดือนแรก มี ‘การออกบัตรส่งเสริม’ จำนวน 2,072 โครงการ เติบโต 59% และเงินลงทุน 672,165 ล้านบาท เติบโต 101%

‘นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์’ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อธิบายว่า ยอดลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ

โดยการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและ BOI ได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน

“ทิศทางการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่สิ่งที่บีโอไอให้ความสำคัญมากกว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุน คือคุณภาพของโครงการ และประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ

ตอนนี้เป็นจังหวะเวลาสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย

โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มกว่า 1.7 แสนคน จะใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 8 แสนล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา