ไทยมีความเสี่ยงถูกปรับลดเครดิตลง เพราะจุดอ่อนหลายด้าน แถมเศรษฐกิจโตช้า โตต่ำกว่าที่คาดการณ์

ไทยมีจุดอ่อนหลายเรื่อง ทั้งวินัยการคลังอ่อนแอ หนี้สาธารณะเพิ่ม เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า แถมโตต่ำกว่าที่ประเมิน มีความเสี่ยงถูกปรับลดเครดิตเรตติงลง

ปัจจุบันอันดับเครดิตเรตติงไทยอยู่ที่ BBB+ โดย Fitch ประเมินเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2023 ไทยมีจุดแข็งด้านต่างประเทศ คือมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวและกู้ในประเทศ

Thailand
Photo by Akash Rai on Unsplash

แต่จุดอ่อนคือ มิติเชิงโครงสร้าง เช่น รายได้ต่อหัวต่ำ โครงสร้างประชากรไม่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต ส่วนมิติเศรษฐกิจมหภาค หนี้ภาคเอกชนสูง ส่วนมิติการคลัง หนี้ภาครัฐและขาดดุลการคลังสูงขึ้นมาก

ไทยอาจเพิ่มอันดับได้ถ้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยไม่กระตุ้นให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มมากเกินไป

หรือรัฐบาลสามารถลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลงได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็อาจถูกปรับลดอันดับได้ หากไม่สามารถคุมสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ให้มีเสถียรภาพได้

หากความไม่สงบทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนกระทบประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายภาครัฐและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

จุดอ่อนและความเสี่ยงอันดับเครดิตเรตติงไทยน่ากังวลมากขึ้นหลายเรื่อง

1) เรื่องความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ วินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น แผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ของ GDP)

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก Peers ที่สามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐลงมาได้หลังโควิด

2) เสถียรภาพทางการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงด้านสถานการณ์การเมืองลดลงมาก แต่ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อดัชนีธรรมภิบาลของไทย ซึ่ง Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงเพื่อประเมิเครดิตเรตติงประเทศ

3) อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน

หากประเทศถูกลดอันดับเครดิตเรตติงจะเป็นยังไง?

จะทำให้ภาครัฐมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อชำระดอกเบี้ยหรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม

อีกทั้ง ต้นทุนกู้ยืมของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นกัน กดดันการลงทุนในประเทศและเศรษฐกิจภาพรวม

แนวทางลดความเสี่ยง

1) จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณคุ้มค่า ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและปฏิรูปภาษีระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อควบคุมหนี้สาธารณะให้ยั่งยืนขึ้น

2) ออกแบบกลไกติดตามวินัยการคลัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

3) ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้

4) เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจ

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา