ดันเพลงไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์! รัฐบาลไทยฝันไกล ดันศิลปินไทยกินเค้กตลาดเพลงโลก 9.56 แสนล้านบาท

ซอฟต์พาวเวอร์ ยังเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน และเพลงไทยคือหนึ่งในส่วนที่รัฐบาลจะเข้าไปผลักดันเต็มที่ ถึงขั้นจัดทำโครงการ Music Exchange ที่ต้องการพัฒนาศิลปินก้าวสู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงดึงผู้จัด และศิลปินต่างชาติเข้ามาจัดคอนเสิร์ต หรือร่วมงานกับศิลปินไทยเช่นกัน

ยิ่งมูลค่าอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกมีมูลค่าเป็นสถิติใหม่ในปี 2023 ที่ 28,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.56 แสนล้านบาท เติบโต 10.2% จากปี 2022 และมีการเติบโตต่อเนื่อง 9 ปี หากธุรกิจเกี่ยวกับเสียงเพลงในไทยสามารถจับต้องโอกาสทางธุรกิจนี้ได้ก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทยได้ไม่น้อย

โครงการดังกล่าวจะมีรายละเอียดอย่างไร และสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงไทยที่ปี 2023 จะมีมูลค่า 107.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 3,600 ล้านบาท ได้แค่ไหน Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ดังนี้

CEA

อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเติบโตต่อเนื่อง

ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เล่าให้ฟังว่า จากอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกในปี 2023 จะมีมูลค่า 28,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.56 แสนล้านบาท เติบโต 10.2% จากปี 2023 และมีการเติบโตต่อเนื่อง 9 ปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเพลงที่ยังมีอยู่

หากแบ่งเป็นที่มาของมูลค่าดังกล่าวจะพบว่า ตลาดเพลงถูกขับเคลื่อนโดยบริการสตรีมมิง เพราะคิดเป็นสัดส่วนถึง 67.3% จากมูลค่าตลาดเพลงทั่วโลกปี 2023 รองลงมาเป็นสินค้าที่จับต้องได้ (Physical) 17.8% และรายได้จากลิขสิทธิ์ (Performance Rights) ซึ่งตลาดสินค้าที่จับต้องได้นั้นมีการเติบโตสูงที่สุดที่ 13.4%

CEA CEA

“Physical มีการเติบโตเพราะผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการสินค้าที่จับต้องได้มากขึ้น แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยอยู่เมื่อเทียบกับสตรีมมิง ส่วนที่ค่อย ๆ หายไปคือการดาวน์โหลดเพลง เพราะผู้บริโภคหันไปฟังแบบสตรีมมิงมากขึ้น” ชาคริต กล่าว

มากกว่านั้นพื้นที่แอฟริกา, อเมริกาใต้ และเอเชีย คือ 3 ภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงสูงที่สุด โดยเหตุผลหลักมาจากการใช้บริการสตรีมมิง รวมถึงค่าลิขสิทธิ์เพลงที่มีการเติบโตมากขึ้น แต่ในเอเชียจะมีปัจจัยเรื่อง K-Pop และวัฒนธรรมเพลงระดับท้องถิ่นช่วยขับเคลื่อนในพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน

CEA

CEA

ไทยติดท็อป 5 เอเชีย และอันดับที่ 1 อาเซียน

หากเจาะไปที่ประเทศไทยจะพบว่า ตลาดเพลงในไทยปี 2023 มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย ผ่านเม็ดเงิน 107.7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,600 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้สูงสุดในอาเซียน และมากกว่าฮ่องกง รวมถึงไต้หวัน โดยมูลค่าดังกล่าวเติบโต 6.3% จากปี 2022

การเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีในไทยปัจจุบันมาจาก 5 ปัจจัยประกอบด้วย

  • การนำข้อมูลต่าง ๆ มาช่วยออกแบบงาน และธุรกิจเกี่ยวกับเสียงเพลง
  • การนำดนตรีไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นทั้งใน และต่างประเทศ
  • การจัดการลิขสิทธิ์ดนตรีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต
  • การส่งเสริมการจัดงานแสดงดนตรีในประเทศอย่างต่อเนื่อง
  • การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างศิลปินไทย และต่างประเทศ

ทั้งนี้ค่ายเพลงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโต เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญ รวมถึงเป็นผู้ขับเคลื่อนเกี่ยวกับการตลาด ซึ่งรัฐบาล และหน่วยงานมีแผนส่งเสริมให้ค่ายเพลงสามารถเดินหน้าธุรกิจให้ล้อไปกับปัจจัยข้างต้นได้

CEA

สำหรับในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นตลาดเพลงที่มีมูลค่ามากที่สุดที่ 2,700 ล้านดอลลาร์ เติบโต 7.6% และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยตลาดนี้มีเรื่องน่าสนใจคือ Physical Format คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 55% และเป็นอันดับ 1 ของโลก ผ่านสัดส่วน 29.5%

ส่งโครงการ Music Exchange ปั้นวงการเพลงไทย

ชาคริต แจ้งว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงไทย CEA จึงจัดตั้งโครงการ Music Exchange ผ่านการร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี เพื่อส่งเสริมศิลปินและธุรกิจเทศกาลดนตรีของไทยสู่ตลาดสากล รวมถึงมีเป้าหมายสนับสนุนศิลปินไทยในการสร้างปรากฏการณ์ Thai Music Wave สู่ตลาดโลก

โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหลัก 2 ส่วน คือ Push และ Pull

สำหรับ Push จะเน้นส่งเสริมศิลปินทั้งแบบศิลปินเดี่ยว และแบบวง ไม่จำกัดแนวดนตรี ให้ได้แสดงผลงานบนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกในต่างประเทศ ปัจจุบันโครงการ Music Exchange สามารถส่งศิลปินไทยไปแสดงในเทศกาลระดับนานาชาติ จำนวน 48 ศิลปิน/วง ทั้งหมด 46 เทศกาล

CEA

แบ่งเป็นแบบเปิดรับสมัคร (Open Call) ได้แก่ เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ (Music Festival) และงานแสดงดนตรีที่มุ่งเป้าด้านโอกาสทางธุรกิจระหว่างค่ายเพลง ศิลปิน และผู้จัดเทศกาล (Music Conference/Showcase Festival) เช่น วง Pretzelle ที่ได้ไปแสดงที่ Taipei City Idol Expo ที่ไต้หวันในเดือน ก.ค. 2024 เป็นต้น

Pull จะเน้นเชื่อมโยงเครือข่าย และ Business Matching กับผู้จัด ผู้คัดเลือกศิลปิน เอเจนซีเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ และบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลกที่มีผลต่อการส่งออกศิลปินรวม 75 ราย เพื่อให้ผู้ที่มีบทบาทในการคัดเลือกศิลปินไปแสดงผลงานในต่างประเทศเห็นศักยภาพของศิลปินไทยผ่านการเข้าร่วมเทศกาลดนตรีในไทย

CEA

ตั้งเป้าศิลปินไทยถูกเข้าถึง 34.9 ล้านการรับชม

โครงการ Music Exchange มีเป้าหมายระยะยาวประกอบด้วย ภายในปี 2025 จะสามารถส่งศิลปินไทยเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติได้มากกว่า 100 การแสดง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนไทยกำลังทำตลาดอยู่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งยุโรป และอเมริกา

ขณะเดียวกันยังต้องการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ผ่านเทศกาลไทยในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ CEA เชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้กับวงการดนตรีของไทย และสามารถสร้างกระแส Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ได้มากกว่า 34.9 ล้านการรับชม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา