สัมภาษณ์พิเศษ Lightnet Group x WeLab หนึ่งในกลุ่มทุนผู้ท้าชิงใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาในไทย

รู้หรือไม่? 63% ของประชากรไทยยังเข้าไม่ถึงบริการทางการธนาคารเท่าที่ควร และ 58% ของครัวเรือนไทยมีการกู้ยืมนอกระบบ

Lightnet WeLab

‘Virtual Bank’ หรือ ‘ธนาคารไร้สาขา’ คือช่องทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เชื่อว่าจะทำให้กลุ่มคนที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางธนาคาร (Unserved) และกลุ่มที่ไม่เข้าถึงบริการทางธนาคารเท่าที่ควร (Underserved) ได้มีทางเลือกมากขึ้น

Virtual Bank จะมีฟังก์ชันต่างๆ คล้าย Mobile Banking ที่เรานิยมกันในทุกวันนี้ แต่จุดแตกต่างคือธนาคารไร้สาขาจะเปรียบเสมือนกับที่ปรึกษาทางการเงินให้คุณโดยเฉพาะ พร้อมกับบริการที่ไวกว่า ด้วยระบบการจัดการข้อมูลที่ล้ำสมัย

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขาแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งหนึ่งในกลุ่มทุนที่ยื่นขอใบอนุญาตคือกลุ่มทุนที่เกิดจากการร่วมมือระหว่าง ‘Lightnet Group’ กับ ‘WeLab’

Lightnet Group คือบริษัทฟินเทคสัญชาติไทย ที่ให้บริการทางการเงินครอบคลุม 150 ประเทศ ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย เช่น AI และ Blockchain ทั้งยังได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้นชื่อดังมากมาย

ส่วน WeLab คือแพลตฟอร์มฟินเทคชั้นนำในเอเชียแปซิฟิก ที่มีผู้ใช้งานกว่า 65 ล้านราย และเป็นหนึ่งในบริษัทด้านการเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยดูแล Virtual Bank ถึงสองแห่ง ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ฮ่องกง และประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ Lightnet Group และ WeLab ยังมีที่ปรึกษาเป็น หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ลงความเห็นว่า “Virtual Bank ของกลุ่มฯ มีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกับธปท. ที่จะมีการนำแนวทางใหม่ๆ และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงิน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับระบบการเงินของประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยมีใบอนุญาตการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเพียง 3 ใบเท่านั้น หมายความว่าทางกลุ่ม Lightnet Group และ WeLab จะต้องแข่งกับอีก 4 กลุ่มทุน ซึ่งก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

Brand Inside มีโอกาสได้เข้าร่วมการสัมภาษณ์กลุ่มกับทาง Lightnet Group และ WeLab เกี่ยวกับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธนาคารไร้สาขา จึงอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกัน

เปิด 4 กลยุทธ์การจัดตั้ง Virtual Bank ของ Lightnet Group และ WeLab

Lightnet WeLab

  1. Financial Inclusion: การเข้าถึงบริการทางการเงิน

เนื่องจากประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการเงินอยู่ไม่น้อย ทางกลุ่มฯ จึงต้องการให้ลูกค้าประเภท Unserved และ Underserved รวมทั้ง MSME ที่มีความต้องการสินเชื่อมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ของทางกลุ่มฯ ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทันทีผ่าน AI แล้วหลังจากนั้น แพลตฟอร์มจะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยเพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงในระยะยาวมาเสนอ

ที่สำคัญ หิรัญกฤษฎิ์ (ตฤบดี) อรุณานนท์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lightnet Group ยังเผยอีกว่า ทางกลุ่มฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันทางการเงินและธุรกิจมากมาย จนวันนี้ พวกเขาสามารถเข้าถึงประชาชนไทยได้ราวๆ 46 ล้านคน

  1. Extensive Ecosystem and Partnership: ความพร้อมในการร่วมมือกับทุกพันธมิตร

นอกจากกลุ่มลูกค้ากว่า 46 ล้านคนที่ทางกลุ่มฯ เข้าถึงได้ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรแล้ว พวกเขายังสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคผ่านจุดให้บริการกว่า 150,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ภาคเหนือ 18,000 แห่ง
  • ภาคอีสาน 37,500 แห่ง
  • ภาคกลาง 52,500 แห่ง
  • ภาคตะวันออก 13,500 แห่ง
  • ภาคใต้ 28,500 แห่ง

ทางกลุ่มฯ ยึดมั่นในหลักการการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และจะพัฒนาสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น โดยหิรัญกฤษฎิ์ เชื่อว่า ต่อให้ทั้งสององค์กรจะนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขนาดไหนมาใช้ พวกเขาก็ยังจะมุ่งเน้นในการจัดตั้ง Virtual Bank ด้วยรูปแบบธนาคารการชุมชนที่ยั่งยืนอยู่ดี

  1. Proven Track Record: ผลงานที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว

การที่ทางกลุ่มฯ ได้รับใบอนุญาตให้บริการทางการเงินรวมกว่า 20 ใบจากธนาคารกลางในเอเชีย ยุโรป และประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับของหลายประเทศทั่วโลก

ไซมอน หลุง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WeLab มองว่า ด้วยประสบการณ์ที่ทั้งสองบริษัทมี ทางกลุ่มฯ จะสามารถนำเครื่องมือและความรู้มาปรับใช้ในประเทศไทยเกือบจะทันทีเลย หากได้รับใบอนุญาต

  1. New Entrant with Fresh Solutions: ผู้เล่นรายใหม่พร้อมแนวทางใหม่

Lightnet Group กับ WeLab จะนำนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีสินเชื่อล้ำสมัยผ่านระบบ AI หรือโซลูชัน Edge Computing ที่สามารถลดเวลาการส่งข้อมูลและเพิ่มความแม่นยำ มาใช้ในการบริหารจัดการ Virtual Bank

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังสามารถลดเวลาการให้บริการ โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ใช้งาน ด้วยการนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทางการเงิน ซึ่งจากสถิติของ WeLab แล้ว ลูกค้าจะไม่ต้องรอทำการกู้ยืมนานถึง 3 วัน แต่จะใช้เวลาตรวจสอบพร้อมอนุมัติเพียง 2 นาทีเท่านั้น

หิรัญกฤษฎิ์ทิ้งท้ายว่า “ถ้าได้ใบอนุญาต เราจะทำธนาคารรูปแบบใหม่ ธนาคารที่มีนวัตกรรมที่ดีที่สุด ภายใน 12 เดือน เพื่อมาช่วยเติมเต็มให้คนไทยมีชีวิตดีขึ้น”

บทสรุปของธนาคารไร้สาขาในไทยจะเป็นอย่างไร กลุ่มทุนไหนบ้างที่จะได้รับใบอนุญาต และประชาชนชาวไทยจะเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้นจริงหรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา