นี่คือผลการศึกษาของ Professor David Craig หรือศาสตราจารย์ เดวิด เครค นักวิชาการด้านโซเชียลมีเดียชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาทำการศึกษาตลาดและวัฒนธรรมครีเอเตอร์ (Creator Culture) ของไทย โดยได้ทำงานร่วมกับ AIS ในฐานะพาร์ทเนอร์
ศาสตราจารย์ เดวิด เดินทางมาไทยและร่วมงานเสวนา Global Creator Culture Summit เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (Brand Inside ก็ไปร่วมงานด้วย) โดยเป็นเวทีที่ให้ครีเอเตอร์ไทยได้โชว์ของและแลกเปลี่ยนความรู้
ในงานมีความน่าสนใจหลายอย่าง เพราะเนื้อหาเน้นไปที่โอกาสของ Content Creator ไทยในการต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ และสร้างการเติบโตบนแพลตฟอร์มและ Digital Infrastructure ที่แข็งแรง รวมถึงยังเป็นเวทีที่แลกเปลี่ยนมุมมองจากสุดยอด Content Creator คนไทย พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องใน Ecosystem การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์ของประเทศอีกด้วย
ศาสตราจารย์ เดวิด ได้ทำการศึกษารวบรวมจากแหล่งข้อมูลและสัมภาษณ์พูดคุยกับ Creator ชั้นนำของไทยในหลากหลายวงการ และได้จัดทำรายงานออกมาได้อย่างน่าสนใจในหลากมิติ หลายมุมมอง โดยประเด็นสำคัญที่ได้ชี้ให้เห็นในงานศึกษาคือ วงการครีเอเตอร์ไทยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่น่าสนใจได้ดังนี้
- Commerce Creators หรือ ครีเอเตอร์นักขาย
- Socio-Cultural Creators หรือ ครีเอเตอร์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
- Multicultural and Diversity Creators หรือ ครีเอเตอร์ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทางเพศ
- Nomad Creators ครีเอเตอร์สายท่องเที่ยว
Commerce Creators หรือ ครีเอเตอร์นักขาย
กลุ่มนี้มักผสานการโปรโมตสินค้า การรีวิว และการขายของให้เข้ากับเนื้อหาที่แต่ละคนวางไว้ โดยใช้ความมีอิทธิพลของตนในการกระตุ้นการซื้อและสร้างรายได้ผ่านการตลาดแบบเป็นพันธมิตร ผู้สนับสนุน และการขายตรง นับรวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ /KOLs หรือผู้ขายผ่านไลฟ์สด
“Shoppertainment” หรือที่เรียกว่า ครีเอเตอร์นักขาย เป็นอีกคำที่มีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย โดยการส่งเสริมการขายสินค้าและการบริการให้กับชุมชนของครีเอเตอร์แม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของจีนเป็นส่วนใหญ่ เช่น TikTokStore, Lazada หรือ Shopee
นายวุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน หรืออาตี๋รีวิว ได้ให้ข้อมูลจากการพูดคุยว่า “ตอนนี้ก็ใช้ทุกแพลตฟอร์มเลย แพลตฟอร์มที่ใช้หลักๆก็จะเป็น TikTok ส่วนแพลตฟอร์มที่ไม่ใช้ก็จะเป็น Instagram กับ YouTube ตอนนี้ได้ขยายไปยัง Lazada และ Shopee ในฐานะ Social Commerce ความเข้าใจในความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายและการเล่าเรื่องเป็นสิ่งสำคัญมาก ใน TikTok คุณไม่สามารถอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าได้มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา ดังนั้นแทนที่จะเน้นข้อมูลหรือข้อเท็จจริง คุณสามารถทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมได้”
ส่วนทาง นายภัคนิพัทธ์ สุดงาม จาก @NUTTOPAK บอกว่า“การที่เราเริ่มมีชื่อเสียงทำให้แบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจเรามากขึ้น มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวสินค้า เข้าร่วมอีเว้นท์คอนเสิร์ต ไปจนถึงมาราธอนด้วย เราได้พาเพื่อนๆ Influencer มารู้จักกับแบรนด์ เลยได้ช่วยโปรโมทแคมเปญกับเข้างานเปิดตัวสินค้าไปด้วย“
นายกฤษณ์ บุญญะรัง หรือ BieTheSka ก็มีความเห็นว่า “เราเห็นว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่มีการรวบรวมโปรโมชันพิเศษไว้และสื่อบันเทิงของเรา เรามุ่งเน้นที่การโปรโมทอย่างมีประสิทธิภาพ การขายสินค้า และสร้างพื้นที่ให้กับเหล่าครีเอเตอร์”
Socio-Cultural Creators หรือ ครีเอเตอร์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สร้างคอนเทนต์สะท้อนถึงปัญหาสังคมและวัฒนธรรม มุ่งเน้นที่ประเด็นต่างๆ เช่น อัตลักษณ์ ชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น เนื้อหาของพวกเขามักจะมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมในการอภิปรายเกี่ยวกับค่านิยมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
นายอติชาญ เชิงชวโน หรืออู๋ Spin9 ให้ความเห็นว่า “ส่วนตัวผมแบ่งครีเอเตอร์ทั้งหมดในประเทศไทยออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่า ผมเรียกพวกเขาว่า ‘ครีเอเตอร์สายบันเทิง‘ ซึ่งจะเน้นไปที่เนื้อหาที่สร้างความบันเทิงทั้งหมด วัฒนธรรมสมัยใหม่ ภาพยนตร์ ละคร และเพลง บางครั้งก็ Vlog ไลฟ์สไตล์คอนเทนต์ตลกๆทุกอย่าง ส่วนกลุ่มที่สองเราเรียกว่า ‘ครีเอเตอร์สายข้อมูล‘ ซึ่งผมจัดอยู่ในกลุ่มนี้”
นายอรรถพล ทะแพงพันธ์ หรือต้อม iMod ก็ชี้ให้เห็นถึงการทำเป็นครีเอเตอร์ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและสังคม “แนวทางของเราคือการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออะไรสักอย่าง อย่างเช่น เมื่อเราไปสายยานยนต์ เรามุ่งเน้นไปที่การสร้างเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและการใช้งานจริงของเรา อย่าง Tesla ก็จะรีวิวในเชิงใช้งานจริง กลยุทธ์นี้ช่วยให้เราโดดเด่นและได้รับความไว้วางใจ”
ในขณะที่มุมมองจาก นายวัชรพล ฝึกใจดี หรือแจ็ค The Ghost Radio ครีเอเตอร์ที่ทำเรื่องความเชื่อเป็นหลักก็มีแนวทางที่น่าสนใจเช่นกัน “การฟังเรื่องผีไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังได้เรียนรู้ในแง่ของบทเรียนชีวิตด้วย อย่างพวกศีลธรรม กรรม และธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องราวเหล่านี้มักจะมีแง่คิดที่มีคุณค่า ซึ่งผู้ฟังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ พวกเขาส่งเสริมการคิด วิเคราะห์และไตร่ตรองการประพฤติตัวให้อยู่ในศีลในธรรม ส่งเสริมคุณค่าที่ดีในสังคม”
Multicultural and Diversity Creators หรือ ครีเอเตอร์ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทางเพศ
มุ่งเน้นการเผยแพร่ที่มาของวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย มีการเน้นย้ำถึงประเด็นเชื้อชาติบ่อยครั้ง รวมถึงเรื่องเพศและในด้านอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม เช่น ครีเอเตอร์กลุ่ม Queer หรือผู้สร้างสรรค์ที่นำเสนอเรื่องราวท้องถิ่นหรือความเชื่อทางศาสนา
นายธรรมชาติ โยธาจุล จากช่อง Thammachad นำเสนอความคิดเห็นผ่านการทำงานของตัวเองว่า “ช่องของฉันสนับสนุนให้ทุกคนกล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา โดยส่วนตัวแม้ฉันจะไม่ได้เข้าถึงการมีส่วนร่วมการเรียกร้องในเรื่องใดๆ เป็นพิเศษ แต่ฉันแสดงให้ทุกคนเห็นถึงเลือกการแต่งกายอย่างอิสระเสรีแทน หลายคนมักบอกว่าพวกเขาเปิดใจต่อสังคมมากขึ้นเพราะฉัน เพศทางเลือกหลายคนบอกว่าฉันทำให้พวกเขากล้าเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น รวมถึงผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นเกย์หลายคนยังขอบคุณฉันที่ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น”
ในขณะที่ จรีรัตน์ เพชรโสม เจ้าของช่อง baitong__j ก็ให้มุมมองเสริมอีกว่า “คนที่ดูเราส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายอายุประมาณ 35-50 ปี แล้วก็จะมีแฟนๆจากรายการประกวดนางงามที่ดูเรามาจากพี่ๆ LGBTQ+ เยอะเลย หลังการประกวดนางงาม คอนเทนต์ของเราก็แพร่หลายไปหลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะจากฟิลิปปินส์”
Nomad Creators ครีเอเตอร์สายท่องเที่ยว
เป็นผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวบ่อยครั้งและมักทำงานจากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยผลิตเนื้อหาคอนเทนต์จากประสบการณ์การท่องเที่ยว รวมถึงวัฒนธรรมที่พวกเขาพบเจอ หรือแม้แต่กลุ่ม “ครีเอเตอร์จากชนบท” มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นและผลักดันผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นไปสู่ระดับประเทศและต่างประเทศ อาจเป็นตลาดที่สามารถเติบโตต่อไปได้มากขึ้นในระดับสากลและนำไปสู่รายได้ของวัฒนธรรมครีเอเตอร์
นางสาวลักขณา เหียง (มะปราง) จากเพจ PANGDANGNAIHandicraftChiangdao อธิบายว่า “เราถ่ายเกี่ยวกับการทำไร่ทำสวน ถ่ายชีวิตประจำวันของเรา และนำเสนอในรูปแบบเฉพาะของเรา จากการที่เราเผยแพร่นี้ ทำให้เราได้รับความสนใจอย่างมากบนโซเชียลมีเดีย และยังได้รับการสำรวจในการร่วมลงทุนในอนาคต เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อย่างพริกและผลไม้ของเรา
ลี-อายุ จือปา เจ้าของ Akha Ama Coffee ผลิตภัณฑ์กาแฟชื่อดังที่ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์คอนเทนต์ก็บอกย้ำอีกว่า “พวกเราใช้โซเชียลมีเดียในการเชื่อมต่อกับลูกค้า เล่าเรื่องราวของเรา และสร้างความสัมพันธ์กับคนรักกาแฟและผู้สนับสนุนจากทั่วโลก เราได้เห็นตัวอย่างจากสาวชนเผ่าที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างชาญฉลาดในการโปรโมทวิถีชีวิตและสินค้าของเธอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมากๆ”
พาร์ทเนอร์ร่วม AIS
งานศึกษาชิ้นนี้ ศาสตราจารย์ เดวิด ได้ทำงานร่วมกับ AIS โดยร่วมกันจัดงานเสวนา Global Creator Culture Summit โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองจากสุดยอด Content Creator คนไทย พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องใน Ecosystem การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์ของประเทศอีกด้วย
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส บอกว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ Creator ได้ก้าวสู่การเป็นสื่อหลักที่ผู้บริโภคยุคนี้เลือกเปิดรับเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น “หน้าที่ของเราคือ การพัฒนา Digital Infrastructure ที่แข็งแกร่งเพื่อส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อคนไทย ร่วมถึงในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลเรายังพร้อมสนับสนุนการทำงานของ Creator ด้วยเครื่องมือต่างๆ และการเชื่อมโยงทักษะองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่จะเป็นพลัง และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมได้อย่างยั่งยืน”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา