อุปทานหมู่ในดง CEO ทำไมผู้บริหารถึงอยากให้พนักงาน เข้าออฟฟิศทุกวัน

โลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ ก่อนหน้านี้ นั่งทำงานในออฟฟิศกันทุกวัน พอเจอโรคระบาด ก็ต้องเปลี่ยนมา Work from Home แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว คำถามคือ เราต้องกลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศทุกวันเหมือนเดิมหรือเปล่า?

work

เมื่อไม่นานมานี้ Andy Jassy ประธานกรรมการบริหารของ Amazon ประกาศให้พนักงานทุกคนต้องกลับมาทำงานออนไซต์ทุกวันในปี 2025 เพราะเขามองว่าการที่พนักงานได้มาพบเจอกันจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง

ทางด้านบริษัทคอมพิวเตอร์อย่าง Dell เองก็เพิ่งเปลี่ยนกฎการเข้าออฟฟิศ โดยบังคับให้พนักงานแผนกเซลล์ จากที่เคยเข้าบริษัทแค่ 3 วันต่ออาทิตย์ ก็เปลี่ยนเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี และส่งเสริมทักษะพนักงาน

ไม่ใช่แค่ผู้บริหาร Amazon และ Dell เท่านั้นที่มีวิสัยทัศน์นี้ เนื่องจาก 79% ของ CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ 400 แห่งในสหรัฐฯ เผยว่า พวกเขาคาดหวังให้พนักงานทุกคนกลับมาทำงานในออฟฟิศแบบฟูลไทม์ภายใน 3 ปีข้างหน้า 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนรวมถึงพนักงานเอง ยังเชื่อว่าการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง จะทำให้ผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิภาพมากกว่า แต่บรรดาประธานกรรมการบริหารชั้นนำยังมุ่งหน้าที่จะเปลี่ยนเทรนด์การทำงานจากไฮบริดเป็นออนไซต์ 100% อยู่ดี

Sir Cary Cooper ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาองค์กร ออกโรงไม่เห็นด้วยกับการให้พนักงานกลับไปทำงานในออฟฟิศ 5 วัน พร้อมบอกว่าบริษัทที่ออกกฎแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากไดโนเสาร์ล้านปี

ที่สำคัญ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงาน “การกระทำนี้ นอกจากจะทำให้องค์กรสูญเสียคนทำงานเก่งๆ แล้ว ยังทำลายสมดุล สุขภาพจิต และการใช้ชีวิตของพนักงานทุกคนด้วย

แล้วคุณล่ะ คิดว่าเรื่องนี้มันสมเหตุสมผลจริงๆ หรือเป็นเพียงอุปทานหมู่กันแน่?

ต้องทำงานออนไซต์ 100% เพราะผู้นำเชื่ออย่างนั้น

Working

‘Brigid Schulte’ ผู้อำนวยการบริษัท Better Life Lab และผู้แต่งหนังสือ Over Work กล่าวว่าสาเหตุที่ CEO พากันสั่งให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศแบบเดิมนั้นเป็นเพียง Echo Chamber หรือสิ่งที่พวกเขาคิดกันไปเองด้วยการสะท้อนแต่ความเห็นเดิมๆ ในวงแคบๆ

Schulte อธิบายว่า “สาเหตุของการทำงานออนไซต์มาจากความเชื่อผู้นำล้วนๆ ไม่มีหลักฐานอะไรมาอ้างอิง และไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานใดๆ เป็นเพียงการหาข้อมูลมายืนยันในสิ่งที่โมเมเองเท่านั้น”

ผู้นำบางคนอาจคิดว่า หากจะให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ พนักงานทุกคนต้องมีวิธีการทำงานเหมือนกับที่ตนเคยทำ และพอผู้นำมายด์เซ็ตคล้ายๆ กันมาร่วมวงสนทนา หรือเห็นบริษัทอื่นทำในสิ่งที่ตนคาดหวัง พวกเขาก็จะยิ่งเชื่อว่าตัวเองคิดถูกแล้ว 

Schulte ยังเสริมอีกว่า ในหมู่ผู้บริหารที่อยากให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชายแท้ผิวขาว ซึ่งมักจะปลอดภาระใดๆ นอกจากงาน พร้อมมีคนมาคอยปรนนิบัติอยู่ตลอด จนทำให้พวกเขาสามารถอุทิศตัวให้กับบริษัทได้แบบ 150%

การเปลี่ยนแปลงอาจเริ่มมาจากผู้นำที่กล้าหาญหรือพนักงานที่สู้เพื่อความถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ CEO ทุกคนที่จะฟังแต่ความเห็นพรรคพวกโดยไม่แยแสคนอื่น 

อ้างอิงการวิจัยของ Schulte เธอพบว่า ในช่วงโควิด-19 หลายๆ องค์กรกลับมองวิกฤติการล็อกดาวน์เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงบริษัทให้ดีขึ้น ซึ่งผู้นำเหล่านี้จะเริ่มจากการพูดคุยกับพนักงานก่อน แทนที่จะไปมัวแต่คุยกับผู้บริหารระดับสูงๆ

แม้บนโลกนี้จะไม่มีกลยุทธ์หรือเคล็ดลับไหนที่ทำให้ทุกองค์กรประสบความสำเร็จหมด เพราะแต่ละบริษัทต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่ไม่เหมือนกัน ทว่า หัวใจหลักของการเป็นผู้นำที่ดียังคงเป็นการรับฟังความเห็นผู้อื่น และความกล้าที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆ

ดังนั้น เมื่อเกิดอุปทานหมู่แบบผิดๆ มันก็ควรจะมีผู้นำสักคนที่กล้าแสดงความต่างออกไป เพราะใครจะไปรู้ เขาอาจเปลี่ยนความเชื่อของทุกคนไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้

แต่ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังรู้สึกว่าหัวหน้าตนเองไม่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวไปเลย บางทีพนักงานตัวเล็กๆ อย่างเราอาจต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้บริษัทพัฒนาก็เป็นได้

Schulte แนะนำว่า “จงเป็นคนนำร่อง หาข้อมูลมาอ้างอิงเยอะๆ เสนอความคิดเห็น แล้วย้ำมันไปเรื่อยๆ”

ที่มา: Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา