ตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้านบาท ระอุต่อ ช้าง ประกาศเตรียมขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดในเร็ววัน หลังมีส่วนแบ่งตลาดห่างเบอร์ 1 แค่ปลายจมูก ฟาก สิงห์ โต้ปัจจุบันยังเป็นเบอร์ 1 ตลาดเบียร์ในไทย รวมแบรนด์สิงห์ และลีโอมีส่วนแบ่งกว่า 62-63% ทิ้งห่างอันดับ 2 ที่มีอยู่ 32% ย้ำตลาดเบียร์ยังไปได้ดี สวนทางเหล้าสีที่หดตัวหลัก 10%
ช้าง กับมุมมองตลาดเบียร์ในไทย
ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ชี้แจงถึงภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยว่า เบียร์ตัวใหม่ที่เข้ามาในท้องตลาดถือเป็นเรื่องดีเมื่อมีผู้สนใจรายใหม่เข้ามา ยิ่งทุกคนเป็นคนทำมาค้าขาย และตลาดเบียร์ไทยเป็นตลาดเปิด ก็เป็นเรื่องดีที่มีผู้สนใจรายใหม่เข้ามา
ปัจจุบันภาพรวมตลาดเบียร์ไทยขับเคลื่อนโดยแบรนด์ไทย 3 ราย กินส่วนแบ่งรวมกัน 98% ตามด้วยยุโรป 1 ราย และฟิลิปปินส์อีก 1 ราย โดย ฐาปน ไม่ได้แจ้งบริษัทออกมาชัดเจน แต่จากการที่ Brand Inside สำรวจจะพบว่า ไทย 3 ราย คือ ช้าง, สิงห์ และคาราบาว ส่วนยุโรป 1 ราย คือ ไฮนาเก้น ส่วนฟิลิปปินส์คือ ซานมิกเกล
“ฟิลิปปินส์ ที่เข้ามา 18 ปี ก็ไม่สามารถมีส่วนแบ่งตลาดเป็นหลักของตลาดได้ แสดงให้เห็นว่า ตลาดเบียร์ในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ” ฐาปน กล่าว โดยในปี 2024 มีการคาดว่าภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยจะมีมูลค่าราว 2.6 แสนล้านบาท ผ่านการบริโภคราว 2,600 ล้านลิตร
เตรียมขึ้นเบอร์ 1 ของตลาดเบียร์ในไทย
ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ แจ้งว่า ในปีนี้ผลงานธุรกิจเบียร์ในไทยค่อนข้างดี โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2024 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น
“ตลาดเบียร์ในไทยถ้านับตามปีปฏิทินไทยเบฟ (ต.ค. 2023-ก.ย. 2024) ตัวไตรมาส 2 ก็ค่อนข้างดี และไตรมาส 3 ก็ดีขึ้น เพราะมีสงกรานต์ ส่วนไตรมาส 4 ตลาดนี้ก็ยังดีอยู่ ผ่านการเติบโตหลักซิงเกิลดิจิต และแทบจะเป็นเบอร์ 1 ตลาดแล้ว ส่วนเวลาเราบอกได้แค่เว่า เร็ว ๆ นี้เราจะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ได้”
การเตรียมก้าวขึ้นเบอร์ 1 ของ ช้าง ในตลาดเบียร์ มาจาก 6 ปัจจัยประกอบด้วย
- เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่บนชั้นวางสินค้าในร้านค้าอย่างยั่งยืน เพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และสร้างความตื่นเต้นผ่านแพลตฟอร์ม และช่องทางที่หลากหลาย
- ยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผ่านการพัฒนาตราสินค้าแมสพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งช้างโคลด์บรูว์ เฟเดอร์บรอย และช้าง อันพาสเจอไรซ์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการขาย พัฒนาแผนการตลาด และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ
- พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกในกระบวนการจัดซื้อ การผลิต และห่วงโซ่คุณค่า
- ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกด้านของการดำเนินงานและกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและดียิ่งขึ้น
- การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล โดยมุ่งเน้นสามสิ่งสำคัญ ได้แก่ การสร้างโอกาสให้แก่พนักงานมากยิ่งขึ้น การพัฒนาทักษะใหม่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน
- ส่งเสริมความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งยังยึดมั่นในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มอยากดื่มง่ายขึ้น
ทรงวิทย์ เสริมว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในการดื่มเบียร์ที่ประเทศไทยนั้นเริ่มหันไปทางดื่มง่าย และอยากดื่มเบียร์ที่มีนวัตกรรมในการพัฒนาใหม่ ๆ เช่น การลดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการหันไปตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวทำให้ทางกลุ่มเป็นเบอร์ 1 ของตลาดเบียร์ในเวียดนามเช่นกัน
รายได้ธุรกิจเบียร์ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ 9 เดือนแรกปีปฏิทิน ต.ค. 2023-ก.ย. 2024 ทำได้ 93,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่จำนวนลิตรในการจำหน่ายลดลง 2.9% จากผลกระทบทางกฎหมายของธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม โดยในเวลาดังกล่าวบริษัทมีรายได้รวม 2.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5%
ธุรกิจอื่นของ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ เช่น สุรา ทำรายได้ 9 เดือนแรกของปีปฏิทิน ต.ค. 2023-ก.ย. 2024 92,788 ล้านบาท ลดลง 0.9% และจำนวนลิตรที่ขายลดลง 2.7% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปิดที่ 15,553 ล้านบาท เติบโต 4.9% ธุรกิจอาหารปิดที่ 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1%
สิงห์ แจงห่างกันหลัก 30% เรียกใกล้?
ธิติพร ธรรมมาภิมุขกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด แจ้งว่า ปัจจุบัน สิงห์ ยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดเบียร์ในประเทศไทย ผ่านส่วนแบ่งตลาดเมื่อรวมทุกแบรนด์ในมือ (สิงห์, ลีโอ และอื่น ๆ) ราว 62-63% ส่วนทาง ช้าง มีส่วนแบ่งตลาดราว 32% เท่านั้น
“ยืนยันว่าเรายังเป็นเบอร์ 1 ของตลาดนี้อยู่ และคู่แข่งที่ตามหลังมาไม่ได้ไล่จี้เราใกล้อย่างที่แจ้ง” ธิติพร กล่าว โดย สิงห์ มองว่า ที่ตลาดเบียร์ในประเทศไทยเติบโต เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคไปดื่มเหล้าสีตามร้านต่าง ๆ และหันมาดื่มที่บ้านด้วยราคาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเบียร์ที่มีค่าใช้จ่ายราว 60 บาท จึงตอบโจทย์กว่า
ปัจจุบัน สิงห์ มีสินค้าเบียร์ และสุรา ประกอบด้วย เบียร์สิงห์, ลีโอ, มาย เบียร์, สโนวี่ ไวเซ่น, เอส 33 คอปเปอร์, อาซาฮี, คาร์ลสเบิร์ก, โคโรน่า และโครเนนเบิร์ก ส่วนสุราจะมี จินโร, ซิลเวอร์ไนท์ และซิลเวอร์วูลฟ์ ซึ่ง 2 แบรนด์สุดท้าย เพิ่งเริ่มทำตลาดไม่นาน
ร่วมมือ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ยืนหนึ่งตลาดโซดา
ล่าสุด สิงห์ ประกาศความร่วมมือกับ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เพื่อการตลาด รวมถึงผลิตภัณฑ์ โซดาสิงห์ ที่มีฉลากพิเศษร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อตอกย้ำความเป็นตำนานของทั้งสองแบรนด์ และต่างเป็นแบรนด์ที่พร้อมให้แรงบันดาลใจกับคนรุ่นใหม่ได้ ทั้งต่างเป็นแบรนด์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ชายได้อย่างชัดเจน
“โซดาสิงห์เกิดมา 80 ปี ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน อยู่มากว่า 120 ปี แม้แบรนด์ทั้งคู่จะอายุเยอะ แต่ยังดูใหม่ และเป็นที่สนใจอยู่ และถือเป็นความร่วมมือของสิงห์กับโกลบอลแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมาในกลุ่มมอเตอร์ไซค์ จากก่อนหน้านี้เคยร่วมมือกับ ไลก้า แบรนด์กล้องเก่าแก่ระดับโลกมาแล้ว”
ปัจจุบัน โซดาสิงห์ จำหน่ายขวดละ 10 บาท มีส่วนแบ่งตลาดโซดาในไทย 91-92% จากตลาดที่มีการบริโภค 510-520 ล้านลิตร โดยตลาดนี้มีการหดตัว 5% ในปี 2024 เพราะการบริโภคโซดามากกว่า 50% จะดื่มกับเหล้าสี ซึ่งตลาดเหล้าสีนั้นหดตัว 10% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่อำนวย
ต้องทำตลาดตลอดแม้มีแชร์มากกว่า 90%
ธิติพร ย้ำว่า ถึงบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดโซดามากกว่า 90% แต่ยังต้องทำตลาดอยู่ตลอด เพราะคู่แข่งพยายามทำตลาดเพื่อพยายามกินส่วนแบ่งอยู่หลายครั้ง ดังนั้นบริษัทจึงหยุดไม่ได้ แต่มากกว่านั้น บริษัทยังมีแผนเตรียมไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ เช่น เกาหลี และจีน เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจเพิ่มเติม
“ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจโซดามาจากไทย 90% และต่างประเทศ 10% เช่น เกาหลี, จีน และฮ่องกง เพราะที่นั่นกระแสการบริโภค High Ball (เหล้าโซดา) เริ่มมีมากขึ้น จากเดิมที่ดื่มเหล้าเพียวกันเป็นหลัก และคิดว่า 2-3 ปีจากนี้ สัดส่วนจากต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 15% ได้”
ปัจจุบันกลุ่มสิงห์มีรายได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์เป็น 80% ของรายได้รวม ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 20% ด้านการบริโภคโซดาของประเทศไทย 10% เป็นการดื่มโซดาเปล่า, 20% นำไปผสมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ 70% ผสมกับวิสกี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา