ไทยซัมมิท ชี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น เหลือเวลา 4 ปี ให้ปรับตัวรับมือ EV จากจีน

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มไทยซัมมิท ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย รวมถึงแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่น เหลือเวลาเพียง 4 ปี ในการปรับตัวเพื่อรับมือคู่แข่งจากประเทศจีน ที่จะเข้ามาบุกประเทศไทยเต็มกำลังผ่านการผลิต และทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

ไทยซัมมิท

ทุกอย่างกดดัน และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทยเริ่มแสดงถึงความกังวลในการดำเนินธุรกิจ เพราะเบื้องต้นชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ต่าง ๆ ของจีนในไทยมักเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนโดยตรง รวมถึงผู้ผลิตในไทยบางกลุ่มยังไม่พร้อมในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน แบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่น หรือกลุ่มลูกค้าหลักของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยยังทยอยลดกำลังการผลิต หรือบ้างก็เริ่มปิดโรงงาน ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยทำธุรกิจได้ลำบากขึ้น แต่ไม่ใช่กับ ไทยซัมมิท ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่สามารถเติบโตไปกับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่เร่งทำตลาดในประเทศไทย

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มไทยซัมมิท ย้ำว่า “การได้ลูกค้าจีนไม่ใช่เรื่องยาก” โดยทางกลุ่มมีโรงงานในต่างประเทศ 7 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ที่ประเทศจีน รวมถึงได้เซ็นสัญญากับ BYD กับ Changan Automobile ในการจัดหาชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วย

เหลือเวลา 4-8 ปี ให้ผู้ผลิตได้ปรับตัว

ชนาพรรณ เสริมว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยมีเวลา 4-8 ปี เพื่อเตรียมรับมือการเข้ามาของผู้ผลิตยานยนต์จากจีน เพราะในช่วงแรกของการผลิต แบรนด์เหล่านั้นอาจยังไม่ใช้คู่ค้าจากจีนเข้ามาช่วยเรื่องชิ้นส่วน ดังนั้นหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยสามารถเข้าถึงการเป็นคู่ค้าในช่วงเวลานั้นได้ ย่อมสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคตได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามหากพลาดในช่วงเวลาดังกล่าว โอกาสการทำธุรกิจในอนาคตก็ย่อมสูญเสียไปอีกหลายปีด้วย รวมถึงการพึ่งพาแค่ลูกค้าแบรนด์ญี่ปุ่นกลุ่มเดิมอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว และหากจะจับลูกค้าญี่ปุ่น ต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องชิ้นส่วนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเช่นกัน เพราะแต่ละเจ้าได้บุกตลาดนี้จริง และผู้ซื้อให้ความสนใจเช่นกัน

สำหรับกลุ่มไทยซัมมิท ปัจจุบันลูกค้าแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นยังเป็นลูกค้าหลักอยู่ แต่สัดส่วนรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้บริษัทหันไปขยายฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์ตลาดอื่น เช่น อินเดีย และเวียดนาม ส่วนการเปิดโรงงานของ BYD และ Changan Automobile ในไทย จะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น

ทั้งนี้การขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในไทยมีการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลไทยเป็นหลัก โดยบริษัทจีนต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้เท่ากับช่วงที่นำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดเพื่อได้รับการสนับสนุน ส่วนฝั่งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดจากญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการพิจารณานโยบายสนับสนุนเช่นกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมกับฝั่งญี่ปุ่น และผู้เล่นอื่น ๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา