ไทยกำลังจะมี โรงงานชิปต้นน้ำแห่งแรกของประเทศ ลงทุนหมื่นล้าน ใช้เทคโนโลยีเกาหลีใต้

ข่าวดีสำหรับประเทศไทย ‘บีโอไอ’ หนุนบริษัทร่วมทุน ‘ฮานา-ปตท.’ เดินหน้าแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์แห่งแรกภายในสิ้นปีนี้ หวังยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของไทย

โรงงงานชิปไทย

ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่มปตท. ร่วมทุนสร้าง ‘บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด’ (FT1) เพื่อผลิตชิปต้นน้ำ (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศ

ด้วยเงินลงทุนเฟสแรกกว่า 11,500 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบโรงงาน และเตรียมเริ่มก่อสร้างในพื้นที่ ‘สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์’ จังหวัดลำพูน ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างรวมติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 2 ปี ก่อนเริ่มผลิตในไตรมาสแรก ปี 2570

บริษัท FT1 ได้รับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อผลิตชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้ว ซึ่งสามารถทนกระแสไฟฟ้าและความร้อนสูงได้ ต่างจากชิปซิลิคอนทั่วไป

ชิปดังกล่าวจึงเหมาะสมกับการใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการแปลงพลังงานไฟฟ้า (Power Electronics) เช่น เครื่องเซิร์ฟเวอร์ใน Data Center, อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, Inverter ในยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต

บีโอทำงานร่วมกับ FT1 อย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ‘นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์’ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตชิป

โดยในโครงการนี้ ข้อกำหนดหลักของลูกค้าในการเลือกสถานที่ตั้งคือ

  1. ต้องเป็นประเทศที่มีความเป็นกลาง เพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
  2. มีต้นทุนที่แข่งขันได้
  3. มีขีดความสามารถในการขยายกำลังการผลิตในอนาคต

ประเทศไทยสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ทั้งยังมีจุดเด่นอื่นๆ อาทิ

  • โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง
  • ไฟฟ้ามีความเสถียร 
  • มีศักยภาพด้านความสะอาด 
  • บุคลากรมีคุณภาพสูง
  • มาตรการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ระบบกักเก็บพลังงาน และ Data Center กำลังเติบโตสูง

นอกจากนี้ โรงงานของฮานาฯ ในไทย ก็มีการประกอบกิจการที่ต่อเนื่องจากการผลิตชิปอยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบและทดสอบวงจรรวม (IC Assembly and Testing)

นฤตม์กล่าวว่า “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต โครงการลงทุนผลิตชิปครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ นอกจากจะช่วยสร้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยในไทยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์จากเกาหลีใต้แล้ว ยังจะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายอื่น ๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา