“กรุงศรี” ส่งแคมเปญกระตุ้นออม หวังแก้ปัญหาคนรุ่นใหม่ทำหนี้เสีย ทั้งช่วยสร้างแบรนด์เพิ่ม

จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ประเทศไทยที่สูงเกือบ 80% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการบริหารเงินของคนไทยคอนนี้ยังไม่ค่อยดีนัก ยิ่งฝั่งคนรุ่นใหม่ก็มีอัตราถึง 1 ใน 5 ที่มีหนี้เสีย และถ้าปล่อยไปแบบนี้อนาคตประเทศน่าจะมีปัญหาแน่ๆ

กระตุ้นทุกธนาคารช่วยสื่อสาร

จริงๆ แล้วการกระตุ้นการออม รวมถึงบริหารการเงินอย่างถูกวิธีก็มีมาโดยตลอด แต่ด้วยรูปแบบที่ผลิตออกมามันอาจไม่ถูกจริตกับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขายังไม่มีวินัยที่มากพอ ดังนั้นการกระตุ้นให้กลุ่มธนาคารเอกชนช่วยกันสื่อสารอย่างถูกวิธี ไม่ใช่รอนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดในตอนนี้

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูเมอร์ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันหลายธนาคารก็เร่งเครื่องในการสื่อสารเรื่องวินัยทางการเงินออกมามากขึ้น แต่อาจไม่ถูกจุด หรือถูกใจผู้บริโภค ดังนั้นถ้าอยากช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง การปรับการสื่อสาร เช่นใช้ช่องทางออนไลน์ หรือใช้สื่อผสมผสาน เพื่อให้คนที่รับสารอยากปฏิบัติตามมากที่สุด

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูเมอร์

และเพื่อร่วมแก้ปัญหานี้ “กรุงศรี คอนซูเมอร์” จึงจัดแคมเปญภายใต้ชื่อ “ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ออมให้ได้ 20%” ขึ้น ภายใต้แนวคิดนำเงินส่วนที่ใช้จ่ายออกมา 20% และแบ่งสัดส่วนเงินก้อนนี้อย่างละครึ่งเพื่อเก็บไว้ใช้เมื่อฉุกเฉิน กับใช้เพื่อความฝันในอนาคต โดยทั้งหมดจะเน้นสื่อสารข้อมมูลด้วยช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพราะค่อนข้างตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ยอมยอดบัตรไม่โตช่วยชาติ

ขณะเดียวกันในสภาพเศรษฐกิจที่ยังทรงๆ การจะมาเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างภาระหนี้ให้ผู้บริโภคก็คงไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องนัก ตัวอย่างเช่นบัตรเครดิต ซึ่งทางธนาคารก็ไม่ได้เพิ่มดีกรีการทำตลาดมากนัก ประกอบกับความเข้มงวดของนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ยอดบัตรเครดิตไม่เติบโตตามเป้าในแง่จำนวนบัตรใหม่ และยอดเงินสะพัดที่ลดลง 15%

ภาพจาก pixabay.com

“การตีกรอบเรื่องภาระหนี้ด้วยการคุมดีกรีการทำตลาดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็เป็นวิธีที่ดี แม้ธนาคารจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ของช่องทางนี้ลดลงก็ตาม แต่มันก็คุมเรื่องหนี้เสียได้น้อยกว่าปีที่แล้ว เช่นตัวหนี้เสียของบัตรเครดิตก็เหลือ 1.3% จาก 1.45% ในปีก่อน รวมถึงตัวหนี้เสียสินเชื้อส่วนบุคคลก็ลดลงเหลือ 2.9% จากปีก่อน 3.1% เช่นกัน”

คุมออกบัตรใหม่-ชะลอ Direct Sale

สำหรับมาตรการในการออกบัตรเครดิตของทางธนาคารนั้นจะเข้มงวดมากขึ้น ทำให้จากยอดที่ขอบัตรใหม่เข้ามา มีเพียง 40-45% เท่านั้นที่ผ่าน จากช่วงก่อนที่อัตราเกิน 50% รวมถึงยังชะลอการทำตลาดด้วยวิธี Direct Sale ในรูปแบบต่างๆ เพราะใช้ต้นทุนสูง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และบางครั้งก็ไปรบกวนลูกค้าอีกด้วย

สรุป

การกระตุ้นการออมนั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทั้งหมดนี้ต้องสื่อสารคำว่า “วินัยทางการเงิน” ออกไปให้ได้ มิฉะนั้นผู้บริโภคก็จะไม่เข้าใจ และกลายเป็นเนื้อร้ายที่ทำลายอนาคตเศรษฐกิจไทยอีกด้วย เพราะถ้าผู้บริโภคยังก่อหนี้เสียอย่างไม่สิ้นสุด โอกาสที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นก็ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ที่ “กรุงศรี” ทำแบบนี้ ก็มีส่วนสร้างแบรนด์ให้โตในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา