ทำไม ‘สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย’ ส่งออกโตสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

ข้อมูลจากรายงาน ‘พลิกโฉมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย … ก้าวต่ออย่างไร ในวันที่ลมเปลี่ยนทิศ’ ของ SCB IEC กำลังบอกเราว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยกำลังแข่งขันได้ยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเติบโตน้อยลง โลกต้องการลดลง และเงินลงทุนจากต่างชาติก็ต่ำกว่าเพื่อนบ้านด้วย

รายละเอียดของรายงานนี้เป็นอย่างไร Brand Inside สรุปมาให้อ่านกัน

ตอนนี้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกหันไปพึ่ง ‘สินค้าไฮเทค’ มากขึ้น โดยข้อมูลจาก Trade map พบว่า ในปี 2022 เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรรวม เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดโลกต้องการมากที่สุด

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย บางส่วนสามารถเกาะกระแสโลกได้ อย่างเช่นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่ม Power electronics แต่บางสินค้าโลกเริ่มต้องการลดลงและเริ่มเจอกับความเสี่ยงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อาทิ กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

SCB EIC มองว่าการส่งออก ‘สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย’ ในภาพรวมเติบโตน้อยกว่าคู่แข่ง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย (ปี 2012-2022) เติบโตเฉลี่ยราว 3% ขณะที่เวียดนามเติบโตเฉลี่ย 20% และมาเลเซียเติบโตเฉลี่ย 7%

หากมาเจาะดูจากมูลค่าการส่งออกจะพบอีกว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ HDD, เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงวงจรรวม แต่สินค้า 2 ลำดับแรกอย่าง HDD และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงต่อเนื่อง

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่าง ‘เวียดนาม’ และ ‘มาเลเซีย’ จะพบว่าทั้งสองประเทศหันมามุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น อาทิ ชิป สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

[ ทำไมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยถึงขยายตัวจำกัด? ]

1) สินค้าไฮเทคไทยมีการลงทุนทางตรงน้อยกว่าเพื่อนบ้านคู่แข่ง

SCB EIC พบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีของอาเซียนเติบโต 24% ต่อปีและของไทยเติบโต 19% ต่อปีในช่วงปี 2015-2023

ในปี 2023 มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 32,416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) โดย ‘มาเลเซีย’ ครองสัดส่วนการลงทุนสูงสุด 53% รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม 15%, สิงคโปร์ 14% และไทย 13%

2) สินค้าไฮเทคระดับต้นน้ำไทยขาดการวิจัย-พัฒนา

สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ใน ‘กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางและขั้นปลาย’ โดยในปี 2022 พบว่า ไทยมีสัดส่วนการส่งออกอุปกรณ์ชิป ‘ระดับต้นน้ำ’ และ ‘กลางน้ำ’ เพียง 1.7% ของสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างมาเลเซียและเวียดนามที่มีสัดส่วนการส่งออกชิปอยู่ที่ราว 5% และ 4% ตามลำดับ

3) ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

ผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD พบว่า ปี 2023 ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านองค์ความรู้ดิจิทัล-เทคโนโลยีอยู่ในลำดับที่ 41 จาก 63 ประเทศ และอันดับ 3 จากอาเซียน 5 ประเทศ

สรุป คือ ทั้ง 3 เหตุผลอย่างสินค้าไฮเทคไทยมีการลงทุนทางตรงน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ขาดการวิจัยและพัฒนาสินค้าไฮเทคระดับต้นน้ำ และขาดแคลนแรงงานทักษะสูงๆ เป็นที่มาที่ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเติบโตได้น้อยกว่าเพื่อนบ้าน

ที่มา : SCB EIC

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา