หลังจากที่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2024 ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอข่าวเรื่องที่ประเทศออสเตรเลียเริ่มประกาศใช้กฎ “สิทธิที่จะไม่ติดต่อ” หรือ Right to Disconnect นั้น หลังจากที่สำรวจข้อมูลก็พบว่า มีหลากหลายประเทศมากที่ใช้สิทธิที่จะตัดการติดต่อ หลังเลิกงานไม่ว่าจะเป็นวันทำงาน หรือวันหยุด
ในปี 2017 เริ่มมีการใช้สิทธิตัดการติดต่อโดยบริษัท Pioneer France ที่ในเวลาต่อมาก็นำมาเอาผิดบริษัท Rentokill Initial ได้ ต้องถูกโทษปรับเป็นจำนวนเงินสูงมากถึง 2.2 ล้านบาท เนื่องจากให้พนักงานต้องเปิดโทรศัพท์รอสายอยู่ตลอดเวลา
ช่วงที่นิยมใช้ สิทธิตัดการติดต่อ มากที่สุด ก็คือช่วงที่มีโควิดระบาด เนื่องจากเส้นบางๆ ระหว่างการพักผ่อน กับการทำงานผสมผสานกันจนหาจุดแบ่งไม่เจอว่า ตอนไหนคือช่วงเวลาพัก ตอนไหนคือช่วงเวลาทำงาน
สิทธิตัดการติดต่อ หรือ Right to Disconnect ทำอะไรได้บ้าง
เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เลิกงานแล้ว หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุด วันลา สำหรับพนักงานในประเทศที่ใช้สิทธิตัดการติดต่อ สามารถทำสิ่งนี้ได้
1. ไม่รับสาย
2. ไม่อ่านข้อความ
3. ไม่อ่านอีเมล์
การใช้สิทธิตัดการติดต่อ มี 3 รูปแบบด้วยกัน
1. มีกฎหมายบังคับใช้
2. ไม่มีกฎหมายบังคับใช้
3. เป็นข้อเสนอ ยังไม่มีผลทางกฎหมาย
18 ประเทศที่ยกมานี้ คือตัวอย่างการใช้ Right to Disconnect หรือสิทธิตัดการติดต่อหลังเลิกงาน ซึ่งก็มีทั้งที่มีกฎหมายบังคับใช้และไม่มีผลทางกฎหมาย ดังนี้
ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เปรู บราซิล ชิลี โคลอมเบีย ไซปรัส เม็กซิโก โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม อิตาลี กรีซ ยูเครน คาซัคสถาน และสาธาณรัฐสโลวัก
ออสเตรเลียคือประเทศล่าสุดที่ประกาศใช้สิทธิตัดการติดต่อหลังเลิกงาน ซึ่งก็มีการกำหนดบทลงโทษด้วยการจ่ายค่าปรับเช่นกัน ทั้งในส่วนของบริษัทและพนักงาน สาเหตุที่ต้องมีทั้งสองฝ่าย ก็หมายความว่า โทษปรับนี้ใช้สำหรับฝ่ายที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปฏิเสธงานหรือเพิกเฉยต่อการติดตามงานดังกล่าว จึงต้องได้รับโทษปรับ
ผู้ที่จะเป็นฝ่ายตัดสินว่าใครถูกหรือใครผิดก็คือ คณะกรรมการทำงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งก็จะนำปัจจัยมาวิเคราะห์หลากหลาย ทั้งบทบาทพนักงาน สถานการณ์ส่วนบุคคล และลักษณะการติดต่อสื่อสารกัน เป็นต้น
ค่าปรับที่ว่านั้น สำหรับบริษัทต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนสูงมากถึง 2.1 ล้านบาท ขณะที่พนักงานก็ต้องเสียค่าปรับสูงเช่นกัน อยู่ที่ 4.3 แสนบาท
เมื่อเราเห็นว่ามีการใช้สิทธิตัดการติดต่อกันแล้ว เรามาดูกันบ้างว่าการใช้สิทธิดังกล่าวมันสะท้อนอะไรถึง Work Life Balance บ้างหรือไม่?
Top 10 ประเทศที่มี Work Life Balance ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024
1. นิวซีแลนด์ 80.76 คะแนน 33 ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์
2. ไอร์แลนด์ 77.89 คะแนน 35.58 ชั่วโมง
3. เบลเยียม 73.45 คะแนน 35 ชั่วโมง
3. เดนมาร์ก 73.45 คะแนน 33.91 ชั่วโมง
5. แคนาดา 72.75 คะแนน 32.1 ชั่วโมง
6. เยอรมนี 71.84 คะแนน 34.24 ชั่วโมง
7. ฟินแลนด์ 71.55 คะแนน 34.43 ชั่วโมง
8. ออสเตรเลีย 71.35 คะแนน 32.29 ชั่วโมง
9. นอร์เวย์ 70.85 คะแนน 33.68 ชั่วโมง
10. สเปน 70.6 คะแนน 36.67 ชั่วโมง
(หมายเหตุ* ไม่มีอันดับ 4 ส่วนอันดับ 3 คะแนนเท่ากัน)
(การคิดคะแนนมาจากหลายปัจจัย ดังนี้ จำนวนวันลาตามกฎหมาย อัตราการลาป่วยขั้นต่ำตามกฎหมาย การลาคลอดบุตร ค่าแรงขั้นต่ำ ระบบสาธารณสุข ดัชนีความสุข ชั่วดมงการทำงาน ความหลากหลายทางเพศ และดัชนีความปลอดภัย ในที่นี่* เรายกมาเฉพาะคะแนนและชั่วโมงการทำงาน)
จากข้อมูล พบว่า ประเทศที่มักมีการทำงานยาวนานหลายชั่วโมงหรือมี Work Life Balance ที่แย่ มักสัมพันธ์กับประเทศที่ใช้สิทธิตัดการติดต่อ แต่ก็มีบางประเทศที่ Work Life Balance ดีมาก ก็ใช้สิทธิดังกล่าวด้วย นั่นหมายความว่าการใช้สิทธิตัดการติดต่อหลังเลิกงานอาจเป็นตัวส่งเสริมให้คนมี Work Life Balance ที่ดีขึ้น
เช่น ทำงานยาวนานหลายชั่วโมง ต้องตัดการติดต่อบ้างเพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเพื่อให้วันใหม่มีร่างกายและสมองที่สมบูรณ์พร้อมที่จะทำงานในวันต่อไป หรือถ้าอยากมีช่วงเวลาในการใช้ชีวิตและการทำงานที่สมดุลอาจต้องหันมาใช้สิทธินี้เพื่อให้ชีวิตสมดุลขึ้นมาบ้าง
อ้างอิง: Reuters, iuslaboris, Remote
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา