ข้อมูลจาก Trip.Gourmet ฟีเจอร์คู่มือการท่องเที่ยวแนะนำร้านอาหารชั้นนำของ Trip.com Group บอกว่า คนยุคนี้เลือกเดินทางไปท่องเที่ยว เพราะอาหารมากกว่า 60% และมากไปกว่านั้น นักท่องเที่ยวกว่า 70% อยากมีประสบการณ์กับอาหาร-เครื่องดื่มในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ได้ไปท่องเที่ยว
นี่คือปัจจัยสำคัญ เพราะโดยปกติแล้ว การเลือกไปท่องเที่ยว เรามักจะคิดกันว่า ‘สถานที่’ คือปัจจัยหลัก แต่ในยุคนี้ ‘อาหาร’ ได้ขยับขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักๆ ในการเลือกไปท่องเที่ยวแล้ว
Trip แก้โจทย์ด้วยฟีเจอร์แนะนำร้านอาหาร ระหว่างไปเที่ยว แถมจองได้ด้วย
Trip.Gourmet ฟีเจอร์คู่มือการท่องเที่ยวแนะนำร้านอาหารชั้นนำของ Trip.com Group ประกาศรางวัลร้านอาหารระดับโลกที่ดีที่สุดในงานเปิดตัวของ Trip.Gourmet และ Trip.Best Gourmet Awards ที่ Sands Expo & Convention Centre ณ Marina Bay Sands ประเทศสิงคโปร์
Trip.com Group บอกว่า นี่คือก้าวสำคัญในภารกิจเพื่อมอบประสบการณ์ด้าน ‘อาหาร’ ให้กับลูกค้านักเดินทาง
เมื่อการท่องเที่ยวด้านอาหารกำลังเติบโต ข้อมูลจาก Trip บอกว่า
- มีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี
- โดยมีความสนใจเพิ่มขึ้นในคำว่า fine dining และ local specialities รวมถึงการจับคู่สถานที่ท่องเที่ยวกับอาหาร เช่น Tokyo Street Food และ Singapore Cuisine
- 44% ของนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มพิจารณาและให้ความสำคัญกับประสบการณ์ด้านร้านอาหารในแต่ละจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป
ซันนี่ ซัน รองประธานของ Trip.com Group และ CEO ของ Trip.Gourmet บอกว่า “นักเดินทางจำนวนมากขึ้นต่างรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ออกเดินทางไปพร้อมกับการลองชิมอาหารในแต่ละสถานที่ที่เดินทางไป และที่ Trip.Gourmet เราเฉลิมฉลองความเป็นเลิศด้านอาหาร ตั้งแต่ร้าน Fine Dining จนไปถึงร้านอาหารแบบ Local การจัดอันดับและการอัปเกรดใหม่ของ Trip.Gourmet จะช่วยให้ผู้เดินทางสามารถเพลิดเพลินกับประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม”
งานประกาศรางวัลของ Trip.Gourmet คืออะไร
ต้องเริ่มต้นแบบนี้ว่า Trip.Gourmet ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 บนแพลตฟอร์มของ Trip.com ซึ่งเป็นคู่มือท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ด้านอาหารแบบครบวงจรที่นำเสนอการจัดอันดับร้านอาหารระดับโลกพร้อมนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับร้านอาหารแนะนำในแต่ละจุดหมายปลายทาง รวมถึงฟังก์ชั่นในการจอง
ปัจจุบัน Trip.Gourmet สามารถรองรับการจองร้านอาหารมากกว่า 50,000 แห่งทั่วโลก ร่วมกับแพลตฟอร์มการจองร้านอาหารชั้นนำที่ทำให้การจองที่ร้านอาหารยอดนิยมทั่วโลก โดยแพลตฟอร์มการจองร้านอาหารนั้นรวมถึง The Fork ในยุโรป, Chope ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, OpenRice ในฮ่องกง, มาเก๊า และไต้หวัน, OpenTable ในอเมริกาเหนือ, และ TableCheck ในญี่ปุ่น
ส่วนในงานประกาศรางวัลครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัวการอัปเกรดฟังก์ชั่นต่างๆ ที่น่าสนใจ
- ระบบการคัดเลือกและการจัดอันดับแบบใหม่ ปัจจุบันมีข้อมูลครอบคลุมร้านอาหารกว่า 10,000 แห่งในกว่า 300 เมืองและภูมิภาค
- โดยได้จัดหมวดหมู่ร้านอาหารออกเป็น 4 ธีมใหม่ที่ผสมผสานการเดินทางเข้ากับการรับประทานอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารหรูหรา Fine Dining (Black Diamond, Diamond และ Platinum), ร้านอาหารรสชาติท้องถิ่น, ร้านอาหารว่างขึ้นชื่อ, และร้านอาหารวิวสวย
ธีมร้านอาหารเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากคุณภาพและความนิยมของร้านอาหารรีวิวของผู้ใช้และความนิยม
รางวัล Fine Dining & Luxury Hotels
ร้านอาหาร Fine Dining หลากหลายแห่งจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับรางวัลในพิธีมอบรางวัล เช่น ร้าน Potong และ ร้าน Le Du จากกรุงเทพฯ; ร้าน Odette, ร้าน Waku Ghin โดย Tetsuya Wakuda และ ร้าน CUT โดย Wolfgang Puck จากสิงคโปร์; ร้าน Kubu ที่ Mandapa จากบาหลี; ร้าน SÉZANNE และ ร้าน RyuGin จากโตเกียว; และ ร้าน La Yeon และ ร้าน Bicena จากโซล
สำหรับรางวัลสูงสุด Black Diamond มีร้านอาหาร 49.12% มาจากฝรั่งเศส, จีน และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นและความนิยมในวงการร้านอาหาร Fine Dining โดยร้านอาหารทางฝั่งยุโรปมีการเข้าร่วมรับรางวัลจาก ร้าน Core โดย Clare Smyth (สหราชอาณาจักร), L’Oiseau Blanc (ฝรั่งเศส) และ Disfrutar (สเปน)
ข้อมูลของ Trip.Gourmet ระบุว่า การรับประทานอาหารในโรงแรม มีบทบาทสำคัญ โดย 41% ของการจัดอันดับ Trip.Gourmet มุ่งเน้นไปที่ร้านอาหารในโรงแรมหรู ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากนักเดินทางที่มีความมั่งคั่งมากขึ้น ตัวอย่างร้านที่น่าสนใจ ได้แก่ ร้าน Lai Po Heen ที่ Mandarin Oriental ในกัวลาลัมเปอร์, ร้าน JAAN โดย Kirk Westaway ที่ Swissôtel The Stamford ในสิงคโปร์, และ ร้าน Ossiano ที่ Atlantis, The Palm ในดูไบ โดยเฉพาะแบรนด์ Four Seasons และ Ritz-Carlton ที่โดดเด่นด้วยร้านอาหารที่ได้รับคะแนนสูงหลากหลายแห่งในสถานที่ต่างๆ เช่น ฮ่องกง, ปารีส, โตเกียว และโอซาก้า
นอกจากรางวัลและฟีเจอร์ต่างๆ แล้ว Brand Inside ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ 2 เชฟไทยที่ได้รับรางวัลในงานนี้มาฝากกันด้วย ซึ่งนั่นก็คือ
- เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เจ้าของร้านอาหาร Le Du (ฤดู)
- เชฟหนุ่ม-ธนินทร จันทรวรรณ เจ้าของร้านอาหาร Chim by Siam Wisdom
เชฟต้นแห่ง Le Du บทพิสูจน์ความสร้างสรรค์ในอาหาร ทดลองอะไรใหม่เสมอ
เมื่อพูดถึงร้านอาหารไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ชื่อของ ‘Le Du (ฤดู)’ โดยเชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เป็นหนึ่งในนั้น
ด้วยจุดเด่นของร้านอาหารที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เชฟต้นได้สร้างสรรค์เมนูที่ผสมผสานระหว่างวัตถุดิบท้องถิ่นและเทคนิคการปรุงอาหารที่ทันสมัย ทำให้ Le Du ก้าวสู่ปีที่ 11 ด้วยความภาคภูมิใจและความสำเร็จที่ต่อเนื่อง
เชฟต้น บอกว่า ถึงที่สุดแล้ว การเดินทางไม่ใช่เพียงแค่การซื้อตั๋วเครื่องบินหรือการเลือกที่พักที่หรูหรา แต่มันคือการได้สัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านอาหาร
“อาหารไม่ใช่แค่สิ่งที่เรากินเข้าไป แต่คือประสบการณ์ที่เราได้รับ อาหารคือส่วนหนึ่งของการพักผ่อน” เชฟต้น กล่าว
ในฐานะเชฟที่ยืนหยัดในการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เชฟต้นมองว่านี่คือความเสี่ยงที่คุ้มค่า “การใช้วัตถุดิบท้องถิ่นไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทย แต่ยังทำให้อาหารของเรามีเอกลักษณ์และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง” เชฟต้นเน้นว่าความสำเร็จของ Le Du มาจากการเสี่ยงในจังหวะที่ถูกต้อง โดยไม่ลืมที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
เมื่อถามถึงบทบาทของเทคโนโลยี AI ในวงการร้านอาหาร เชฟต้นยอมรับว่า AI ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา แต่ก็มีความสำคัญในแง่ของการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า แต่ถึงอย่างนั้น เชฟต้นก็ย้ำว่า การนำ AI มาใช้ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
สำหรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เชฟต้นเห็นว่ามีความสำคัญ แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องของขั้นตอนที่ยุ่งยาก “การสนับสนุนเป็นสิ่งที่ดี แต่มันต้องการการทำงานร่วมกันที่ใกล้ชิดและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป”
ในช่วงที่การท่องเที่ยวชะลอตัว Le Du กลับมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วง Low Season ของไทย เชฟต้นมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าและปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลง
“วงการร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่เปิดง่าย แต่ปิดไว … แต่ถ้าเราสามารถสร้างความแตกต่างและความประทับใจให้กับลูกค้าได้ เราก็จะอยู่ได้ยาวนาน” เชฟต้น กล่าวปิดท้าย
เชฟหนุ่มแห่ง Chim by Siam Wisdom ความเป็นไทยที่มีทั้งเอกลักษณ์และทันสมัย
เชฟหนุ่ม-ธนินทร จันทรวรรณ เจ้าของร้านอาหาร Chim by Siam Wisdom บอกว่า ร้านของเขาคือการนำเสนอประสบการณ์อาหารไทยที่ไม่เหมือนใคร โดยผ่านการผสมผสานระหว่างวัตถุดิบท้องถิ่นและเทคนิคการปรุงอาหารระดับโลก แต่จุดที่สำคัญคือ ยังคงรักษาคาแรกเตอร์และเอกลักษณ์ของอาหารไทยไว้อย่างมั่นคง
เชฟหนุ่ม มองว่า การได้รางวัลคือการเปิดประตูให้ผู้คนได้รู้จักกับความเป็นไทยผ่านร้านอาหารมากขึ้น โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินธุรกิจ เชฟหนุ่มได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษามาตรฐาน
“เราสามารถลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ แต่ต้องรู้จักและเข้าใจความเชี่ยวชาญของตัวเอง” เชฟหนุ่ม กล่าว
เชฟหนุ่มมีพื้นฐานการปรุงอาหารจากต่างประเทศ แต่เขาเลือกที่จะนำเทคนิคเหล่านั้นมาปรับใช้กับวัตถุดิบไทย “เรานำวัตถุดิบจากทั่วโลกมาทำอาหารไทย แต่สิ่งสำคัญคือการใช้เทคนิคการปรุงที่ได้มาจากต่างประเทศมาผสมผสานกับ Wisdom หรือภูมิปัญญาในการทำอาหารไทยดั้งเดิม” เชฟหนุ่มกล่าวพร้อมเสริมว่า การปรุงรสแบบไทยในอดีตที่ถูกบันทึกไว้ถูกนำมาประยุกต์ให้เข้ากับรสชาติที่ถูกปากคนไทยในปัจจุบัน
เชฟหนุ่มยอมรับว่าความท้าทายใหญ่ในการทำอาหารคือการรักษาคาแรกเตอร์ของตัวเอง “เราไม่สามารถเสียคาแรกเตอร์ของเราได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรามีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำ” เชฟหนุ่มเสริมว่า การทำอาหารเก่งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอในปัจจุบัน เนื่องจากเชฟต้องมีทักษะการสื่อสารและความเข้าใจในภาษาที่ดีด้วย
เมื่อถูกถามถึงตลาดอาหารระดับ Fine Dining ในไทย เชฟหนุ่มยอมรับว่า เติบโตมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญคือความยั่งยืน “ความยั่งยืนคือสิ่งที่สำคัญในการทำอาหาร เราต้องคิดถึงผลกระทบระยะยาว”
นอกจากนี้ เชฟหนุ่มยังเห็นว่าการเล่นกับประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ทำให้ Chim by Siam Wisdom โดดเด่น “เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราสามารถสร้างตัวตนใหม่ที่ยังคงเชื่อมโยงกับอดีตได้ โดยการขุดค้นและเข้าใจถึงที่มาและความหมายของมัน”
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “อาหารที่ดีควรจะอยู่ในจาน ไม่ใช่อยู่ในจอ” เชฟหนุ่มกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมเสริมว่า “การทำอาหารไทยให้คนเข้าใจและรู้จักนั้นสำคัญ แต่การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่แพ้กัน”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา