สมาร์ทโฟน คือ อุปกรณ์ประจำตัวที่ต้องใช้ประจำวันแทบจะตลอดเวลาของคนยุคดิจิทัล ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ จึงให้ความสนใจกับพฤติกรรมการใช้งานว่า ผู้บริโภคใช้งานสมาร์ทโฟนตอนไหน ใช้ทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ตรงใจมากที่สุด นีลเส็น (Nielsen) เลยทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน เก็บข้อมูลโดยการติดตั้ง Tools Meter ในสมาร์ทโฟนเพื่อเก็บการใช้งาน โดยไม่ต้องตอบแบบสอบถาม และไม่ละเมิดสิทธิ์ เพราะดูเพียงการใช้งาน แต่ไม่ได้ลงลึกถึงคอนเทนต์ภายใน
นีลเส็น เปิดเผยว่า การเก็บข้อมูลครั้งนี้ เลือกเก็บจากผู้ใช้สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ซึ่งเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ จำนวน 705 คนทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และก่อนหน้านี้ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 965 คนในไตรมาสแรก ผลการสำรวจเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของธุรกิจการเงิน, ธุรกิจให้บริการ Payment และธุรกิจค้าปลีก ซึ่ง นีลเส็น เรียกว่า เป็นกลุ่มธุรกิจ m-Commerce (มี 3 ธุรกิจบนมือถือ คือ การเงินธนาคาร, Payment และค้าปลีก)
ผลสำรวจพบว่า คนไทยมีการใช้งานมือถือเฉลี่ย 234 นาทีต่อวัน หรือเกือบ 4 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่มีการใช้สม่ำเสมอคือ เวลา 8.00 – 23.00 น. เฉลี่ย 12 นาทีต่อชั่วโมง และใช้งานหนาแน่นที่สุดช่วง 20.00 – 21.00 น. เพิ่มเป็น 13 นาทีต่อชั่วโมง
การใช้งานมากที่สุดคือ การใช้เพื่อสื่อสาร (Communications) ใช้ไปทั้งหมด 78 นาที โดยใช้เพื่อ Chat และ VOIP อันดับ 2 ที่มีการใช้ คือ แอปพลิเคชั่น ซึ่งใช้เวลาอยู่ที่ 66 นาที ตามมาด้วยเอนเตอร์เทนเม้นท์ 42 นาที และ การบริหารจัดการ Device Management 27 นาที
การใช้งาน Chat และ VOIP หนักในช่วงเช้าเวลา 9 -11 โมง และอีกช่วงหนึ่งคือตอนกลางคืน ตั้งแต่ 6 โมง ถึง 3 ทุ่ม ในขณะที่ การใช้งาน Social Network นั้นถูกใช้เยอะช่วงตอนเที่ยง และอีกทีตอน 2-3 ทุ่ม
เมื่อเปรียบเทียบการใช้งาน ไตรมาสแรกและไตรมาสสอง ที่เพิ่มขึ้น พบว่าการใช้งานหลักคือ การติดต่อสื่อสาร คือเพิ่มจาก 65 นาทีเป็น 78 นาที แสดงว่าคนใช้เวลาในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น แต่ใช้วิธีการ Chat มากกว่าพูดคุย
พฤติกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนไทย มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทั้ง WiFi และ Cellular ซึ่งการใช้ผ่าน WiFi มีการเติบโตมากขึ้น มาจากความนิยมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ การถ่ายทอดสด และ Streaming เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเชื่อมต่อ WiFi นอกจากให้ความเร็วที่ดี ยังประหยัดการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือ อีกทั้ง ผู้ใช้เลือกเชื่อมต่อกับ WiFi ทุกครั้งที่มีโอกาส ดังนั้น ผู้ให้บริการที่มีบริการ WiFi จัดแพ็คเกจที่มีบริการ WiFi อยู่ด้วยจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้มากกว่า
เมื่อพิจารณาถึงการใช้งานประเภท m-Commerce ทั้ง 3 ส่วน พบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่อาจส่งผลต่อโครงสร้างธุรกิจของผู้ให้บริการ โดยพบว่าการใข้บริการแอปของธุรกิจการเงินการธนาคาร เติบโตขึ้น 39% โดยในไตรมาส 2 มีสัดส่วนผู้ใช้งาน 49% อีกส่วนหนึ่งคือ แอป ช้อปปิ้ง มีการเติบโต 57% มีสัดส่วนผู้ใช้งาน 33% ในไตรมาส 2 เป็นการยืนยันว่า ธนาคาร สถาบันการเงิน ต้องมีการพัฒนาบริการบนมือถือเพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้ เช่นเดียวกับ ธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องพัฒนาแอปเพื่อรองรับการซื้อของบนมือถือเช่นกัน
ขณะที่บริการ Payment มีการเติบโต 100% แต่ยังมีสัดส่วนผู้ใช้ประมาณ 24% อาจจะน้อยกว่า แต่เชื่อว่ากำลังเติบโตขึ้นตามลำดับ
และนี่คือ 10 แอป ที่คนมีการเข้าใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ มากที่สุด โดย LINE มาเป็นอันดับ 1 เพราะคนใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารกับ ทั้ง Chat และ VoIP ตามมาด้วย Facebook ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลอันดับ 1 อยู่แล้ว ตามมาด้วย Google Chrome และ Youtube
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา