ไปรษณีย์ไทยเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว ส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนมาใช้รหัสไปรษณีย์ดิจิทัล

ไปรษณีย์ไทยลุยเส้นทางธุรกิจจาก Human Touch สู่ Digital Touch ต้องปรับตัวหนักจากวันแรกที่เป็นขนส่งแค่เจ้าเดียวในไทย ตั้งเป้าเป็น Information Logistics ชูกลยุทธ์ ESG+E เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ

จากยุค Physical สู่ Digital

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่าไปรษณีย์ไทยเดินทางเข้าสู่การครบรอบ 114 ปีแล้ว ซึ่งก็มีความท้าทายหลายอย่างจากเดินที่เป็นขนส่งเจ้าเดียวในประเทศไทยก็เจอกับคู่แข่งหลายเจ้า

จากเดิมที่ไปรษณีย์ไทยเติบโตมาจากบริการแบบ Self-Centered เพราะเป็นเจ้าเดียวเลยต้องปรับตัวมาเป็น Stakeholder-Centric ที่ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังต้องเปลี่ยนจากธุรกิจที่เน้น Physical มาเน้นที่ Digital เพื่อให้เปลี่ยนแปลงทันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเรื่อยๆ

ไปรษณีย์ไทยได้เพิ่มบริการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Prompt Post ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก Human Touch สู่ Digital Touch ที่มีบริการ Digital Postbox จัดเก็บเอกสารสำคัญ รับรองและลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดส่งได้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน

รวมทั้งเปลี่ยนจากรหัสไปรษณีย์ 5 หลักมาเป็นการใช้ D/ID (ดีไอดี) 6 หลักซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคลที่ให้ข้อมูลที่อยู่ชัดเจนมากขึ้น บอกพิกัดแนวดิ่งบนอาคารสูงได้ ผู้ใช้แก้ไข้ข้อมูลแล้วจะเปลี่่ยนแปลงที่หน่วยงานปลายทางอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ยังมีบริการ Postman Cloud ที่ต่อยอดมาจากจุดแข็งของพี่ไปรฯ ที่รู้จักแต่ละพื้นที่ดี โดยจะให้บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์สิน บริการรับ-ส่งสิ่งของ

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ บอกว่ากลยุทธ์ที่ไปรษณีย์ไทยใช้เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน คือ ESG+E ประกอบด้วย Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) Governance (การกำกับดูแลกิจการ) ซึ่งนำไปสู่ด้าน Economy หรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

Environment – สิ่งแวดล้อม

ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ธุรกิจเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050

การขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าปรับยานยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในระบบงานมากกว่า 85% ภายในปี 2030 พร้อมติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 60% ภายในปี 2030 และจะทำทั้งสองอย่างให้ได้ 100% ในปี 2040

ส่วนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนในปีนี้ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 250 คันแรกและใช้จักรยานยนต์สำหรับพี่ไปรฯ 200 คันแรก

ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ไปรษณีย์ไทยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนหลักๆ ด้วยการรับซอง กล่องพัสดุ กลับคืนเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลผ่านหลายโครงการอย่าง AIS e-waste ที่ทำร่วมกับ AIS โครงการ reBOX และ reBAG

ตอนนี้ไปรษณีย์ไทยรวบรวมกล่องและซองเข้าสู่การรีไซเคิลมากกว่า 600 ตันตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน และลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 3,500 ตันคาร์บอนเทียบเท่า การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้บริษัทมี Know-How เรื่อง Reverse Logistics หรือรับของกลับคืนโดยที่ไม่เสียต้นทุนเพิ่ม

Social – สังคม

ไปรษณีย์ไทยยังส่งเสริมการทำธุรกิจเพื่อส่งสินค้าออกสู่ตลาด เพราะเมื่อธุรกิจเติบโต บริการด้านการขนส่งสินค้าก็เติบโตขึ้นไปด้วย

ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีต้นทุนสนับสนุนบริการเชิงสังคมมากกว่า 1,990 ล้านบาท มีครัวเรือนที่เข้าถึงได้ 2.1 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีไปรษณีย์นำส่งที่เป็นบริการเชิงสังคมขั้นพื้นฐาน 800 ล้านฉบับต่อปี

บริษัทยังส่งเสริมเกษตรกรสนับสนุนการกระจายผลผลิตทางการเกษตร 18 ล้านกิโลกรัมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และพัฒนาทักษะพี่ไปรฯ สู่การเป็น Post GentleMan โดยมากกว่า 95% ของพี่ไปรฯ ผ่านการอบรม Soft Skills

Governance – ด้านการกำกับดูแลกิจการ

ในด้านธรรมาภิบาล ไปรษณีย์ไทยได้รับรองมาตรฐาน ISO 9 ปี รวมทั้งมีระบบจัดการความเสี่ยงทุจริตระดับ ‘ดีเยี่ยม’ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

ไปรษณีย์ไทยยังจะคงเน้นเรื่องหลักธรรมาภิบาลเรื่องการดูแลข้อมูลให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ด้วย

Economy – การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

จากการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ ด้านสิ่งแวดล้อมทำให้สามารถลดค่าน้ำมันด้านจ่าย 18% เทียบกับปีก่อน ลดค่าใช้จ่ายขนส่งถุง 15% เทียบกับปีก่อน รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปรับระบบ Physical ให้เป็น Digital ได้มากกว่า 400 ตันคาร์บอนเทียบเท่า

ส่วนด้านสังคม มีรายได้ขายสินค้าสนับสนุนชุมชน 600 ล้านบาทต่อปี ส่งเสริมรายได้พี่ไปรฯ เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่กว่า 2.2 ล้านบาท รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานผ่านไปรษณีย์อนุญาตให้ชุมชน 741 ล้านบาทต่อปี

ด้านธรรมาภิบาลทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการกว่า 1 ล้านรายตั้งแต่ปี 2022 คิดเป็นรายได้กว่า 300 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา