Orange Cap Innovative หนึ่งในสตาร์ตอัปยุคตลาดเบ่งบานในไทย ยกระดับจากที่เริ่มด้วยแพลตฟอร์มไกด์ทัวร์ สู่ Venture Bulider ที่สร้างสตาร์ตอัปที่ตอบโจทย์ตลาดในแง่มุมต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง ล่าสุดร่วมมือมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งสิงคโปร์ (SUSS) รุกตลาดการศึกษา เชื่อมต่อความรู้ไทย-สิงคโปร์ ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม
Orange Cap ในฐานะ Venture Builder
อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Orange Cap Innovative เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตลาดสตาร์ตอัปในประเทศไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ไม่ใช่การกลับมาในรูปแบบเพ้อฝัน (Fancy) เพราะจะเป็นการทำสตาร์ตอัปที่อิงกับความเป็นจริงที่เน้นทำธุรกิจ และมีกำไร
“เราผ่านมาในยุคแรกผ่าน Take Me Tour แพลตฟอร์มไกด์ท่องเที่ยว ซึ่งในตอนนี้การใช้ไอเดียดังกล่าวมานำเสนอคงไม่ใช่ และเพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืน รวมถึงเติบโต การปรับตัวเป็น Venture Builder ที่พัฒนาสตาร์ตอัปออกมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพาร์ตเนอร์กับหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อไปตอบโจทย์ความต้องการจึงเหมาะสมกว่า”
ปัจจุบัน Orange Cap Innovative เดินหน้าธุรกิจในฐานะที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี คู่กับ Venture Builder โดยในส่วนแรกจะเป็นการรับงานด้านเทคโนโลยีจากองค์กรต่าง ๆ ส่วน Venture Builder จะมีการสร้างสตาร์ตอัปออกมา เช่น EasyPDPA และ Take Me Tour เป็นต้น
ร่วมมือมหาวิทยาลัยสิงคโปร์รุกการศึกษา
ล่าสุด Orange Cap Innovative ตั้งกิจการร่วมค้า (JV) ในไทยกับมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งสิงคโปร์ (SUSS) ด้วยมูลค่าการลงทุน 3-5 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจ Success Academy ผ่านการเป็นตัวกลางในการนำนักศึกษาที่สิงคโปร์มาฝึกงาน หรือร่วมพัฒนาโครงการต่าง ๆ กับองค์กรธุรกิจในประเทศไทย
รวมถึงการนำสตาร์ตอัปในประเทศไทย และผู้สนใจไปเสริมสร้างความรู้ใหม่ ๆ กับทางมหาวิทยาลัย และองค์กรธุรกิจที่นั่น ต่างกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มาเปิดสาขาในประเทศไทยเพื่อดูแลนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงาน หรือดึงผู้สนใจไปเรียนที่ต่างประเทศเท่านั้น
“SUSS มีความเชี่ยวชาญเรื่อง Social Science เป็นพิเศษ ควบคู่กับอีก 3 แกนที่ประกอบด้วย Sustainability, Gerontology (การศึกษาเกี่ยวกับ Aging Society) และ AI in Business ซึ่งทั้งหมดนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ในตลาดไทย และสิงคโปร์ รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ใน 2 ประเทศได้”
เปรียบได้กับการจับคู่ธุรกิจรูปแบบใหม่
อมรเชษฐ์ เสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าวอาจเปรียบเทียบกับการจับคู่ธุรกิจ (Matching) รูปแบบใหม่ กล่าวคือ จากเดิมที่นักศึกษาจะมานำเสนอโครงการต่าง ๆ ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรเหล่านั้นอาจจะยังไม่เชื่อมั่นเท่าไรนัก แต่จากการที่บริษัทเข้ามาเป็นตัวกลาง บริษัทสามารถส่งสิ่งที่ต้องการแก้ไขเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาช่วยแก้ไขได้
“ถือเป็นการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับองค์กรชั้นนำด้วยการ Matching รูปแบบใหม่ ซึ่งองค์กรเหล่านั้นค่อนข้างพอใจ ผ่านการนำเสนอวิธีต่าง ๆ ทั้งจากนักศึกษา หรือเครือข่ายสตาร์ตอัปแต่ละประเทศเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด และมีเราเป็นตัวช่วยกรองความมั่นใจ”
อย่างไรก็ตาม Success Academy ยังมีแผนธุรกิจเกี่ยวกับการอบรมสัมมนาในเรื่องต่าง ๆ ผ่านการดึงผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์มาที่ไทย ตอบโจทย์ทั้งการอบรมระดับองค์กร และการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ส่วนบุคคล โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learner
SUSS กับการขยายไปทั่วอาเซียน
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ที่ SUSS จัดตั้ง Success Academy โดยตามหลังประเทศจีนที่เปิดทั้งหมด 2 ศูนย์ และเวียดนามอีก 1 ศูนย์ ซึ่งหลังจากนี้ SUSS เตรียมขยาย Success Academy ออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มโอกาสความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
SUSS มีหลักสูตรระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษามากกว่า 100 หลักสูตร มีให้เลือกทั้งในแบบประเภทของการศึกษาเต็มเวลา และนอกเวลา เพื่อรองรับทั้งผู้ที่เพิ่งออกจากโรงเรียนใหม่ และผู้ที่เรียนจบแล้ว SUSS ยังมีหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง และการฝึกอบรมสำหรับการยกระดับทักษะทางวิชาชีพของการพัฒนาฝีมือแรงงานในสิงคโปร์
ทั้งนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจาก SUSS แล้วมากกว่า 47,000 คนและในปัจจุบันมีนักศึกษามากกว่า 21,000 คน ที่กำลังศึกษาทั้งแบบเต็มเวลาและนอกเวลา และก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาจาก SUSS มากกว่า 150 คน ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักศึกษาไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา