ฝันของ ‘ฮ่องกง’ คือไม่เป็นแค่ศูนย์กลางทางการเงิน จากนี้ไปขอท้าชิงการเป็นศูนย์กลาง Digital Entertainment ของโลก
Brand Inside มีโอกาสได้ไปงานสัมมนา Digital Entertainment Leadership Forum (DELF) 2024 ที่เปิดฉากยิ่งใหญ่ในฮ่องกง จัดโดย Cyberport
งานนี้เน้นเอาศักยภาพของ AI และ Web 3.0 มาโชว์ เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมบันเทิงดิจิทัลและการใช้ชีวิตอัจฉริยะ โดยจัดขึ้น 3 วัน มีทั้งเวทีเสวนา ฟอรั่ม โซนโชว์ของ เวิร์กช็อป ปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คนมาจากทั่วโลก และมีคนชมงานผ่านทุกช่องทางรวมกันกว่า 280,000 ครั้ง
ปีนี้ DELF เน้นไปที่เรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดอุตสาหกรรมบันเทิง จัดขึ้นภายใต้ธีม “Imaginary Fairground: AI-Powered Entertainment in the Web 3.0 Era” โดยเน้นหลายเรื่อง เช่น
- นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ Web 3.0 มาใช้ในการพัฒนาความบันเทิงดิจิทัล
- การใช้ชีวิตอัจฉริยะ หรือ Smart Living
- การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การศึกษา และเศรษฐกิจกลางคืน
- งานนี้มีการจัดโซนประสบการณ์หลากหลายที่นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ กว่า 50 โซลูชัน รวมถึงการจัดเวิร์กชอปและการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ตรงในการผสานรวมความบันเทิงดิจิทัลและเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR)
ฟังดูแล้ว..นี่คือภาพของฮ่องกงที่ไม่คุ้นสักเท่าไหร่ เพราะปกติเราจะเห็นภาพของฮ่องกงเป็น ศูนย์กลางการเงิน แต่งานนี้และนับจากนี้เป็นต้นไป ฮ่องกงประกาศตัวว่า จะขอเข้ามาท้าชิงในสนามของเทคโนโลยี นวัตกรรม และความบันเทิงดิจิทัล
คำถามคือ จะทำได้ยังไง?
ฝันของฮ่องกงคือ ศูนย์กลางนวัตกรรม-เทคโนโลยีของโลก
Brand Inside สัมภาษณ์ Eric Chan Sze-yuen, Chief Public Mission Officer ของ Cyberport หน่วยงานหลักของฮ่องกงที่มุ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนสตาร์ทอัพในด้านนวัตกรรมดิจิทัล
“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา Cyberport ได้เติบโตจากโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพในท้องถิ่นไปสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง”
“ในปัจจุบัน Cyberport ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางของการพัฒนาภาพยนตร์และเกมคลาวด์ แต่ยังเป็นแหล่งรวมของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AR และ VR ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสื่อบันเทิงยุคใหม่”
ผู้บริหารของ Cyberport บอกว่า “รู้หรือไม่ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาในฮ่องกงมากขึ้น โดยเหตุผลหลักๆ คือการเข้ามาเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่นี่
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงและการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาในฮ่องกง
ในมุมมองของ Eric มองว่า การดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) จากทั่วโลกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ Hong Kong ก้าวไปข้างหน้า
และจะว่าไปแล้ว “ความสามารถนี้เป็น DNA ของ Hong Kong” ที่ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม ในฮ่องกงมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพราะมีการสนับสนุนทางการศึกษาที่เข้มข้น และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บุคลากรที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาตัวเองและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้จากที่นี่
Cyberport กับนักสร้าง Ecosystem ใน Digital Economy ของฮ่องกง
ตามหน้าที่แล้ว Cyberport มีบทบาทในเป็นผู้นำเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงฮ่องกงเข้ากับทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างศูนย์ AI ในฮ่องกง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยีและความบันเทิงดิจิทัล ซึ่ง Cyberport เชื่อว่าสิ่งนี้เองจะทำให้ฮ่องกง กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งเอเชียอย่างแท้จริง
หนึ่งในแนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งฮ่องกงมองว่าน่าสนใจมากๆคือ Web3 และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งในมุมของ Cyberport พูดชัดเจนว่า “นี่ไม่ใช่เพียงแค่กระแสชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับอนาคต”
Cyberport ไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างรายได้ แต่เป็นแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ธุรกิจและสังคมทำงานร่วมกัน การลงทุนในสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าให้กับฮ่องกง แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุคใหม่ของการเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันทั่วโลก
ยกตัวอย่างเช่น การรวม Web3 เข้ากับเกมและความบันเทิงดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางที่ Cyberport กำลังมุ่งไป Eric เชื่อว่า “การใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น Generative AI ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในเกมจะทำให้ผู้เล่นมีประสบการณ์ที่เหนือกว่า และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาสื่อบันเทิง”
ในด้านของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ Eric บอกว่า ตอนนี้ฮ่องกงกำลังเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย Cyberport ได้ลงทุนมากกว่า 5 ล้านฮ่องกงดอลลาร์กับสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งและเชื่อมต่อกันระหว่างภูมิภาค
ก่อนหน้านี้ Cyberport เคยร่วมมือกับ Innospace ของไทย นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนในการสร้างความร่วมมือที่สามารถขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพื่อสร้างการลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ที่ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งสองประเทศในการก้าวสู่ยุคใหม่ของนวัตกรรมดิจิทัล
อนาคตจะล้ำหน้าแค่ไหน แต่ ‘แบรนด์’ ของเราต้องชัด
เพื่อฟังมุมมองที่หลากหลาย Brand Inside ยังได้สัมภาษณ์ Alex Barder ผู้บริหาร Beast Media Group ที่มาเข้าร่วมงานของฮ่องกงในครั้งนี้
Alex เล่าให้ฟังว่า Beast Media Group มีความมุ่งมั่นในการสร้างแบรนด์และคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง โดยเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาผสมผสานในการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality), หรือ XR (Extended Reality)
โดยเน้นย้ำว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแค่ทำให้คอนเทนต์มีความน่าสนใจขึ้น แต่ยังช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ได้อย่างเต็มที่
“เทคโนโลยีมาถึงจุดที่เราสามารถสร้างการสื่อสารแบบสองทางกับผู้บริโภคได้” Alex เล่าให้ฟังถึงความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถทำให้แบรนด์และผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน การสื่อสารแบบสองทางนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
ในมุมมองของ Alex การสร้างคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องมีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง สิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพียงเพื่อความใหม่หรือความทันสมัยเท่านั้น แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ให้สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ได้อย่างแท้จริง
ตัวอย่างหนึ่งที่ Alex ยกมาคือการสร้างเกมและแบรนด์ที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และคอนเทนต์ ซึ่งเทคโนโลยี AR และ VR ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมีประสบการณ์ที่สมจริงและลึกซึ้งมากขึ้น ในขณะที่การสร้างแบรนด์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อกับแบรนด์ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
แต่ในโอกาสก็มีความท้าทาย Alex ยอมรับว่ามีความท้าทายที่ต้องเผชิญอีกมาก โดยเฉพาะในการสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ในระยะยาว เพราะตอนนี้เราต่างอยู่ในเกมการต่อสู้เพื่อความสนใจ หรือ Attention War
นี่คือสิ่งที่แบรนด์ต่างๆ ต้องเข้าใจและจัดการให้ได้เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
“Content is King แต่แบรนด์ที่แท้จริงคือทุกสิ่งทุกอย่าง” Alex บอกถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งและสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์สามารถยืนหยัดและประสบความสำเร็จในระยะยาว
อนาคตของความบันเทิง มี Web3 อยู่ในนั้น
นอกจากนั้น Brand Inside ยังได้สัมภาษณ์ Jason Brink ผู้ก่อตั้ง LFG Incorporated ที่มาเข้าร่วมงานของฮ่องกงในครั้งนี้
Jason เล่าให้ฟังว่า LFG Incorporated มีบทบาทเป็นทั้งผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure provider) และการลงทุน (venture capital) ในโลกของ Web3 โดยเน้นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์และรองรับการใช้งานในระดับโลก เขายอมรับว่าการสร้างและพัฒนา Web3 นั้นไม่ง่าย และต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 10 ปีในการเติบโตและพัฒนาให้เต็มที่
“Web3 ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีบล็อกเชนหรือคริปโตเคอเรนซี แต่มันเป็นแนวทางใหม่ในการสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในระบบการเงินโลก” Jason เล่าให้ฟังถึงการพัฒนา Web3 ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลก
Jason ยังกล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น Fintech, AI, และโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการใช้งานในโลกของ Web3 และการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ เขายังเน้นถึงความสำคัญของการสร้างชุมชนและการมีส่วนร่วมของผู้คนใน Web3 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้งานและนักลงทุน
หนึ่งในประเด็นที่ Jason เล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานคือเปรียบเทียบการแข่งขันในตลาดตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากกฎหมายและกฎระเบียบที่เข้มงวด ทำให้ผู้พัฒนาหันมาเน้นการพัฒนาในตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีนและฮ่องกงที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อน Web3 และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยสรุปแล้ว Jason มองว่า อนาคตของ Web3 จะขึ้นอยู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความโปร่งใสและสามารถรองรับการใช้งานในระดับโลก รวมถึงการสร้างชุมชนและการมีส่วนร่วมของผู้คนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Web3 สามารถเติบโตและเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต
Jason ยังได้ย้ำด้วยว่า “Web3 ไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราว” แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก และตลาดเอเชียจะเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลในยุคถัดไป
[ไฮท์ไลท์] ในงาน DELF 2024 ได้จัดโซนประสบการณ์ออกเป็น 4 ธีมหลัก ได้แก่
- Smart Lifestyle โซนที่นำเสนอวิถีชีวิตอัจฉริยะโดยการนำเทคโนโลยี AI และ IoT มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประจำวัน
- Robotics นำเสนอนวัตกรรมในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์บาริสต้า Roborn ที่ผสาน AI กับเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าด้วยกัน
- Sports & Gaming โซนนี้จะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่ใช้ในวงการกีฬาและเกม รวมถึง eSports ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยมีการแสดงผลงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงโพลีเทคนิคในหลักสูตร “Master of Science in Metaverse Technology”
- Culture & Arts นำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในงานศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีการจัดแสดง “Van Gogh DigiVillage” ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการแสดงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม งานสัมมนา Digital Entertainment Leadership Forum (DELF) 2024 มีบุคคลสำคัญในวงการเทคโนโลยีและรัฐบาลเข้าร่วมพิธีเปิดด้วย เป็นต้นว่า
- Paul Chan เลขาธิการการคลังของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง หรือ HKSAR Government
- Lilllian Cheong รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
- Zhang Guolai ผู้ตรวจราชการชั้นสองแผนกเยาวชน สำนักงานรัฐบาลกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนในฮ่องกง
- Simon Chan ประธานของ Cyberport Hong Kong
- Dr. Rocky Cheng ซีอีโอของ Cyberport Hong Kong
นอกจากนั้นยังมีบริษัทระดับโลกชั้นนำมากมายมาเข้าร่วม เช่น Microsoft, NVIDIA, Alibaba, Baidu ฯลฯ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน DELF 2024 และรายชื่อผู้บรรยายทั้งหมด สามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ DELF 2024
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับฮ่องกง
- ฮ่องกงแก่เร็ว-สมองไหล เพราะคนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ เหลือคนทำงานน้อยสุด ในรอบศตวรรษ
- ฮ่องกงอาการหนัก ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น คนหนีไปเที่ยวเซินเจิ้นกันหมดแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา