เศรษฐกิจมาเลเซีย โตเกิน 5%
รายงานจาก Nikkei Asia ระบุว่า เดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา มาเลเซียมีเศรษฐกิจโตถึง 5.9% เทียบกับปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดิมที่ขยายตัว 4.2% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2022 ที่ผ่านมา สอดคล้องตามที่นักเศรษฐศาสตร์ 20 รายได้คาดการณ์ตามผลสำรวจของ Reuters เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งธนาคาร Negara ธนาคารกลางระบุไว้เมื่อวันศุกร์ว่า ในไตรมาส 2 นั้น การบริโภคของภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะแรงหนุนจากภาคเอกชนและการลงทุนจากภาครัฐ
โดยรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายไปสู่ 4% ถึง 5% แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภาคการผลิต ซึ่งเศรษฐกิจมาเลเซียยังได้รับแรงหนุนจากเทคโนโลยี รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนภาคการลงทุนที่มีการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วด้วย
การส่งออกของมาเลเซียนั้นขยายตัวอยู่ที่ 8.4% ในเดือนเมษายน-มิถุนายน และไตรมาสก่อนหน้าก็เติบโตถึง 5.2% แน่นอนว่าได้รับแรงหนุนจากบริษัททั่วโลกที่มีการปรับเปลี่ยนในส่วนของห่วงโซ่อุปทาน
ส่วนการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.0% จากเดิม 4.7% ของไตรมาสก่อนหน้า มีภารบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น นั่นก็เป็นเพราะแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่มีสภาวะเป็นบวก และยังมีนโยบายใหญ่ๆ ที่เกื้อหนุนด้วย
ภาคอุตสาหกรรม ก็มีภาคการผลิตที่เติบโตอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1.9%
ภาคบริการขยายตัวอยู่ที่ 5.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 4.8%
ภาคการเกษตรก็เติบโตอยู่ที่ 7.2% เพิ่มจากเดิมที่ 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า นั่นก็เพราะแรงหนุนจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ขณะที่การทำเหมืองนั้นชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.7% เป็น 2.7% เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง
ด้านธนาคารกลางคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะพุ่งสู่ 2.24 หมื่นล้านริงกิตหรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่อยู่ที่ 2.14 หมื่นล้านริงกิต การท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดซึ่งอยู่ที่ 27.3 ล้านคน ซึ่งก็มีแรงหนุนจากการเพิ่มเที่ยวบินและมีชาวอินเดีย ชาวจีนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับการยกเว้นวีซ่าแล้ว
ไม่เพียงแค่นั้น ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน มีแนวโน้มเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารกลางรายงานว่า ค่าเงินมาเลเซียแข็งขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐเทียบปีต่อปี
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา