เศรษฐกิจไทยพังแน่ ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย มันสำคัญยังไง?
ทำไมต้องเร่งแก้..
ที่มันต้องเร่งแก้ก็เพราะว่าถ้าเราอยากจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด แล้วเราไม่รู้ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหาได้ยังไงล่ะ
บทวิเคราะห์จาก KKP Research ฉายภาพให้เห็นว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะย่ำแย่ ไม่ใช่เพิ่งแย่ แต่มานนแล้ว เศรษฐกิจอาจไม่ได้โตต่ำกว่าศักยภาพ เพียงแต่อาจจะไม่ได้โตไปกว่านี้แล้ว เพราะปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจล้วนหดตัวทั้งหมด
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั้ง 3 ครั้ง ไทยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่เศราฐกิจโตลดลง จากเดิมที่มากกว่า 7% เหลือ 5% ทั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 3% ไหนจะช่วงหลังวิกฤตโควิดระบาดในปี 2019 ส่งผลให้ไทยมีเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยเพียง 2%
ปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง อาทิ แรงงาน การสะสมทุน และผลิตภาพ
แรงงาน: ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ไปไหนไม่ได้สักที
ในแง่ของแรงงาน ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ในสัดส่วนมากกว่า 20%
ประชากรในวัยทำงานก็ลดลง ภายในปี 2030 หรือประมาณ 6 ปีข้างหน้า มีอัตราลดลงต่อเนื่องเฉลี่ย 0.7% ต่อปี และจะทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 60% ของประชากรทั้งหมดในปี 2030
ประชากรเด็กลดลงเฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปี สวนทางประชากรสูงวัย ด้วยจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง วัยเด็กลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่สร้างความท้าทายให้เศรษฐกิจอย่างโดดเด่นก็คือ กำลังซื้อในประเทศลดลง
การสะสมทุน: การลงทุนหายไปตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง
เมื่อกำลังแรงงานหดตัว การสะสมทุนหรือเทคโนโลยีควรขึ้นมาแทนที่เพื่อชดเชยปัญหาด้านประชากร แต่ก็พบว่า ระดับการลงุทนในเศรษฐกิจไทยก็หายไปนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง
จากที่มีสะสมทุนเฉลี่ยปีละ 6.6% ต่อปี ลดลงเหลือ 2.1% ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ขาดการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน ทำให้การสะสมทุนในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลดลง
อีกทั้งแนวโน้มความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุนที่ไม่แน่นอน ก็จะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง หนี้ภาคเอกชนก็สูง คุณภาพหนี้ลดลง ทำให้มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ก็ยิ่งทำให้การขยายการลงทุนในไทยลดลงไปด้วย
ผลิตภาพ วิธีเพิ่มผลิตภาพก็คือการชดเชยปัญหาด้านประชากรด้วยเทคโนโลยี
เมื่อประชากรวัยทำงานและวัยเด็กลดลง ผลิตภาพแรงงานก็ลดลงด้วย ผลิตภาพแรงงานสะท้อนความสามารถในการทำงานของแรงงานไทย
ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพของไทยลดลงคือ การเพิ่มขึ้นภาคบริการที่มีมูลค่าหรือผลิตภาพต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม, คุณภาพการศึกษาที่สร้างปัญหาให้กับคุณภาพของแรงงาน และการขาดการลงทุน ทั้งธุรกิจภายในประเทศและต่างประเทศ
ข้อเสนอแนะที่จะช่วยให้ไทยยกระดับศักยภาพ GDP คืออะไร?
เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง
เปิดเสรีภาคบริการ
เพิ่มผลิตภาพภาคเกษตร
ปฏิรูปภาคการคลัง
อ่านเนื้อหาเต็มที่นี่ KKP Research: เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ไม่ใช่พราะโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่เพราะกำลังถดถอย
ที่มา – KKP Research
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา