รู้จัก Colin Huang เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซแห่ง Temu ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในจีนแล้ว

ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณกำลังสู้กับอะไร สู้กับใคร .. ให้ดูที่มาของเขา เขาคือใคร? มาจากไหน? ทำอะไรมาก่อน? และ..โตมายังไงนะคนแบบนี้?

วันนี้ Brand Inside จะพาไปรู้จักเจ้าของ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่กำลังบุกไปทั่วโลก Temu ไม่ใช่แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ธรรมดา เพราะเจ้าของคือวิศวกร ที่เป็นนักคิด ที่เก่งคณิตศาสตร์ระดับโอลิมปิก และดันชอบเล่นเกมซะด้วย…

ฉายภาพคร่าวๆ แบบนี้ พอนึกออกมั้ยว่าแพลตฟอร์มจะเป็นยังไง?

Colin Huang

ทำความรู้จักมหาเศรษฐีจีนที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 1 ของจีน Colin Huang

Colin Huang ไม่ใช่เศรษฐีหน้าใหม่ แต่ติดอันดับเศรษฐีจีนมานานแล้ว เขาประสบความสำเร็จจากเส้นทางธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่สายเกมไปจนถึงอีคอมเมิร์ซ

ปัจจุบันเขาอายุ 44 ปี ใช้เวลาเพียง 4 ปี จากปี 2020 สู่ปี 2024 สินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านล้านบาทเป็น 1.7 ล้านล้านบาท

ถ้าพูดถึง Pinduoduo อาจจะไม่คุ้นหูมาก แต่ถ้าพูดถึง Temu ที่กำลังบุกไทยตอนนี้อาจจะทำให้คุ้นเคยกันบ้าง Colin Huang เป็นคนก่อตั้ง Pinduoduo ยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ที่ครองตลาดจีน ตามหลัง Taobao และ Douyin ตามลำดับ

Pinduoduo คือบริษัทแม่ของแพลตฟอร์ม Temu ที่กำลังบุกเข้าไทย รอดูในอนาคตว่าจะช่วงชิงบัลลังก์อันดับ 1 จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยอย่าง Shopee ได้หรือไม่

e-Commerce ในไทย 3 อันดับแรกที่ครองตลาด แบ่งได้ดังนี้

1. Shopee ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของไทยในอัตรา 49%
2. Lazada มีส่วนแบ่งตลาดที่ 30%
3. TikTok Shop ที่กำลังมาแรงมาก ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 21%

ย้อนกลับมาที่ Colin Huang

ในอดีต เขาเคยเป็นวิศวกรให้กับ Google จากนั้นก็มาสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเอง ชื่อว่า Pinduoduo พื้นที่นี้เต็มไปด้วยสินค้าราคาถูกที่อัดแน่นไปด้วยโปรโมชั่น ก่อตั้งขึ้นปี 2015 แม้เขาจะร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่นาน แต่เขาก็รวยน้อยลงกว่าเดิมค่อนข้างเร็วเช่นกัน

ภาวะการณ์ที่เรียกว่า รวยเร็ว จนเร็ว Bloomberg เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Covid Billionaires” หมายถึงเศรษฐีที่มีรายได้อย่างมหาศาลในช่วงโควิด แต่รายได้ก็หดหายไปอย่างรวดเร็วในช่วงโควิดเช่นกัน Huang ก็เป็นเช่นนั้น ความร่ำรวยของเขาลดลงราว 87%

ช่วงที่รวยลดลงก็คือช่วงที่โควิดแพร่ระบาดชะลอลง เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็ดันเป็นช่วงที่รัฐบาลจีนไล่ทุบบิ๊กเทคทั้งหลายในประเทศด้วยเหตุผลว่าเหล่าเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้เริ่มใหญ่เกินไปแล้ว และความยิ่งใหญ่ที่มากเกินไป นำมาซึ่งภาวะผูกขาดทางเศรษฐกิจนั่นเอง (เรื่องที่รัฐบาลจีนยกขึ้นมาจัดการบิ๊กเทคทั้งหลายก็คือต้องการจัดการกับพวกผูกขาดมากไป)

การขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของ Colin Huang ไม่ได้ขึ้นมาเปล่าๆ แต่เขาได้โค่น Zhong Shanshan (จง ชานชาน) เจ้าพ่ออาณาจักรเครื่องดื่ม น้ำแร่ น้ำชา กาแฟ น้ำผลไม้ ไปจนถึงยาที่รักษาโรค HIV และวัณโรค ฯลฯ

การไต่ขึ้นเป็นอันดับ 1 อย่างรวดเร็วของมหาเศรษฐีจีนอย่าง Huang เกิดจากพฤติกรรมการชอปปิงของคนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังวิกฤตหนี้อสังหาฯ ที่กำลังท่วมจีน ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว

Huang แข็งแกร่งมาก เพราะการขึ้นเป็นมหาเศรษฐีด้านเทคอย่างเขา เขาคือคนแรกที่ครอบครองความมั่งคั่งไว้ได้ในรอบกว่า 3 ปีที่รัฐบาลจีนพยายามไล่กวด เขาไม่ได้เจอแค่ศึกนอก แต่ศึกในก็ถือว่ารอบทิศทาง

ทั้งการประท้วงจากบรรดาซัพพลายเออร์ที่ถูกกดขี่ด้านราคาจากแพลตฟอร์ม ไหนจะให้พนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำจนทนไม่ไหวต้องออกมาประท้วงด้วย แต่เขาก็ยังสามารถผลักดันตัวเองขึ้นสู่อันดับ 1 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ Huang คงต้องขอบคุณเหล่าผู้บริโภคที่รักของถูกสัญชาติจีนทั้งหลายจนทำให้เขาร่ำรวยอย่างมหาศาล

ถ้าเทียบความร่ำรวยของพ่อค้ายักษ์ใหญ่ชาวจีน เช่น Jack Ma นั่นก็รวยคงที่ ไม่ได้พุ่งทะยานขึ้นเหมือน Huang ส่วน Zhong Shanshan เรียกได้ว่ากราฟความรวยค่อยๆ ดิ่งลงจนหัวทิ่ม แต่ก็ทำให้ Huang ผงาดขึ้นมาแทนที่ได้

Temu e-commerce China

Huang ในวัยเด็ก เก่งโดดเด่นตั้งแต่แรกเริ่ม

Huang เกิดในช่วงปี 1980 พ่อแม่เป็นคนงานในโรงงานในเขตชานเมือง Hangzhou (ซึ่งก็เป็นฐานที่ตั้งของยักษ์ใหญ่อาลีบาบาด้วย) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของ Zhejiang

ในห้วงยามที่ Huang ยังเยาว์ เขาเรียนเลขเก่งมาก เก่งระดับชนะคณิตศาสตร์โอลิมปิก…จากเด็กนักเรียนโรงเรียนธรรมดา แต่ความเก่งเข้าขั้นพิเศษทำให้อาจารย์ต้องขอให้เขาสอบเข้า Hangzhou Foreign Language School (HFLS) ทีแรกเขาก็ตัดสินใจไม่ไป เพราะเขาอยากเรียนในโรงเรียนที่สอนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมีเข้มข้น

แต่ในที่สุดเขาก็ใจอ่อนยอมไปตามที่อาจารย์พยายามโน้มน้าวให้เขาไป พอมองย้อนกลับไปเขาก็รู้สึกดีที่เลือกไปเรียนที่ HFLS โรงเรียนนี้ค่อนข้างเสรีและทำให้เขาได้ซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกและได้รับอิทธิพลวิธีการสอนจากโรงเรียนนี้ค่อนข้างมาก

เขาได้ร่ำเรียนท่ามกลางเด็กๆ ในสังคมระดับอีลีท หลังจากนั้นเขาก็เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ Zhejiang University เริ่มหันหลังให้จีนในปี 2002 และไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Wisconsin สหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่ที่ได้เรียนโรงเรียนระดับอินเตอร์ที่เต็มไปด้วยเด็กๆ จากครอบครัวชนชั้นสูง ตามด้วยมหาวิทยาลัยที่ Zhejiang จวบจนมหาวิทยาลัย Wisconsin นั้น ต้องบอกว่า มันคือการบ่มเพาะความขบถที่หาไม่ได้จากจีนแท้ๆ ภายในประเทศของเขาเอง

เขาหลุดกรอบมาตั้งแต่สมัยเรียนระดับมัธยมปลายแล้ว แน่นอนมันมาจากความเก่งกาจของเขาด้วยแต่ก็เพราะอยู่ท่ามกลางสังคมใหม่และแปลก ทั้งหมดนี้ทำให้ Huang โดดเด่นและมีความคิดที่เสรี ไม่ยึดติดกรอบความคิดเก่าๆ แบบคนจีนทั่วไป

จากรั้วการศึกษาที่ปั้นให้เขากลายเป็นคนจีนที่ฉีกจากขนบจีนแท้ สู่มืออาชีพเทียบเท่าฝรั่งหัวทอง

Huang เริ่มต้นเป็นวิศวกรที่ Google จริง แต่ชีวิตแรกเริ่มการทำงานของเขาไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรก แต่มันหล่อหลอมมาจาก Microsoft ต่างหากล่ะ

เขาได้รับเงินเดือนงวดแรกในชีวิตจาก Microsoft Beijing ที่แห่งนี้คือที่ฝึกงานแห่งแรกของเขา แต่เขาไม่ได้อยู่ต่อหลังจบการศึกษา เขาทำตามคำแนะนำของ Mentor ของเขาว่า ให้มองหางานที่ Google สิ

Huang มีเมนทอร์ที่ดีมากมาโดยตลอด ในชีวิตจะมีใครแนะนำหนทางที่ทำให้ชีวิตคนเจริญได้ต่อเนื่องได้มากขนาดนี้ เขาอาจจะมีคนที่ไกด์ผิดพลาดบ้าง แต่อาจไม่ได้เก็บมาเล่า

แต่นั่นแหละ ผลจากการมีเมนทอร์ในชีวิตที่ดี ทำให้เขารุ่งเรืองขึ้นได้ไม่ยาก แน่นอนว่า เมนทอร์ที่ดีและจริงใจต่อชีวิตเราจริงๆ นั้น หายากกแสนยาก

เขามาทำงานที่ Google ตามที่ที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่เขา ได้ทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ก่อนจะกลายเป็น Product Manager ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ Google กำลังจะบุกจีน Haung ก็คือส่วนหนึ่งของทีม Google ที่เข้ามาบุกจีนได้สำเร็จ

Huang ร่วมหัวจมท้ายกับ Google จนสามารถระดมทุนได้ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงนั้น ผลกำไรจากการดำเนินงานรวมถึงจำนวนพนักงานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน เงินในบัญชีของเขาก็งอกงามตามไปด้วย เขาไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเองโชคดีเพียงใดที่ได้อยู่ใน Google

จนกระทั่งลาออกจาก Google แล้ว เขาถึงตระหนักได้ว่ามันยากเย็นเสียเหลือเกินที่จะร่วมงานอยู่ในองค์กรอย่าง Google ได้ นั่นก็ถือเป็นโอกาสงามๆ ที่เขาได้รับและเขาก็รู้สึกว่าเขา..โชคดีมากกก

China dilution

ถึงเวลาปั้นตัวเองในเส้นทางมืออาชีพบ้าง
เปิดเส้นทาง Serial Entrepreneur..ของแทร่

Serial Entrepreneur คืออะไร?

ถ้าพูดถึงคำว่าผู้ประกอบการหรือ Entrepreneur ก็มักจะเป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิด American dream ทั่วไป ที่ผู้คนมักจะใฝ่ฝันที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองสักอย่างหนึ่ง ทำให้มันเติบโตต่อไปเรื่อยๆ นั่นแหละคือผู้ประกอบการทั่วไป หรือที่เราเรียกกันว่า Entrepreneur

แต่สำหรับ Serial Entrepreneur ก็คือ คนที่รันธุรกิจ ทำให้มันเติบโต แล้วก็ขายออก และก็รันตัวใหม่ขึ้นมา โดยไม่ยึดติดว่าจะทำธุรกิจใดธุรกิจเดียวไปตลอดกาล และไม่ยึดติดว่าต้องผูกขาดตำแหน่งผู้บริหารคนเดียวคนเดิมในธุรกิจนั้น ตำแหน่งมันสามารถส่งต่อกันได้

จุดเด่นของ Serial Entrepreneur ก็คือ สร้างธุรกิจขึ้นมา ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปจนกอบโกยกำไรได้มากมายหรือไม่ก็อาจจะล้มเหลว เขาก็จะเก็บบทเรียนจากความล้มเหลวนั้นและพัฒนาขึ้นใหม่

จากนั้นก็เริ่มขายธุรกิจเอากำไร และใช้กำไรนั้นสร้างธุรกิจใหม่ และอุดช่องโหว่ที่เคยบกพร่องหรือพลั้งพลาดและก็ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ Huang ก็คือหนึ่งในนั้น

เส้นทางอาชีพของนักปั้นมืออาชีพ

Huang ก่อตั้งบริษัทแรกของตัวเองในปี 2007 บริษัทที่ว่าก็คือ Oukou เป็นอีคอมเมิร์ซ เป็นบริษัทที่ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หลังจากนั้นก็ขายออกไปในปี 2010

ต่อมา Huang เดินหน้าเปิดบริษัทใหม่แห่งที่ 2 บริษัท Leqi ช่วยทำให้แบรนด์ต่างประเทศทำการตลาดบนร้านค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนได้เหมือนกับ Tmall และ JD.com

ยังไม่จบ..Huang เริ่มเข้าสู่การทำสตูดิโอเกม Xunmeng เป็นแนว RPG เป็นเกมที่เล่นตามบทบาท เดินเรื่องตามเนื้อเรื่องในเกม มักเป็นเกมที่ใช้คาแรคเตอร์ผู้หญิงใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น

ขณะที่กำลังสนุกสนานกับการเป็น Serial Entrepreneur เขาก็ดันป่วยเป็นโรคติดเชื้อในหูในปี 2013 ทำให้เขาต้องวางมือเพื่อรักษาตัว แต่ไอเดียในการก่อตั้ง PDD หรือ Pinduoduo (บริษัทแม่ของ Temu) ก็ค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น จากนั้นเขาก็ทำคลอด PDD ในปี 2015

ประสบการณ์จากการทำเกม ส่งผลให้เขานำมาใช้กับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ Pinduoduo ด้วยการทำให้เป็นแอปชอปปิงที่มีความเป็นเกมและมีฟีเจอร์ให้คนเล่นแล้วรู้สึกสนุก เกมในแอปชอปปิงเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้คนเข้าแอปทุกวัน Huang ยังระบุในหนังสือชี้ชวน IPO ไว้ด้วยว่า PDD ก็เหมือนการผสมผสานกันระหว่าง Costco (ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของอเมริกา) และ Disneyland (สวนสนุกดิสนีย์)

PDD ยังให้รางวัลนักชอปเป็นเงินเพื่อเป็นรางวัลสำหรับเล่นเกมด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะดึงคนเข้าแพลตฟอร์ม วิธีการของเขาก็คือ ดึงนักชอปเข้ามาแอปมากๆ ผู้ขายในแพลตฟอร์มก็ทำหน้าที่จ่ายเงินค่าโฆษณาไป จากนั้นบริษัทก็ทำเงินจากรายได้นี้มากกว่าจะสร้างยอดขายเสียอีก

China

คำนิยามที่สวยหรู ย่อมเชิดชูให้ผลผลิตดูงดงามตามไปด้วย

เรามักจะมองว่าจีนตีตลาดด้วยสินค้าราคาถูก บ้างก็มองว่าจีนหาทางเอาขยะมาทิ้งในไทยด้วยวิธีขายของถูกของที่ใช้แล้วทิ้ง ของไม่ทน แน่นอน ถ้าไม่เข้าข้างจีนมากจนเกินไป มันก็มักจะเป็นเช่นนั้น แต่นั่นก็เป็นเพราะต้นทุนของเขาที่ค่อนข้างต่ำ บวกทรัพยากรที่มีอย่างมหาศาล และยังมีนโยบายการค้าที่เกื้อหนุนให้จีนยิ่งเติบโต

หลายต่อหลายครั้งที่ได้สินค้าคุณภาพต่ำแลกกับราคาที่ถูก ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองเช่นนี้ และความจริงที่แน่แท้ก็คือ เราสู้ไม่ได้ หลายบริษัทต้องปิดตัวเพราะสู้ทุนจีนที่ถูกกว่าบุกตลาดไม่ไหว

ท่ามกลางสายตาของโลกภายนอกที่มองเช่นนั้น แต่เจ้าของมองโลกอีกแบบ Huang กลับให้คำนิยามที่กลบความคิดเหล่านี้ได้แยบคาย หรืออย่างน้อยถ้าเขาคิดเช่นนั้นจริงๆ ก็ถือว่างดงาม เพราะเขาชี้ให้เห็นว่าเขากำลังคำนึงถึงคนที่มีวิถีชีวิตลำบากยากไร้ในประเทศของเขาเอง (อันนี้ยังไม่นับการมาไล่ตามหาตลาดนอกประเทศ) .. ความคิดที่ว่าคืออะไร?

Huang ระบุว่า PDD หรือ Pinduoduo นั้นไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มที่ทำให้เหล่าคนจีนในเซี่ยงไฮ้รู้สึกว่าพวกเขาได้มีวิถีชีวิตที่หรูหราราวกับชาวปารีสหรอกนะ

แต่..เขาบอกว่า เขาต้องการทำให้แน่ใจว่าคนจีนที่เป็นชาวมณฑลอานฮุย (เขาเลือกนึกถึง และระบุถึงมณฑลที่ยากจนที่สุดในภาคตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งก็เป็นเขตแดนที่อยู่ใกล้กับบ้านเกิดเขาด้วย น่าจะเป็นเพราะเขาได้ซึมซับบรรยากาศด้วย อย่าลืมว่าเขาก็เป็นลูกคนงานจากโรงงานด้วยเช่นกัน) เขาหวังว่าคนยากไร้เหล่านี้ จะมีกระดาษทิชชูดีๆ ไว้ใช้ หรือมีผลไม้สดๆ ได้ทานกัน

Huang ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Caijing ของจีนไว้เมื่อปี 2018 ว่า การทำแพลตฟอร์มที่ใครๆ ก็มองว่ามีแต่สินค้าราคาถูกนั้น เป้าหมายของเขาไม่ได้ต้องการขายสินค้าถูก แต่เขาต้องการให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของเขาได้รับข้อเสนอหรือได้รับดีลที่ดี

ถ้าไล่ดูประวัติของ Huang จะเห็นว่า เขาลงจากตำแหน่งช่วงแรกเพราะป่วย หลังจากนั้น Pinduoduo ก็เกิด ช่วงที่สองก็เป็นช่วงที่ Huang ถูกไล่กวดจากรัฐบาลจีนเพราะเป็นบิ๊กเทค แต่ช่วงนั้นเขาลงจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่าต้องการไปค้นคว้าเรื่องอาหารและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว

การหลีกหนีจากสังคมไปช่วงหนึ่ง ก็เหมือนเป็นการปลีกตัวออกจากเรดาร์ที่เขากำลังถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลจีนด้วย และช่วงนั้น Temu ก็ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นด้วยซ้ำ เขาเลือกจะหลีกหนีออกจากเรดาร์ของรัฐ จากคู่แข่ง และไปซ่อนตัวฟักไข่แพลตฟอร์มตัวใหม่เพื่อให้มันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาแรง มาใหม่ และขยายตลาดได้ดีกว่าเดิม

และแล้วเขาก็กลับมาอยู่ในเรดาร์ความสนใจของผู้คนอีกครั้ง หลังทำคลอด Temu สำเร็จ..การกลับมาอีกครั้งของเขา ใช้เวลาไม่นานเขาก็ไต่ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีนไปแล้วเรียบร้อย

Hurun-Top-10-Billionaire-lose

ที่มา – Bloomberg, Business Insider, Teachable

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา