Ford คาดปีนี้ปิดยอดขาย 25,000 คัน ลดลงจาก 43,000 คัน ส่วนตลาดรถยนต์ไทยจบ 6.4 แสนคัน ลดลงหลักแสน

Ford ประเทศไทยคาดปี 2024 ยอดขายปิดที่ 25,000 คัน ลดลงจากปี 2023 ที่ทำได้ 43,000 คัน พร้อมรักษาดีลเลอร์ เพิ่มคลังสินค้า ย้ำไม่มีย้าย หรือปิดโรงงานเพราะไทยเป็นฐานส่งออกสำคัญ ส่วนภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยปี 2024 มองที่ 6.4 แสนคัน ลดลงจากปี 2023 ที่ทำได้ 7.7 แสนคัน เหตุสินเชื่อปล่อยยาก หนี้ครัวเรือนยังสูง

ฟอร์ด

Ford หวังปี 2024 ปิดยอดขายที่ 25,000 คัน

รัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ Ford ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ในปี 2024 บริษัทมีการปรับเป้าหมายยอดขายลดลง โดยจะปิดที่ 24,000-25,000 คัน หลังครึ่งแรกของปี 2024 ทำยอดขายได้ 11,000 คัน พร้อมรักษายอดส่วนแบ่งตลาด 9% เอาไว้เช่นเดิม

อย่างไรก็ตามในปี 2023 ฟอร์ดจำหน่ายรถยนต์ได้ 43,000 คัน โดยหลักมาจากกลุ่มรถกระบะยกสูง และรถ PPV ที่มีราคาสูงกว่า 9 แสนบาทขึ้นไป ส่วนเหตุผลที่ยอดขายลดลงมากขนาดนี้มาจากภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวอย่างหนัก ผ่านความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และหนี้ครัวเรือนที่สูง

“โชคดีที่ฟอร์ดจับกลุ่มลูกค้ามีบัญชีเงินเดือนผ่านการจำหน่ายรถกระบะ และ PPV ที่ราคาสูงกว่า 9 แสนบาทขึ้นไป แต่กลุ่มที่อาการหนักตอนนี้คือกระบะราคาราว 7 แสนบาท ที่กลุ่มนี้ถูกเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่การจำหน่ายรถยนต์ในไทยทำได้ยากขึ้น”

บริษัทแม่ยังให้ความสำคัญกับไทยเหมือนเดิม

รัฐการ ย้ำว่า บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญกับประเทศไทยเช่นเดิม และไทยยังเป็นฐานการผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกในภูมิภาคนี้ของฟอร์ด ผ่านยอดการส่งออกหลักแสนคันที่ไม่ได้มีแนวโน้มลดลงมากนัก ทำให้โรงงานมีการหยุดสายการผลิตน้อยกว่าแบรนด์อื่น ๆ ที่หยุดกัน 4 วัน หรือมากกว่านั้น

“บริษัทแม่มองเราว่า GDP เราเติบโตต่ำเกือบที่สุดในอาเซียน ดังนั้นในฐานะไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ ทำให้ผมมีหน้าที่ต้องรักษาดีลเลอร์ไว้ให้ได้ เพื่อรอเวลามันกลับมาเติบโต ซึ่งตอนนี้เราคาดการณ์ภาพรวมตลาดอย่างน้อย 3 ปี เพื่อวางแผนว่าอนาคตของการทำตลาดของฟอร์ดในประเทศไทยเป็นอย่างไร”

“อุตสาหกรรมรถยนต์วันนี้ Business Model มันต่างจากอดีต ไม่ต้องมีโชว์รูมเยอะก็ขายออนไลน์ได้ ดังนั้นที่ต้องพัฒนาคืองานบริการต้องสะดวก โดยเฉพาะบางดีลเลอร์ที่ถือหลายสาขา บางคนก็ไป EV บ้าง ซึ่งเป็นการตัดสินใจของเขา และฟอร์ดเองก็ไม่ได้ Force ให้เขาอยู่กับเรา”

สำหรับยอดดีลเลอร์ของฟอร์ดในประเทศไทยมีกระจายเกือบครบทุกจังหวัดผ่านสิ้นเดือน มิ.ย. 2024 ที่จำนวน 158 ราย ลดลงจากต้นปีที่มี 169 ราย โดยสิ้นปี 2024 จะพยายามรักษาตัวเลขดังกล่าวไว้ ส่วนที่หายไปมักจะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดยังแข็งแกร่ง

ไม่ย้ายโรงงาน เผยศึกษานโยบายไฮบริด

จากแผนดังกล่าว ฟอร์ดยืนยันว่าบริษัทไม่มีแผนย้าย หรือยุติการผลิตรถยนต์ในโรงงานทั้งสองแห่งที่ประเทศไทย แม้ในอาเซียนจะมีโรงงานประกอบที่เวียดนาม และกัมพูชาก็ตาม ขณะเดียวกันจากการที่บอร์ดอีวีเตรียมออกมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดในประเทศไทย ทางฟอร์ดยังอยู่ระหว่างศึกษา

“เรื่องไฮบริดเราเพิ่งได้รับข้อมูลมา และมันต้องศึกษาไปก่อน โดยจุดยืนของเราคือ สนับสนุนให้เกิดมาตรการใด ๆ มาช่วยสร้างความสมดุลระหว่างรถเครื่องยนต์สันดาปภายในกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ซึ่งปัจจุบันฟอร์ดมีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ทุกรูปแบบในระดับโลก เราจึงค่อนข้างพร้อมในเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตามการเข้าไปลงทุนการผลิตไฮบริดนั้นต้องมีการลงทุนเพิ่ม จึงต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการเข้าไปลงทุน แต่จากมาตรการดังกล่าวของบอร์ดอีวีน่าจะมีแนวโน้มส่งเสริมให้ภาพรวมรถยนต์ไฮบริดนั้นเติบโตในประเทศไทย

หากอ้างอิงจากข้อมูลของ BOI จะพบว่า มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วง ปี 2571 – 2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ทุก 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้านก่อนการรับสิทธิ ดังนี้

  • ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
    • การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6
    • การปล่อย CO2 101 – 120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
  • ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
  • ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น ได้แก่ BMS, DCU, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ BEV, Electrical Circuit Breaker, DC/DC Converter, High Voltage Harness, Battery Cooling System, Regenerative Braking System โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน
    • กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง จะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง
    • กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น
  • ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW) ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยน ช่องจราจร (LDW) ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)

NPL รถกระบะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัว

อย่างไรก็ตามจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้กลุ่มผู้ซื้อรถกระบะกลายเป็น NPL สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัว ซึ่งโชคดีที่ฟอร์ดเน้นจำหน่ายรถกระบะในราคาที่เกือบล้านบาทจึงมีค่อนข้างน้อย เช่น รุ่น Raptor ขายเดือนละ 150 คัน 60% เป็นเครื่องดีเซล และมีคนซื้อเงินสดถึง 40% โดย 80% เป็น Self Employed

“เมื่อคนซื้อเราเป็น Self Employed ค่อนข้างเยอะ ซึ่งคำดังล่าวไม่ได้หมายถึงแค่พ่อค้าแม่ค้า แต่รวมถึงเจ้าของกิจการด้วย ดังนั้นการเข้มงวดของสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการปล่อยสินเชื่ออาจต้องลองพิจารณาความเข้มงวดใหม่ เพราะความเข้มงวดนี้เองก็สร้างปัญหาในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย”

รัฐการ ยอมรับว่า ในอดีตการกู้ร่วมซื้อรถกระบะในประเทศไทยถือเป็นเรื่องปกติ เช่น ลูกใช้ชื่อพ่อ, แม่ และคนอื่นในครอบครัวเพื่อให้ได้รถกระบะเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ และนำมาสร้างรายได้ 1 คัน แต่ปัจจุบันการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีแล้ว และสร้างผลกระทบให้ยอดขายรถกระบะหดตัวอย่างหนัก

ภาพรวมตลาดรถยนต์ที่ปีนี้เหลือ 6.4 แสนคัน

การหดตัวของตลาดรถกระบะ และรถเก๋งขนาดเล็ก สร้างผลกระทบทางด้านลบมากกว่าการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะจากปี 2023 มียอดขายรถยนต์ในประเทศไทย 7.7 แสนคัน แต่ด้วยรถกระบะ, รถ PPV และรถเก๋งขนาดเล็กต่างมียอดขายลดลง 40% จนปี 2024 อาจมีรถยนต์ใหม่ขายแค่ 6.4 แสนคันเท่านั้น

“ถึงกลางปีตลาดรถยนต์ไทยอยู่ที่ได้ 3.7 แสนคัน โดยทางฟอร์ดหวังว่าตลาดครึ่งปีหลังจะเติบโต 10% จากครึ่งปีแรก แต่ถ้าถามว่า Agressive หรือไม่ ก็คงต้องบอกว่า เดือน ก.ค. 2024 มีการขายอยู่ที่ 44,000 คัน ดังนั้นถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ทุกคนต้องช่วยกันขายให้ได้เดือนละ 55,000 คัน”

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ครองตำแหน่งรถที่มียอดขายดีที่สุดอันดับ 3 ทั้งในเซ็กเมนต์รถกระบะและ PPV ได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยยอดขายรวม 11,282 คัน ทำให้ฟอร์ด รักษาตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยส่วนแบ่งตลาด 29% และยังเป็นอันดับ 1 ในตลาดรถกระบะ 4×4 แบบสี่ประตู ด้วยส่วนแบ่งตลาด 37% ด้านรถฟอร์ด เอเวอเรสต์ กระแสดีต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 27% ในเดือนเมษายน หลังจากการเปิดตัวฟอร์ด เอเวอเรสต์ แพลทินัม เมื่อต้นปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา