ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ “หมออ๋อง” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวงาน Open Parliament Hackathon 2024 ที่รัฐสภาไทยจะเปิดข้อมูล Open Data เป็นครั้งแรก เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะจัดงานในวันที่ 6-7 ส.ค. 2567 และเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาจะเปิดให้นอนค้างคืนได้!
มาร่วมกันทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากขึ้น เข้าถึงได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ร่วมกัน สมัครได้ที่นี่ รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 500 คน ซึ่งปัจจุบันมีสมัครเข้ามามากกว่า 250 คนแล้ว
หมออ๋อง บอกว่า รัฐสภามี 4 หน้าที่หลัก คือ 1. ออกกฎหมาย, 2. ผ่านงบประมาณประจำปี, 3. ติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาล และ 4. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ต้องมีการประเมินผลด้วยว่าทำหน้าที่ทั้ง 4 ได้ดีหรือไม่ ใช้งบประมาณกว่า 6,500 ล้านบาทต่อปี มีเจ้าหน้าที่กว่า 4,000 คน มี สส.และ สว. สามาถผ่านกฎหมายที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนออกมามากน้อยแค่ไหน เช่นปีนี้มีกฎหมายออกมาแค่ 2 ฉบับ คุ้มค่างบประมาณจากภาษีประชาชนแล้วหรือยัง
การทำ Open Data ในครั้งนี้คาดหวังว่าจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความโกรธเกรี้ยวและเปลี่ยนเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนจะได้รู้ว่า รัฐสภามีข้อมูลอะไรบ้าง มีโครงการอะไรที่จะดำเนินการ ใช้งบประมาณเท่าไร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของปีนี้คือ จากงบประมาณรวม มีสัดส่วนเป็นงบด้านไอทีประมาณ 1,000 ล้านบาท พบว่ามีอย่างน้อย 4 โครงการที่ไม่มี หรือ มีประโยชน์น้อยมาก และมูลค่าโครงการสูงด้วย (ตามรูป)
ทั้ง 4 โครงการนี้สั่งระงับไปเรียบร้อยแล้ว และการทำ Open Data จะทำให้เห็นโครงการอื่นๆ อีกว่ามีอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร และจะเปิดไปจนถึงโครงการปี 68-70 ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัท Startup ไทยเห็นโครงการ และเตรียมตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารัฐสภาให้ดีขึ้น เชื่อว่าแค่งบประมาณด้านไอที 1,000 ล้านบาทต่อปี สามารถเปลี่ยนให้รัฐสภาไทย เป็น Digital Parliament ได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ในอนาคต
“การเปิด Open Data จะสร้างความโปร่งใส ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ได้เห็นว่า โครงการไหนใช้เงินเท่าไร มันสมเหตุสมผลหรือไม่ และเมื่อรัฐสภาทำแล้ว จะเกิด Snow Ball ไหลไปสู่หน่วยงานรัฐอื่นๆ”
ในงาน Open Parliament Hackathon 2024 จะมีกิจกรรมดังนี้
- ร่วมสร้างสรรค์บริการดิจิทัลจากข้อมูลเปิดของรัฐสภา
- นำเทคโนโลยี AI, Big Data และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการทำงานของรัฐสภา
- รับคำแนะนำจาก Tech Mentors และ Parliament Mentors ระดับประเทศ
- เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับระบบการเมืองไทย
ด้านณัฐพงษ์ บอกว่า การทำ Open Data ศึกษาจากกฎหมายของเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่หน่วยงานภาครัฐพัฒนาเป็นดิจิทัลมากที่สุดของโลก ระบุว่าฐานข้อมูลของรัฐบาลถือเป็นข้อมูลสาธารณะ ทุกอย่างเปิดให้เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการร่วมกันพัฒนาระบบของประเทศอย่างกว้างขวาง ขณะที่ของประเทศไทยข้อมูลทุกอย่างถูกปิด ถ้าอยากเข้าถึงต้องร้องขอเข้ามา ใช้เวลานาน ถือเป็นส่ิงที่ต้องแก้ไข
สำหรับรัฐสภาไทย มีข้อมูล 4 ระบบ 4 ระบบ มีทั้งกระบวนการงานสภา, บันทึกรายงานการประชุม (ย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นรัฐสภาไทยปี 2475 แต่อยู่ในรูปเอกสารสแกน ถ้าเป็น Full-text จะมีตั้งแต่ราวปี 254x เป็นต้นมา), คลังความรู้ของสภา และเอกสารงบประมาณ โดยข้อมูล 3 ส่วนแรกลอง Dump Database ออกมาแล้วมีขนาดประมาณ 500MB สามารถเอาไปใช้งานด้านต่างๆ ได้อีกมาก
ณัฐพงษ์ ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น รัฐสภาเยอรมนี ที่มีคลิปบันทึกการพูดของ ส.ส. ทุกคนไว้ทั้งหมด และสามารถทำ Full Text Search ค้นหาสิ่งที่ ส.ส. ค้นนั้นพูดไว้ด้วย Keyword มีรูปแบบวิดีโอที่ดูได้ทันที เป็นเครื่องมือตรวจเช็ค Digital Footprint ชั้นดี ใช้จับโกหกนักการเมืองได้ ส่วนไอเดียสิ่งที่น่าทำกับข้อมูลเปิดของรัฐสภาไทย เช่น
- ระบบวิเคราะห์งบประมาณของรัฐสภา ว่าจ่ายค่าไฟเท่าไร ค่าอาหารเท่าไร แล้วได้กฎหมายกี่ฉบับ
- ลองเอาบันทึกการประชุมสภาย้อนหลังมาวิเคราะห์ข้อความ ทำ Word Cloud ดูว่ารัฐสภาไทยพูดเรื่องอะไรกันบ่อยที่สุด
- เอาเอกสารงบประมาณมาประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชัน
หลังจากจบกระบวนการ Hackathon แล้ว โครงการผลักดันรัฐสภาให้เปิดกว้างยังไม่จบลง เพราะไอเดียต่างๆ จะถูกรวบรวมและเสนอเข้าอนุกรรมการด้านไอทีของรัฐสภาอีกที หากมีไอเดียที่น่าสนใจและพัฒนาต่อ ก็จะพัฒนาเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2568-2570 มี TOR ตามระบบ และเชื้อเชิญให้บริษัทสตาร์ตอัพไทยมาแข่งขันกันรับงานไป รัฐสภาจะได้ระบบไอทีที่โดนใจประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ ส่วนสตาร์ตอัพไทยก็จะได้งานภาครัฐไปหล่อเลี้ยงให้ตัวเองเติบโตขึ้นพร้อมกัน
ณัฐพงษ์ เรียกแนวคิดการจ้างบริษัทสตาร์ตอัพไทยว่า Thai-first ควรให้โอกาสบริษัทผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถ มากกว่าการจ้างบริษัท “ขาประจำ” ที่รับงานภาครัฐอยู่บ่อยๆ ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส เผยแพร่ให้คนรู้จักเยอะๆ เน้นการแข่งขัน ไม่ให้ล็อคสเปกได้ โดยตรงนี้พาร์ทเนอร์กับ DEPA ที่มี บัญชีบริการดิจิทัล (Thailand Digital Catalog) รวมรายชื่อบริษัทไทยที่ให้บริการด้านดิจิทัล และสมาคม Thai Startup ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทสตาร์ตอัพจำนวนมากอยู่แล้ว
หมออ๋อง บอกว่าการผลักดัน Open Parliament เป็นภารกิจที่รัฐสภาต้องทำในระยะยาว อย่างน้อยถึงปี 2570 และจะยังเดินหน้าต่อไป แม้พรรคก้าวไกลถูกยุบในวันที่ 7 สิงหาคม เพราะเป็นภารกิจของข้าราชการรัฐสภาด้วย ส่วนณัฐพงษ์บอกว่าถึงแม้พรรคถูกยุบ ตนเองยังมีสถานะเป็น ส.ส. และเป็นบอร์ดไอทีของรัฐสภาเช่นเดิม ก็จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอน อีกทั้งในงาน Hackathon ครั้งนี้ยังมี ส.ส. ของพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมด้วยเช่นกัน เป็นวาระร่วมของสภามากกว่าจะเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา