Smile to Pay อีกหมัดเด็ดของ KFC ในจีน เพื่อฟื้นความนิยมของแบรนด์กับกลุ่ม Millennial

เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น KFC ในประเทศจีนจึงเดินเกมด้วยการส่งนวัตกรรม Smile to Pay หรือแค่ยิ้มก็จ่ายเงินได้ รวมถึงยังปรับสาขาให้เน้นขายอาหารสุขภาพ แทนที่จะเป็นเมนูไก่ทอดเหมือนที่อื่นๆ

เกมเทคโนโลยีที่ดึงความสนใจผู้ใช้บริการ

หลังยอดขายชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2555 ร้าน KFC ในประเทศจีนภายใต้การบริหารของ Yum China ก็ปรับตัวมาตลอด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะตอนนั้นเรื่องคุณภาพของอาหารก็ทำให้เสียลูกค้าไปพอสมควร ซึ่งการปรับตัวในครั้งนี้ กลุ่มยักษ์ใหญ่ในโลกร้านอาหาร Fast Food ผ่านสาขาทั่วจีน 7,685 แห่ง เลือกใช้เทคโนโลยีใหม่มาเป็นเครื่องมือสำคัญ

สำหรับสาขาแรกที่จะเดินเกมเทคโนโลยีก็คือสาขาหนึ่งในเมืองหางโจว ผ่านการติดตั้งเครื่องตรวจจับใบหน้า เพื่อเปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินด้วยรอยยิ้ม หรือ Smile to Pay โดยร่วมมือกับ Ant Financial ยักษ์ใหญ่ในวงการ Fintech ของโลก และถือเป็นครั้งแรกที่ Ant Financial นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจด้วย

Joey Wat ประธานของ Yum China เล่าให้ฟังว่า การมุ่งทำอะไรเพื่อตอบโจทย์กลุ่ม Millennial ก็เพื่อสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง เพราะคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจีนอีก 10 ข้างหน้า และถ้าแบรนด์รักษากลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ได้ โอกาสที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนก็มีสูง เพราะล่าสุดก็กลับมามียอดขายดีอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ปั้น K Pro สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์

ส่วนการใช้บริการ Smile to Pay นั้นผู้ใช้บริการเพียงนำหน้าไปสแกนบริเวณเคาท์เตอร์ชำระเงิน หลังจากนั้นตัวเครื่องจะให้กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อการันตีว่าเป็นบุคคลคนนั้น และด้วยเทคโนโลยีกล้องระดับสูง ทำให้แยกได้ระหว่างหน้าคนจริงๆ กับการนำรูป หรือภาพเคลื่อนไหวมาหลอกว่าเป็นคนจริงๆ ได้

นอกจากนี้สาขาดังกล่าวในหางโจวยังใช้แบรนด์ K PRO หรือร้านอาหารสุขภาพ ที่จะมีให้เลือกทั้งสลัด และแซนวิชแบบ Panini ที่ใช้ผักตามฤดูกาล รวมถึงไก่ย่าง ที่ไม่ใช่ไก่ทอดเหมือนกับร้าน KFC ทั่วไป และเครื่องดื่มที่เป็นน้ำผลไม้สด เพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โดยเริ่มมีความคิดรักษาสุขภาพมากขึ้น

สรุป

ถือเป็นอีกนวัตกรรมในการดึงดูดให้บริโภคเข้ามาใช้งาน และอำนวยความสะดวกด้วยความปลอดภัย เพียงแค่มีบัญชี Alipay ก็สามารถยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าอย่างสะดวกสบาย และคิดว่าการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าจะเริ่มถูกใช้งานมากขึ้น และค่อยๆ แพร่หลายในธุรกิจต่างๆ เช่นกัน

อ้างอิง // Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา