‘เดอะแบกไทย’ 3.4 ล้านบ้าน สุขภาพจิตมีปัญหา เปราะบางทางการเงิน ออมได้น้อย จนแก่ไปอาจต้องพึ่งเบี้ยยังชีพ

ตอนเด็กๆ เคยโดนคุณครูถามไหมว่าในครอบครัวมีสมาชิกกี่คน? เมื่อได้ลองฟังเพื่อนๆ ตอบ เราก็จะเห็นว่าบางบ้านมีสมาชิกมากมาย ดูเป็นครอบครัวที่คึกคักและไม่มีวันเหงา แต่พอโตมา เคยสงสัยกันไหมว่า ในครัวเรือนที่มีคนอยู่เยอะขนาดนี้ ใครจะรับบทบาทหัวหน้าครอบครัว?

แบก

ด้วยความที่จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัยแรงงานยังมีเท่าเดิมหรือลดลง ประชากรในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย จึงกลายเป็นคนกลุ่ม ‘Sandwich Generation’ ที่สมาชิกเจนหนึ่งในครอบครัวจะต้องรับผิดชอบทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเองในด้านการเงิน ร่างกาย และทรัพยากรอื่นๆ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘เดอะแบก’ ของบ้าน

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า เกือบ 25% ของประชาชนในสหรัฐอเมริกา ต้องดูแลผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป พร้อมกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้พวกเขาอาจมีปัญหาทางการเงินหนักกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า ทั้งยังมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าบุตรหลานที่ดูแลแค่ผู้สูงอายุด้วย

ไทยมีครอบครัวที่มี ‘เดอะแบก’ 3.4 ล้านบ้าน

แม้การศึกษาเรื่อง Sandwich Generation ในไทยอาจยังมีไม่มากนัก แต่จากบริบทสังคมที่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวและค่านิยมการพึ่งพาอาศัยกัน จึงเป็นไปได้ว่าประเทศเราอาจมีคนกลุ่มที่เป็น Sandwich Generation หรือ ‘เดอะแบก’ อยู่ไม่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณานิยามของครัวเรือน อาจกล่าวได้ว่าครัวเรือน Sandwich มีความใกล้เคียงกับครัวเรือนขยายหรือครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยกันตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป

ดังนั้น จากข้อมูลในปี 2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยจึงมีครัวเรือนลักษณะเป็น Sandwich หรือเป็นครอบครัวที่มีคนต้องแบกคน 2 รุ่นอยู่ทั้งสิ้น 3.4 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 14% ของครัวเรือนทั่วประเทศ โดย

  • 97.1% เป็นครัวเรือน 3 รุ่น
  • 75.4% ของครัวเรือนสามรุ่นมีความสัมพันธ์ที่หัวหน้าครอบครัวอาศัยอยู่กับลูกและหลาน
  • 20.1% ของครัวเรือนสามรุ่นมีความสัมพันธ์ที่หัวหน้าครอบครัวอาศัยอยู่กับบุพการีและบุตร

‘เดอะแบก’ ในไทย อาจออมได้น้อย จนต้องพึ่งเบี้ยยังชีพตอนเกษียณ

แม้สมาชิกส่วนใหญ่ในครัวเรือน Sandwich จะเป็นวัยทำงาน แต่จากข้อมูลในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มวัยทำงานอยู่แค่เพียง 53.8% ในขณะที่มีผู้สูงอายุและเด็กรวมกันคิดเป็น 46.1% 

โดยสัดส่วนดังกล่าวคงจะเปลี่ยนไปในไม่ช้า เนื่องจากมีประชากรวัยแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่สำคัญ 15.2% และ 24.5% ของเด็กหรือผู้สูงอายุทั้งหมดในครัวเรือน Sandwich ตามลำดับ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หากขาดคนช่วยเหลือ ดังนั้น ครัวเรือน Sandwich บางส่วนอาจถึงขนาดต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานเพื่อมาดูแลวัยอื่นๆ ในครอบครัว

นอกจากนี้ สมาชิกในครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ โดย 

  • 31.9% ของหัวหน้าครัวเรือนทำงานส่วนตัว
  • 15.9% ของหัวหน้าครัวเรือนเป็นพนักงานเอกชน
  • 11.7% ของหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้ช่วยธุรกิจครอบครัว
  • 41.8% ของสมาชิกทั้งหมดเป็นเกษตรกรหรือแรงงานทั่วไป เช่น คนทำความสะอาด

ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า กว่า 80% ของสมาชิกในครัวเรือน Sandwich จะขาดหลักประกันรายได้ที่มั่นคงยามเกษียณ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินเพื่อการออมน้อย ส่งผลให้ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียวในบั้นปลายชีวิต

รายจ่ายทะลุ 90% ของรายได้ เปราะบางทางการเงิน มีปัญหาสุขภาพจิต 

จากสถิติครัวเรือน Sandwich มักจะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยมีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคคิดเป็น 90.1% ของรายรับทั้งหมด

สาเหตุหนึ่งที่ครัวเรือนลักษณะนี้มีรายได้ไม่ค่อยสูงมากนัก มาจากการที่พวกเขาอาจมีวุฒิการศึกษาต่ำ โดย 57.7% ของสมาชิกในครัวเรือน Sandwich จบการศึกษาในระดับประถมหรือต่ำกว่านั้น และมีเพียง 12.7% ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดา Sandwich Generation จึงเกิดปัญหาความเปราะบางทางการเงิน จนก่อภาระหนี้สิน โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ต่อเดือนของคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 16.6% ถือว่าสูงกว่าครัวเรือนทั่วประเทศเกือบ 3 % เลยทีเดียว

ไม่เท่านั้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สหราชอาณาจักร “1 ใน 4 ของ Sandwich Generation ประสบปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และพอใจกับชีวิตตนเองน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว”

สำหรับประเทศไทย วัยแรงงานในครัวเรือน Sandwich ยังมีภาวะเครียดหรือนอนไม่หลับสูงกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งอาจมาจากการที่ต้องจัดสรรเวลาทำงานและดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมๆ กัน

‘กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล’ เจ้าของบทความ ‘Sandwich Generation กับปัญหาสุขภาพ’ ยังชี้อีกว่า “คนกลุ่มนี้ นอกจากจะมีปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคตับแข็ง ซึ่งเมื่อเทียบการเป็น NCDs (กลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง) แล้ว จะพบว่า 33.9% ของ Sandwich Generation เคยป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน”

ต้องฝึกทักษะทางการเงิน ส่งเสริมผู้สูงอายุมีงานทำ สร้างศูนย์ดูแลเด็ก

elder and child

จะเห็นได้ว่าภาระที่ Sandwich Generation ต้องแบกไว้นั้นค่อนข้างสาหัสกว่าคนกลุ่มอื่น และหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข มันอาจส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีแนวทางการลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือน Sandwich ดังนี้

1. การส่งเสริมทักษะทางการเงินก่อนวัยเกษียณ

คนในครัวเรือน Sandwich ควรมีความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการเงิน รวมถึงการป้องกันความเสี่ยง เช่น การออมเงินเพื่อยามเกษียณ ซึ่งอาจจูงใจให้เข้าร่วม ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรส่งเสริมทักษะ ‘การบริหารจัดการเมื่อมีหนี้สิน’ เพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้นหรือไม่มีภาระหนี้สินเลย อีกทั้งยังควรให้ความรู้เรื่อง ‘การซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิต’ สำหรับวางแผนการดูแลคนในครัวเรือน และลดความตึงเครียดในครอบครัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา

2. การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ

กลไกสำคัญของส่วนนี้คือ การส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะแรงงานผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการจับคู่งานเชิงรุก โดยภาครัฐอาจให้สิทธิประโยชน์แก่นายจ้างเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเข้าร่วมมาตราการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุนี้

3. การใช้บริการผู้ช่วยหรือเทคโนโลยีในการดูแลครัวเรือน

สำหรับครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาด้านการเงิน อาจลองใช้บริการผู้ช่วยดูแลในบางหน้าที่ เช่น พาผู้สูงวัยไปพบแพทย์ตามนัด พาออกไปเดินเล่นข้างนอก หรือ กำกับเรื่องอาหารและยา

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี อาทิ หุ่นยนต์อัตโนมัติ อุปกรณ์ Smart Home หรือกล้องอัจฉริยะ ก็อาจมาอำนวยความสะดวก แบ่งเบาความกังวล ลดภาระการดูแล และช่วยสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวกับการทำงานได้

4. การสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ

ประเทศไทยควรเน้นที่การปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กและศูนย์บริการผู้สูงอายุของภาครัฐ หรือสนับสนุนภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายรัฐบาล พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจนี้มากขึ้น

แหล่งอ้างอิง: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา