มหากาพย์ชิป ถูกกีดกัน โดนสั่งแบน คนที่แสนสาหัสที่สุดคือ Huawei

‘ไมโครชิป’ หรือ ‘ชิป’ คือหนึ่งในนวัตกรรมที่ประเทศมหาอำนาจกำลังแข่งกันพัฒนา เพราะนอกจากมันจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึง AI แล้ว มันยังเปรียบเหมือนมันสมองที่แสดงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของแต่ละประเทศอีกด้วย

Chip

แน่นอนว่า ‘จีน’ ในฐานะประเทศที่ต้องการเป็นผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ก็ต้องไม่พลาดที่จะลงสนามแข่งเพื่อพัฒนานวัตกรรมชิปที่ว่านี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ จีนดูเหมือนจะเจอปัญหาหนักจนเส้นทางการเป็นที่ 1 ตลาดโลก อาจไม่สวยงามดั่งที่วาดไว้

อเมริกาเอาจริง ขัดขวางการสร้างชิปของจีนในทุกทาง

K Research
ภาพจาก Shutterstock

คงไม่มีใครเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนได้หนักเท่า ‘สหรัฐอเมริกา’ แล้ว สองประเทศนี้แข่งกันเป็นผู้นำมาโดยตลอด และยิ่งจีนดูพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ สหรัฐฯ จะยิ่งกีดกันหนักขึ้นเท่านั้น

ตั้งแต่ต้น จีนต้องการผลิตไมโครชิปเพื่อเสริมกลยุทธ์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการนำมันมาเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการผลิตเครื่องมือการทหารต่างๆ 

หลายคนเชื่อว่าไมโครชิปจะเข้ามาชี้เป็นชี้ตายว่าจีนจะสามารถโค่นสหรัฐฯ ได้หรือไม่ และ จีนจะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการเมืองดั่งที่ตั้งไว้หลายทศวรรษหรือเปล่า

ที่สำคัญ ในตอนนี้ จีนแซงหน้าอเมริกาในด้านเทคโนโลยีไปหลายเรื่องแล้ว อัตราการเจริญเติบโตของจีนมันเร็วขนาดที่ว่าสหรัฐฯ คงไม่สามารถกีดกันด้วยลูกเล่นเดิมๆ ได้อีกต่อไป ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องคิดหาวิธีที่ดีกว่านี้เพื่อขัดขวางจีนไม่ให้แซงหน้าตนเองในการพัฒนาไมโครชิป

ด้วยเหตุเช่นนี้ ในปี 2022 ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ได้ออกมาตรการ ‘CHIPS Act’ เพื่อส่งเสริมประเทศตนเองในการผลิตไมโครชิป พร้อมลดปริมาณการนำเข้าอุปกรณ์และปกป้องกระบวนการผลิตจากคู่แข่ง

ยิ่งไปกว่านั้น สองเดือนหลังจากออกนโยบายนี้ ทางรัฐสภาก็ออกมาตรการจำกัดการส่งออกอีกมากมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและความมั่นคงของสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนเข้าถึงอุปกรณ์ล้ำสมัยต่างๆ ได้ยากขึ้น

เท่านี้ยังไม่พอ สหรัฐอเมริกาได้ร่างกฎหมาย ‘Chip 4 Allies’ ร่วมกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตไมโครชิปแถบเอเชียตะวันออก ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดมาก เพราะ 92% ของไมโครชิปขนาด 3-5 นาโนเมตรทั่วโลกนั้นมาจากไต้หวัน 

ฉะนั้น การรวมตัวในครั้งนี้จะทำให้เกิดความหลากหลายในเชิงอุปทาน เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต รวมถึงส่งเสริมโอกาสในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก และหากประเทศไหนต้องการลอกเลียนแบบ ขอบอกเลยว่า คงไม่ง่ายขนาดนั้น

‘Huawei’ รับกรรมหนัก ผลิตชิปล่าช้า กระทบ ‘Baidu’ และ ‘Alibaba’

Huawei Ban

มหากาพย์การแบนครั้งยิ่งใหญ่นี้ ส่งผลให้ ‘Huawei’ บริษัทชื่อดังด้านโทรคมนาคมของจีนผลิตไมโครชิปล่าช้ากว่าที่ควร

ในทีแรก Huawei ตั้งใจจะผลิตชิป AI รุ่น 910B เพื่อมาแข่งกับชิป AI จาก ‘Nvidia’ บริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความที่เครื่องมือเดิมของ Huawei นั้นมันค่อนข้างตกรุ่นไปแล้ว ไม่สามารถผลิตไมโครชิปที่ล้ำสมัยขนาดนี้ได้ Huawei จึงจำเป็นต้องหาอุปกรณ์จากที่อื่นมาช่วยแทน

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ ถูกสั่งห้ามไม่ให้ส่งอุปกรณ์ใดๆ ไปยังแหล่งการผลิตชิปของจีน เนื่องจากอเมริกาไม่ต้องการช่วยจีนพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางทหารใดๆ ทั้งสิ้น

มิหนำซ้ำ Huawei ยังติดแบล็คลิสต์การค้าของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2019 ด้วยสาเหตุการเป็นภัยความมั่นคงต่อชาติ และถ้าคุณคิดว่า Huawei ยังจนตรอกไม่พอ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอความร่วมมือแก่ประเทศพันธมิตร รวมถึง เกาหลีใต้ ไม่ให้ส่งอุปกรณ์การผลิตให้จีนอีกด้วย

โฆษกกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาแถลงว่า “Huawei เป็นภัยความมั่นคงของชาติมาโดยตลอด และเรายังคงติดตามทุกฝีก้าวเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดมาตรการใดๆ”

ดังนั้น ในเมื่อ Huawei ถูกบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วกีดกัน ทางบริษัทก็ทราบดีว่าคงจะไม่สามารถผลิตไมโครชิปเพิ่มได้ในเร็วๆ นี้ 

ปัญหาความล่าช้าของ Huawei ไม่ได้กระทบแค่องค์กรตนเองเท่านั้น แต่ยังกระทบบริษัทอื่นๆ ในประเทศอย่าง ‘Baidu’ และ ‘Alibaba’ เนื่องจากทั้งคู่ตัดสินใจใช้ชิปของ Huawei หลังจาก Nvidia ไม่สามารถส่งออกสินค้ามายังจีนได้

มันเป็นไปได้ยากที่จะผลิตชิปเองคนเดียว

China

แม้ประเทศต่างๆ จะพากันแบนจีนจากการผลิตไมโครชิปขนาดไหน จีนก็ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เดินหน้าตัวคนเดียว เพื่อหาทางพัฒนากระบวนการผลิตชิปที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยากที่สุดในโลก

จากกลยุทธ์ ‘Made in China’ รัฐบาลจีนวางแผนที่จะเพิ่มเปอร์เซนต์ความสามารถในการผลิตไมโครชิปเองจาก 10% สู่ 70% ภายในปี 2025 อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตชิปมันซับซ้อนกว่านั้น เพราะขนาดประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกายังต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ อย่าง เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ ไต้หวันในการผลิตชิปที่ตนออกแบบเลย

เมื่อความหวังในการผลิตไมโครชิปเองของจีนดูริบหรี่ลงเรื่อยๆ ทางรัฐบาลจึงปรับสัดส่วนในแผนจาก 70% ภายในปี 2025 เป็น 75% ภายในปี 2030

สุดท้าย อนาคตของจีนจะเป็นแบบไหน จะสามารถเป็นผู้นำตลาดโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เมื่อไหร่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป แต่สหรัฐอเมริกาคงไม่ยอมผ่อนมาตรการเร็วๆ นี้แน่

แหล่งอ้างอิง: Intelligencer / Statista / GIS Report / Quartz / TODAY

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา