‘ทุเรียน’ ผลไม้ยอดนิยมจนได้รับฉายาเป็น ‘ราชาผลไม้’ และถูกปากมหาชนจนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ประจำประเทศไทย แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทุเรียนเป็นที่นิยมขนาดไหนและพันธุ์อะไรครองใจผู้บริโภคมากที่สุด?
ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2567 บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ ก่อนจะพบว่าทุเรียน
- ถูกพูดถึง (Mention) 10,460 ครั้ง
- ได้รับการมีส่วนร่วม (Engagement) 3,556,174 ครั้ง
- โดยเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางที่ได้รับการ Mention และมี Engagement มากที่สุด
‘หมอนทอง’ นำโด่ง ครองใจคนทั้งประเทศ
เมื่อพูดถึงทุเรียนคุณนึกถึงพันธุ์อะไรบ้าง? บางคนอาจนึกถึงเนื้อเยอะๆ ของ ‘หมอนทอง’ พร้อมรสชาติหวานมันกลมกล่อมกำลังดี หรือบางคนอาจนึกถึง ‘ก้านยาว’ หวานมันเช่นกันแต่มีเม็ดขนาดใหญ่
แท้จริงแล้ว ทุเรียนยังมีสายพันธุ์อีกมากมาย อาทิ
- ‘ชะนี’ รสชาติหวานจัด กลิ่นแรง เนื้อสีเหลืองเข้ม และมีเม็ดขนาดเล็ก
- ‘กระดุม’ รสชาติหวานนำและเนื้อบาง
- ‘หลงลับแล’ มาพร้อมความหวาน นุ่ม ละมุนลิ้น
- ‘ภูเขาไฟศรีสะเกษ’ หวาน มัน กลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อสัมผัสกำลังดี
- ‘นกหยิบ’ รสชาติจะหวานมันปานกลาง คล้ายๆ หมอนทองแต่ลูกไม่ใหญ่มาก
แม้ทุเรียนจะมีหลากหลายสายพันธุ์ขนาดไหน เมื่อพิจารณาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ‘หมอนทอง’ ได้รับการกล่าวถึงสูงสูงประมาณ 56.73% รองลงมาคือ ชะนี (10.38%) ภูเขาไฟศรีสะเกษ (6.13%) ก้านยาว (5.98%) และกระดุม (5.88%)
ยิ่งไปกว่านั้น สายพันธุ์ที่มี Engagement สูงสุดก็ยังคงเป็น หมอนทอง เช่นเดิม โดยมียอดสูงถึง 64.53% ตามด้วย ก้านยาว (7.89%) นกหยิบ (6.24%) หลงลับแล (5.05%) และภูเขาไฟศรีสะเกษ (3.41%)
นอกจากรสชาติที่เป็นตัวชี้วัดความอร่อยแล้ว เนื้อสัมผัสของทุเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเนื้อที่นิ่มและกรอบนอกนุ่มใน จะได้รับความนิยมสูง ในขณะที่ ‘เนื้อไก่ฉีก’ หรือระยะแรกเริ่มของทุเรียน จะเหมาะกับผู้ที่ชอบทุเรียนเนื้อกรอบและรสชาติไม่หวานมากกว่า
‘จันทบุรี’ แหล่งเพาะปลูกยอดฮิตของสาวกทุเรียน
การจะมีทุเรียนที่ดีได้ พื้นที่เพาะปลูกก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกบริโภค เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้าน ทั้งสภาพดิน แหล่งน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น
ดังนั้น ทุเรียนแต่ละพื้นที่อาจมีรสชาติ เนื้อสัมผัส และ ความโดดเด่นที่ต่างกัน โดยบางสายพันธุ์จะเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในบางแหล่งเพาะปลูกเท่านั้น เช่น ‘ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ’ เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผลจากการปลูกในดินภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ
ในทางกลับกัน ‘หมอนทอง’ เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตง่ายและให้ผลผลิตดี จึงได้เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด และชุมพร
จากการฟังเสียงสังคมออนไลน์ พบว่า 5 แหล่งเพาะปลูกที่ได้รับการพูดถึงสูงสุดพร้อมสายพันธุ์ที่โดดเด่นมีดังนี้
- จันทบุรี (หมอนทอง): 21.54%
- ระยอง (หมอนทอง): 11.45%
- ศรีสะเกษ (ภูเขาไฟศรีสะเกษ): 9.19%
- ตราด (หมอนทอง): 7.62%
- ชุมพร (หมอนทอง): 4.48%
‘บุฟเฟต์ทุเรียน’ กลยุทธ์แบบใหม่ ถูกใจลูกค้าทุกกลุ่ม
ด้วยความนิยมอย่างล้นหลามของทุเรียน ธุรกิจต่างๆ จึงต้องคิดค้นหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลยุทธ์ชั่งน้ำหนักเนื้อทุเรียนล้วน หรือ กลยุทธ์รับประกันคุณภาพเนื้อทุเรียน
อ้างอิงข้อมูลจาก DXT360 หนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจคือ ‘บุฟเฟต์ทุเรียน’ ซึ่งได้รับ Engagement ทั้งหมด 52,153 ครั้ง และ พบการกล่าวถึงทั้งหมด 283 ครั้ง
โดยจุดเด่นของกลยุทธ์บุฟเฟต์ทุเรียนที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าที่อยากจะทานคนเดียวหรือมาหลายคน คือ
- ได้ลองทานสายพันธุ์และเนื้อทุเรียนทุกรูปแบบ
- ทานได้ไม่อั้น ตอบโจทย์ราคาทุเรียนแพง
- มีเมนูหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมอย่างข้าวเหนียวทุเรียน และร่วมสมัยอย่างบิงซูทุเรียน
- ตอบโจทย์มื้อหลักด้วยการนำเมนูทุเรียนมาเป็นอาหารหวานในไลน์บุฟเฟต์อาหารคาว
- มีผลไม้ตามฤดูกาลนอกจากทุเรียนเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้า
ที่สำคัญ ปัจจัยที่ทำให้แคมเปญนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีคือ ‘การประเมินความคุ้มค่าของลูกค้าจากราคาต่อหัว’ เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อนส่งผลให้ไม่สามารถรับประทานในปริมาณมากได้
จากผลไม้ธรรมดาสู่หลากหลายเมนูคาวหวาน
นอกจากกลยุทธ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว เรายังมีเมนูแปรรูปอย่าง ‘ทุเรียนทอด’ และ ‘ทุเรียนกวน’ ที่ถูกใจคนส่วนใหญ่ อีกทั้งบรรดาร้านอาหารชื่อดังอย่าง ‘MK’, ‘Swensens’ และ ‘DairyQueen’ ที่ได้นำทุเรียนมาต่อยอดเป็นเมนูใหม่ๆ เสมอ
เมนูยอดฮิตในหมวดของหวานจากทุเรียนคือ ข้าวเหนียวทุเรียน ไอติมทุเรียน และ เค้กทุเรียน ในขณะที่หมวดของคาวจะเป็น ส้มตำทุเรียน และ แกงส้มทุเรียน
สุดท้ายนี้ แม้ทุเรียนจะอร่อยและมีสรรพคุณทางยาที่สร้างประโยชน์ต่อร่างกาย แต่เราทุกคนก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะต้องอย่าลืมด้วยว่ามันคือผลไม้ที่ให้พลังงานและน้ำตาลสูง หากทานมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
แหล่งอ้างอิง: dataxet
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา